posttoday

“รพ.เสี่ยง” คลอดแผนรับน้ำท่วม

22 ตุลาคม 2553

ประธานคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอุทกภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข กำชับให้ทุกโรงพยาบาลในพื้นที่เสี่ยง จัดทำแผนรับมือสถานการณ์น้ำท่วม

ประธานคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอุทกภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข กำชับให้ทุกโรงพยาบาลในพื้นที่เสี่ยง จัดทำแผนรับมือสถานการณ์น้ำท่วม

โดย..ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

“รพ.เสี่ยง” คลอดแผนรับน้ำท่วม

"สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องไม่ให้ศูนย์กลางของการรักษาคือโรงพยาบาลต่างๆ ประสบเหตุน้ำท่วมไปก่อน มิเช่นนั้นจะยิ่งลำบาก” เป็นแนวนโยบายที่ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ไว้ในที่ประชุมคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอุทกภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข (วอร์รูม) กระทรวงสาธารณสุข

ในฐานะประธานวอร์รูม นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้กำชับให้ทุกโรงพยาบาลที่อยู่ในเขตพื้นที่เสี่ยงต่ออุทกภัยเร่งทำแผนเตรียมเพื่อรับสถานการณ์อย่างทันท่วงที โดยจะต้องส่งแผนยังวอร์รูมพร้อมเร่งดำเนินการโดยทันที ที่สำคัญจะต้องมีความครอบลุมใน 4 ด้าน ได้แก่

1.ต้องมีแผนสำรองทรัพยากรที่จำเป็นต้องใช้หากเกิดเหตุฉุกเฉิน อาทิ ออกซิเจน และอาหาร 2.ต้องมีแนวป้องกันสถานที่สำคัญ เช่น คลังเวชกรรม เครื่องปั่นไฟ เครื่องมือและเทคโนโลยีราคาแพง 3.ต้องเตรียมแผนการเคลื่อนย้าย และส่งต่อผู้ป่วย 4.บริหารจัดการระบบให้บริการของโรงพยาบาลที่ประสบเหตุ เช่น หาสถานที่สำรองหากอาคารถูกน้ำท่วม

สำหรับเจ้าภาพในการขับเคลื่อนนโยบายนี้คือ กรมการสนับสนุนบริการสุขภาพ

“โรงพยาบาลที่ทำแผนรับมือนั้น ส่วนใหญ่เคยประสบกับเหตุการณ์น้ำท่วมมาแล้วทั้งสิ้น เพียงแต่ขณะนี้น้ำยังเข้าไปไม่ถึง”นพ.สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ อธิบดีกรมการสนับสนุนบริการสุขภาพ อธิบายเพิ่มเติม

ทว่า ล่าสุดมี โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จังหวัดสุพรรณบุรี ได้รายงานแผนการจัดการมายังวอร์รูมแล้ว โดยรายงานระบุว่า โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำท่าจีน ซึ่งขณะนี้มีปริมาณน้ำในแม่น้ำท่าจีนอยู่ต่ำกว่าระดับพื้นของโรงพยาบาลประมาณ 8 เซนติเมตร โรงพยาบาลจึงวางมาตรการป้องกันอุทกภัยดังนี้

1.จัดวางกระสอบทรายบริเวณรอบโรงพยาบาล และบ่อน้ำทิ้งสูงประมาณ 50 เซนติเมตร และเพิ่มระดับความสูงของกระสอบทรายไปตามระดับน้ำ 2.ก่อสร้างกำแพงคอนกรีตป้องกันอุปกรณ์ที่สำคัญ อาทิ เครื่องสูบน้ำทุกจุด รวมถึงเครื่องมือและอุปกรณ์สำคัญ 3.จัดวางเครื่องสูบน้ำโดยรอบโรงพยาบาลพร้อมเครื่องอะไหล่ 4.จัดเตรียมขนย้ายเวชภัณฑ์และเวชระเบียนหากเกิดภาวะฉุกเฉิน 5.จัดความพร้อมอุปกรณ์ เครื่องมือ วัสดุสำหรับใช้ป้องกันอุทกภัย

“รพ.เสี่ยง” คลอดแผนรับน้ำท่วม

“นอกจากโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช ยังมีอีกหลายโรงพยาบาลที่ส่งแผนมาที่เราแล้ว”พญ.ประนอม คำเที่ยง รองอธิบดีกรมการสนับสนุนบริการสุขภาพ ในฐานะผู้ดูแลเรื่องแผนรับมือน้ำท่วมของโรงพยาบาลในพื้นที่เสี่ยงระบุ

 นพ.พรเพชร ปัญจปิยะกุล หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยและพัฒนาด้านสุขภาพ สำนักบริหารการสาธารณสุข ในฐานะผู้สั่งการของวอร์รูมกระทรวงสาธารณสุขประจำวันที่ 22 ต.ค. ประเมินพื้นที่ที่คาดว่าโรงพยาบาลจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมว่า มีประมาณ 6 ลุ่มน้ำ

 แบ่งเป็น ลุ่มน้ำชี จังหวัดเพชรบูรณ์ ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี ลุ่มน้ำมูล จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี  ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ กรุงเทพ ลุ่มน้ำป่าสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ลพบุรี สระบุรี  ลุ่มน้ำแม่กลอง จังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสาคร อ่างทอง อยุธยา นนทบุรี ลุ่มน้ำท่าจีน จังหวัดชัยนาท สุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสาคร (จังหวัดที่ซ้ำกันคือพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างลุ่มน้ำ)

“คืนนี้วอร์รูมจะเฝ้าระวังและให้บริการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยตลอด 24 ชั่วโมง”นพ.พรเพชรยืนยัน