posttoday

ร่างกฎคุมนศ.ลิดรอนสิทธิ มาตรการล้าหลัง ไร้ผลสำเร็จ

28 สิงหาคม 2561

กลุ่มนิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ สนท. ออกมาคัดค้าน ร่างกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา หวั่น กระทบต่อสิทธิเสรีภาพ

โดย...เอกชัย จั่นทอง 

ร่างกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา ฉบับที่... พ.ศ. ... ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาจนได้รับการอนุมัติ เกิดแรงสะท้อนต่อความกังวลแก่กลุ่มนักศึกษาที่มองว่า อาจไปกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ เอนทางลิดรอนสิทธิหรือไม่ จนมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มนิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ สนท. ที่ออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วย

มุมมองของนักวิชาการชื่อดังอย่าง อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ทัศนะน่าสนใจว่า รัฐบาลไม่ควรไปกำหนดเป็นรายละเอียดขนาดนั้น เพราะเป็นเรื่องสิทธิเด็กและเยาวชน มันคือสิทธิเสรีภาพในการแต่งตัว การแสดงออกทางสาธารณะ หากต้องการมีมาตรการบังคับใช้ ควรเป็นมาตรการระดับโรงเรียนและระดับโรงเรียนที่แตกต่างกัน ที่สำคัญต้องมีมาตรการอย่างเหมาะสม

“หากประกาศออกมาเป็นมาตรการนั่นคือเข้าไปแทรกแซงชีวิตเด็ก เข้าใจว่าผู้ใหญ่มีมาตรการความหวังดี แต่ส่วนตัวมองว่ามันล้ำเส้น ถ้าวันดีคืนดีออกคำสั่งให้ประชาชนแต่งตัวอย่างนั้นอย่างนี้ก็ดูไม่เหมาะสม แต่พวกคุณมองว่าพวกเขาเป็นเด็กสามารถทำอะไรก็ได้ ทั้งที่จริงไม่ใช่เด็กเพราะมีความเป็นพลเมืองที่กลุ่มนี้ต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่เช่นกัน”

ในความจริงปัจจุบันมีกลไกช่องทางต่างๆ ของโรงเรียนที่จะส่งเสริมอบรมให้เกิดความประพฤติปฏิบัติที่เหมาะสมหลายอย่าง ซึ่งต้องเริ่มปลูกฝังจากโรงเรียน ขนานไปกับแนวคิดการปกป้องจากสังคม เนื่องจากเด็กเยาวชนยุคใหม่นั้น “หมดยุคของการควบคุมไปนานแล้ว” แต่มันคือเรื่องของการสร้างศักยภาพมากกว่า วัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กและเยาวชนรู้ว่าเขาควรปฏิบัติตนอย่างไรในที่สาธารณะ ให้รู้เข้าใจต่อการจัดการชีวิตตัวเองเติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างมีคุณภาพ

อรรถพล วิพากษ์อีกว่า ดังนั้นเราต้องส่งเสริมเรื่องเหล่านี้ตั้งแต่ในโรงเรียนและสถานศึกษาควรคำนึงถึงประเด็นคุณภาพ รวมถึงการเสริมพลังความความเข้มแข็งในตัวเด็กให้มีวุฒิภาวะ น่าจะเป็นโจทย์ใหญ่กว่าการบังคับใช้กฎระเบียบ สิ่งที่รัฐออกคือมาตรการเชิงนโยบาย เป็นการใช้อำนาจที่เลยเถิด แม้แฝงไปด้วยความหวังดีต้องการปกป้องคุ้มครองเด็กให้อยู่ในกรอบ ควบคุมพฤติกรรมให้คงเส้นคงวาลดปัญหา แม้ในความจริงทุกวันนี้กระบวนทัศน์การคุ้มครองเด็กเยาวชนยังคงแบบเก่าอยู่

“มองเป็นการบีบบังคับตีกรอบการเรียน จากการตีเส้นจากมาตรการดังกล่าว เด็กขาดความอิสระ ในความจริงรัฐบาลมีหน้าที่สร้างสิ่งแวดล้อมสังคมให้ปลอดภัย เตรียมพร้อมเด็กก่อนออกไปสู่โลกชีวิตจริง โดยรู้จักตัวเองและให้เกียรติให้ความเคารพต่อผู้อื่นเป็น ตรงนี้เป็นหน้าที่รัฐบาลที่จะต้องสร้างสังคมปลอดภัยให้เด็กเยาวชน” อรรถพล ยังมองว่า ใช่ว่ารัฐจะคิดแต่ว่าให้เด็กเอาตัวเองออกจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ตราบใดพื้นที่เสี่ยงในสังคมยังมีอยู่ แม้จะพยายามสร้างโลกให้สวยงามแค่ไหน แต่โลกนอกโรงเรียนยังมีปัญหาอยู่คุณจะพยายามบังคับให้เด็กกลับบ้านเร็วสารพัดเหตุผลต่างๆ ทั้งที่เราไม่ได้กลับไปแก้ไขต้นตอต้นเหตุของปัญหาเลย เนื่องจากสังคมรอบตัวเด็กมีความเสี่ยง ถ้าต้องการสังคมและเด็กปลอดภัยต้องทำพร้อมกัน ทั้งเรื่องเสริมสร้างสุขภาพเด็ก วุฒิภาวะเด็ก และการสร้างสังคมรอบตัวให้ปลอดภัย ไม่ใช่การออกแต่กฎหมายให้เด็กอยู่กับบ้าน โรงเรียน กลับบ้านเร็ว แต่งตัวเรียบร้อย ซึ่งทั้งหมดไม่ใช่การแก้ไขปัญหา

ที่สำคัญหมดยุคที่รัฐจะเข้ามาควบคุมแบบนี้ไปนานแล้ว กลับกันถ้าเปลี่ยนจากเด็กมาควบคุมผู้ใหญ่จะรู้สึกเป็นอย่างไร โดยอ้างเหตุผลว่า “เขาเป็นเด็ก” แบบนี้เมื่อเด็กเติบโตขึ้นมาอยู่ในอาณัติผู้ใหญ่ แล้วเด็กจะเกิดการคิดไม่เป็น ไม่แปลกหากจะเรียกว่าการ “เคอร์ฟิวเด็ก”

ในเมื่อทำให้เด็กอยู่ในโลกความจริงไม่ได้ ตัวเด็กเองจึงต้องหันไปอยู่ในโลกเสมือนแทน แล้วรัฐก็ต้องมานั่งวิ่งไล่จับกันในโลกไซเบอร์ต่ออีก หลายประเทศประสบปัญหาจากมาตรการลักษณะนี้มาเยอะ สิ่งที่รัฐออกมาไม่ใช่การแก้ไขปัญหา แต่แค่แสดงแอ็กชั่น ไม่ได้มองการแก้ปัญหาทางพฤติกรรมเด็กเลย เทียบเคียงกับนานาประเทศตอนนี้ไม่มีประเทศใดใช้มาตรการนี้แล้วเกิดการควบคุมได้จริง แม้อาจเกิดจริงบ้างแต่ก็ไม่เกิดการป้องกันแก้ไขปัญหา โลกยุคใหม่ไม่ใช้แนวทางนี้แก้ปัญหา

เช่นเดียวกับ อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) สังเคราะห์ประเด็นนี้ว่า ร่างกฎหมายฯ ที่ออกมายังมีความคลุมเครือไม่ชัดเจนในบริบทของคำที่ใช้ จึงเกิดการเข้าใจสื่อสารไม่ตรงกัน เช่น การรวมกลุ่ม การเสื่อมเสียศีลธรรม เป็นต้น ทางฝ่ายรัฐหรือผู้ร่างมองว่าเพื่อป้องกันไม่ให้นักเรียนตีกัน ส่วนฝ่ายเด็กมองว่าส่วนนี้จะไปครอบคลุมถึงเรื่องการชุมนุม การแสดงออกทางความคิดเห็นต่อที่สาธารณะไม่ได้อีก ตรงนี้เป็นเรื่องของดุลพินิจใคร ส่วนประเด็นการเสื่อมเสียศีลธรรมอันนี้งาม ก็ไม่มีการนิยามอย่างชัดเจน

เมื่อเกิดการตีกรอบแล้วใครจะเป็นผู้ตีความหมายเหล่านี้ว่า เช่น เด็กหญิงชายจับมือกันเสื่อมเสียศีลธรรมหรือไม่ ซึ่งสื่อไปถึงความไม่ชัดเจนเรื่องการใช้คำ ทำให้เกิดความคิดไปคนละทาง ขณะที่ประเด็นเรื่องป้องกันเด็กตีกัน มันคือเรื่องความผิดทางอาญา ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ระเบียบร่างกฎหมายฯ ที่ออกมา เมื่อทะเลาะวิวาทรุนแรงทุกคนทราบดีว่าเป็นการทำผิดกฎหมายอาญา สามารถใช้กฎหมายจัดการได้ทันที

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นข้อกังวลที่นักเรียนนักศึกษาห่วงว่าจะไปลิดรอนสิทธิในการแสดงความเห็นในที่สาธารณะ ตรงส่วนตัวมองว่า ยังไงก็สามารถทำได้เนื่องจากในรัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานไว้อย่างชัดเจน ดังนั้นถ้าหากจะออกระเบียบดังกล่าวจะต้องไม่ไปขัดกับรัฐธรรมนูญในเรื่องของสิทธิและเสรีภาพเด็ดขาด