posttoday

เรือนจำชั่วคราวเขาระกำ แปลง"1 ไร่ มีกิน ไม่จน"

19 สิงหาคม 2561

เรือนจำชั่วคราวเขาระกำส่งเสริมให้ผู้ต้องขังน้อมนำศาสตร์พระราชามาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต ก่อนกลับไปสู่การใช้ชีวิตตามปกติในสังคม

เรือนจำชั่วคราวเขาระกำส่งเสริมให้ผู้ต้องขังน้อมนำศาสตร์พระราชามาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต ก่อนกลับไปสู่การใช้ชีวิตตามปกติในสังคม

*****************************

โดย...เอกชัย จั่นทอง

เรือนจำชั่วคราวเขาระกำ อ.เขาสมิง จ.ตราด หนึ่งในเรือนจำที่มีการส่งเสริมให้ผู้ต้องขังน้อมนำศาสตร์พระราชา ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ในโครงการ “กำลังใจ” ในพระดำริของพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา มาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต ได้รู้จักการปรับตัวปรับเปลี่ยนความคิด ก่อนปล่อยตัวสู่การใช้ชีวิตตามปกติในสังคม ถือเป็นเป้าหมายหลักที่กรมราชทัณฑ์ ต้องการเห็นนักโทษกลับตัวกลับใจเป็นคนดี

อเนก ทองลอย ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดตราด เปิดเผยว่า ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเรือนจำชั่วคราวเขาระกำ จ.ตราด ในโครงการ “กำลังใจ” ในพระดำริของพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่พระองค์ท่านส่งเสริมผู้ต้องขังเรือนจำชั่วคราวเขาระกำ ให้รู้จักเรียนรู้พึ่งพาตัวเอง ด้วยวิธีการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต

ในส่วนของโครงการกำลังใจ มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 10 แปลง ให้ผู้ต้องขังได้ทดลองจริง แบ่งการทำแปลงละ 3-5 คน โดยได้ฝึกอาชีพทำกินได้ไม่เกิน 1 ไร่ ตามโครงการ “แปลงสาธิต 1 ไร่ ทำจริง มีกิน ไม่จน” ให้ผู้ต้องขังได้ทดลองเรียนใช้ชีวิตบริหารจัดการพื้นที่อย่างเหมาะสม ตามหลักศาสตร์ของพระราชา จำนวนพื้นที่ 1 ไร่นั้น ประกอบด้วยบ้านพักจำลอง แปลงผักสวนครัว บ่อเลี้ยงปลาเลี้ยงกบ ฯลฯ ผู้ต้องขังต้องบริหารจัดการเรียนรู้การใช้ชีวิตและการใช้ประโยชน์ในพื้นที่จำนวน 1 ไร่ ให้สามารถมีอาหารมีรายได้จากการปฏิบัติจริง

“ผลผลิตจากแปลงสาธิต หากเพียงพอกับการบริโภคภายในเรือนจำแล้ว ทางเรือนจำจะส่งไปจำหน่ายตามตลาด เป็นการเสริมสร้างรายได้ให้กับผู้ต้องขังและเรือนจำในการนำไปปรับปรุงในส่วนที่ขาดเหลืออย่างเหมาะสม ผลผลิตส่วนใหญ่ที่นำไปขาย เช่น ผัก ปุ๋ย ปลา สุกร ไข่ เห็ด ฯลฯ” ผู้บัญชาการเรือนจำชั่วคราวฯ

อเนก เสริมขึ้นอีกว่า เท่านั้นยังไม่หมด ในเรือนจำแห่งนี้ยังมีการอบรมทักษะชีวิตหลากหลายด้าน ทั้งการอบรมการทำบัญชีในครัวเรือน การปรับวิธีใช้ชีวิต ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ กระบวนการพึ่งพาตัวเอง เพื่อให้มีชีวิตอยู่อย่างพอเพียงเหมาะสม ทั้งนี้พื้นที่ในเรือนจำชั่วคราวเขาระกำมีทั้งหมด 1,100 ไร่ มีผู้ต้องขังประมาณ 159 คน มีเจ้าหน้าที่ดูแลประมาณ 12 คน และกว่า 70% ผู้ต้องขังต้องโทษคดียาเสพติด

ผู้บัญชาการเรือนจำชั่วคราวเขาระกำ เผยด้วยว่า ในเรือนจำแห่งนี้เป็นที่ราบสูงและไม่มีน้ำเพียงพอที่จะมาใช้ในทางเกษตร ทางเรือนจำชั่วคราวเขาระกำ จึงได้น้อมนำศาสตร์พระราชามาปรับใช้ให้เกิดความเหมาะสม ใช้พลังงานแสงอาทิตย์จากแผงโซลาร์เซลล์ผ่านเครื่องดูดน้ำจากอ่างเก็บน้ำใกล้เคียงขึ้นมาใช้มากักเก็บไว้ยังที่สูงให้ได้มากที่สุด ก่อนจะทยอยปล่อยน้ำให้ผ่านฝายที่สร้างไว้ยาวประมาณ 1,300 เมตร เพื่อใช้ในการเกษตรและหล่อเลี้ยงทุกชีวิตในเรือนจำชั่วคราวฯ

ที่สำคัญ ไม่ใช่ว่านักโทษทุกคนจะเข้ามาอยู่ในเรือนจำชั่วคราวฯ แห่งนี้ได้ เพราะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ ต้องเป็นนักโทษชั้นดีขึ้นไป กระทำความผิดครั้งแรก ต้องโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของกำหนดโทษครั้งสุดท้าย เหลือโทษจำไม่เกิน 5 ปี ทั้งนี้ผู้ต้องขังคดี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ จะต้องอยู่ในหลักเกณฑ์พักการลงโทษในเรื่องของปริมาณยาเสพติด และไม่เป็นผู้กระทำความผิดรายสำคัญ ขณะเดียวกันต้องไม่ป่วยด้วยโรคประจำตัว หรือพิการ ที่สำคัญต้องผ่านการจำแนกลักษณะผู้ต้องขัง และการติดตามผลแล้วว่ามีความประพฤติดี ไม่เคยทำความผิดวินัยในเรือนจำ

เรือนจำชั่วคราวเขาระกำ แปลง"1 ไร่ มีกิน ไม่จน"

นช.ประวัฒน์ (สงวนนามสกุล) อายุ 49 ปี ผู้ต้องขังความผิดต่อร่างกาย โทษจำคุก 15 ปี เผยความรู้สึกว่า ขณะนี้เหลืออีกเพียง 7 เดือน จะได้รับการปล่อยตัว หลังเข้ามาอยู่ในเรือนจำชั่วคราวเขาระกำได้ประมาณ 2 ปี ยอมรับว่าได้ความรู้สารพัดจากพื้นที่ตรงนี้ ทั้งวิธีการเลี้ยงกบ ปลูกผักแบบเกษตรอินทรีย์ เลยตั้งเป้าหมายไว้ว่าหลังพ้นโทษจะนำความรู้ที่ได้รับจากในเรือนจำไปใช้ประกอบอาชีพ เนื่องจากการทำเกษตรตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงทำให้เราเห็นเลยว่ามี “ต้นทุนต่ำมาก” ไม่ต้องลงทุนมาก

“ทำแบบนี้ก็อยู่รอดได้แล้ว เลี้ยงครอบครัวได้ เป็นการเกษตรครบวงจร หากผลผลิตเหลือกินเหลือใช้สามารถนำไปจำหน่ายแลกเป็นเงินทองสร้างรายได้ให้ครอบครัวอิ่มท้องและมีเงินสำหรับใช้จ่ายในครัวเรือน ตามวิธีการทำบัญชีที่ได้รับการสอนจากเจ้าหน้าที่ในเรือนจำ” นช.ประวัฒน์ ระบุ

นช.ประวัฒน์ ยอมรับว่า ที่ต้องมาอยู่ในเรือนจำก็เพราะความ “ใจร้อน” ไม่มีความเมตตา ขาดการหยั่งคิด สิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองจึงถือเป็นความผิดพลาดในชีวิตที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ที่สำคัญเราต้องสูญเสียครอบครัวและหลายสิ่งหลายอย่างไปแต่ก็ไม่ท้อ กลับกันตอนนี้เราได้ความรู้ ได้วิชาทักษะชีวิต ติดตัวมาหลายอย่าง หลังพ้นโทษไปจะนำความรู้นี้ไปเลี้ยงชีวิต

นช.มานะ (สงวนนามสกุล) อายุ 36 ปี ผู้ต้องขังคดีรับของโจร โทษจำคุก 3 ปี สะท้อนความรู้สึกว่า เรือนจำชั่วคราวนี้แตกต่างจากเรือนจำที่มีรั้วรอบขอบชิดกำแพงสูง ที่เรือนจำชั่วคราวเขาระกำ มีกิจกรรมให้ มีงานให้ทำตลอด และได้อยู่กับธรรมชาติ ได้ทำสิ่งที่ตัวเองถนัด บรรยากาศไม่เครียด ตอนนี้ได้ความรู้เคล็ดลับจากการทำเกษตรแบบผสมผสานบนพื้นที่ 1 ไร่

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมีที่ดินอยู่แล้วหลังพ้นโทษไปคงไปพัฒนาที่ดินของตัวเองให้เหมือนตอนนี้ ปัจจุบันต้องโทษมาแล้ว 2 ปี 2 เดือน เหลืออีก 10 เดือนเท่านั้น จะได้รับการปล่อยตัว ต้องย้ำเลยว่า สิ่งที่เห็นคือการใช้รูปแบบเกษตรอินทรีย์ไม่มีสารเคมีเข้ามาเกี่ยวข้องเลย ทำให้พืชผักเติบโตสมบูรณ์ น่ากินและนำไปขายได้