posttoday

เปิด350เขตเลือกตั้ง "อีสาน-เหนือ-กทม."เก้าอี้ลด

19 กันยายน 2561

ชำแหละประกาศกกต.เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง "ภาคเหนือ-อีสาน-กทม."เก้าอี้สส. ลดลง แนวโน้มแข่งขันดุเดือด

ชำแหละประกาศกกต.เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง "ภาคเหนือ-อีสาน-กทม."เก้าอี้สส. ลดลง แนวโน้มแข่งขันดุเดือด

*********************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับเขตเลือกตั้งสส.จำนวน 350 เขตจากทั้งหมด 77 จังหวัด ตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่อง จำนวนสสส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีและจำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด

เมื่อพิจารณาเป็นภาพรวมของแต่ละภูมิภาคโดยอาศัยการแบ่งภูมิภาคตามหลักของคณะกรรมการภูมิศาสตร์แห่งชาติ จะสามารถแบ่งออกมาเป็นจำนวน 6 ภูมิภาค ซึ่งพบว่าในบางภูมิภาคมีจำนวนสส.ลดลง จากเดิมที่รัฐธรรมนูญพ.ศ.2550กำหนดให้มีสส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 375 คน ดังนี้

1.ภาคเหนือ 9 จังหวัด มีสส.ทั้งหมด 33คน จากเดิมที่การเลือกตั้งสส.ครั้งล่าสุดในปี 2557 (เป็นการเลือกตั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ) มีสส. 36 คน

จังหวัดที่มีสส.ลดลง ได้แก่ เชียงใหม่ 9 คน จากเดิม 10 คน แพร่ 2 คน จากเดิม 3 คน อุตรดิตถ์ 2 คน จากเดิม 2 คน

ส่วนจังหวัดที่เหลือต่างมีจำนวนสส.เท่าเดิม ไม่ว่าจะเป็น เชียงราย 7 คน น่าน 3 คน พะเยา 3 คน แม่ฮ่องสอน 1 คน ลำปาง 4คน และ ลำพูน 2 คน

2.ภาคใต้ 14 จังหวัด มีสส.ทั้งหมด 50คน จากเดิมมีสส.ได้ 53 คน

จังหวัดที่มีสส.ลดลง คือ กระบี่ 2 คน จากเดิม 3 คน นครศรีธรรมราช 8 คนจากเดิม 9 คน ตรัง 3 คน จากเดิม 4 คน

ขณะที่อีก 11 จังหวัดที่เหลือมีสส.เท่าเดิม ได้แก่ ชุมพร 3 คน พังงา 1 คน พัทลุง 3 คน ภูเก็ต 2 คน ระนอง 1 คน สุราษฎร์ธานี 6 คน นราธิวาส 4 คน ปัตตานี 4คน สงขลา 8 คน สตูล 2คน ยะลา 3 คน

3.ภาคกลาง 22 จังหวัด (รวมกทม.) มีสส.ทั้งหมด 106 คน จากเดิม115 คน

จังหวัดที่มีการเปลี่ยนจำนวนสส. ได้แก่ กทม. 30 คน จากเดิม 33 คน เพชรบูรณ์ 5 คน จากเดิม 6 คน สระบุรี 3 คน จากเดิม 4 คน อยุธยา 4คน จากเดิม 5 คน สุพรรณบุรี 4 คน จากเดิม 5 คน อ่างทอง 1 คน จากเดิม 2 คน นนทบุรี 6คน จากเดิม 7 คน

ส่วนจังหวัดอื่นๆที่เหลือในภาคกลางพบว่ามีสส.จำนวนเท่าเดิม พิษณุโลก 5 คน สุโขทัย 3คน พิจิตร 3คน กำแพงเพชร 4 คน นครสวรรค์ 6 คน ลพบุรี 4คน ชัยนาท 2 คน อุทัยธานี 2คน สิงห์บุรี 1 คน นครนายก 1คน ปทุมธานี 6 คน นครปฐม 5คน สมุทรปราการ 7คน สมุทรสาคร 3 คน และ สมุทรสงคราม 1 คน

4.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) 20จังหวัด มีสส.ทั้งหมด 116 คน จากเดิม 126 คน

กลุ่มจังหวัดในอีสานที่มีสส.ลดลง ประกอบด้วย กาฬสินธุ์ 5คน จากเดิม 6 คน ชัยภูมิ 6 คน จากเดิม 7 คน นครราชสีมา 14 คน จากเดิม 15 คน บุรีรัมย์ 8 คน จากเดิม 9 คน ร้อยเอ็ด 7 คน จากเดิม 8 คน เลย 3 คน จากเดิม 4 คน สกลนคร 6คน จากเดิม 7 คน สุรินทร์ 7 คน จากเดิม 8 คน อุดรธานี 8 คน จากเดิม 9 คน และ อุบลราชธานี 10 คน จากเดิม 11 คน

กลุ่มจังหวัดที่สส.เท่าเดิม ได้แก่ ขอนแก่น 6คน นครพนม 4คน มหาสารคาม 5คน มุกดาหาร 2 คน ยโสธร 3คน ศรีสะเกษ 8คน หนองคาย 3คน หนองบัวลำภู 3คน อำนาจเจริญ 2คน บึงกาฬ 2 คน

5.ภาคตะวันออก 7 จังหวัด มีสส.ทั้งหมด 26 คน

ทั้งนี้ เป็นภูมิภาคที่จำนวนสส.ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง โดยแต่ละจังหวัดมีจำนวนสส.ดังนี้ จันทบุรี 3 คน ฉะเชิงเทรา 4 คน ชลบุรี 8 คน ตราด 1 คน ปราจีนบุรี 3 คน ระยอง 4 คน และ สระแก้ว 3 คน

6.ภาคตะวันตก 5 จังหวัด มีสส.ทั้งหมด 19 คน

เป็นอีกภูมิภาคหนึ่งที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนสส.ไปจากเดิม ประกอบด้วย กาญจนบุรี 5คน ตาก 3 คน ราชบุรี 5คน เพชรบุรี 3 คน และ ประจวบคีรีขันธ์ 3 คน

ดังนั้น จะเห็นได้ว่ามี 4ภูมิภาคที่มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนเก้าอี้สส. ได้แก่ ภาคเหนือ ลดลง 3 คน ภาคอีสาน ลดลง 10 คน ภาคกลาง ลดลง 9 คน ภาคใต้ ลดลง3 คน ตัวเลขที่ออกมาย่อมมีผลต่อการจัดตัวผู้สมัครสส.ของแต่ละพรรคการเมืองอย่างแน่นอน

โดยบางคนที่มีพื้นที่ทับซ้อนกันจากเขตเลือกตั้งที่เปลี่ยนแปลงไปจนมีผลให้จำนวนเก้าอี้ลดลง อาจต้องไปอยู่ในบัญชีของสส.ระบบบัญชีรายชื่อแทน ซึ่งการขึ้นไปอยู่ในแบบผู้สมัครสส.บัญชีรายชื่อนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีโอกาสเป็นสส.ได้ง่าย เพราะต้องไม่ลืมว่าระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 ได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง

ที่สุดแล้วไม่เพียงแต่การแข่งกันในพื้นที่ระหว่างพรรคการเมืองจะดุเดือดแล้ว การห่ำหั่นกันภายในพรรคก็น่าจับตาไม่แพ้กัน