posttoday

"สังคมก้มหน้า" สร้างร้อยร้าว ทำลายสัมพันธ์ในครอบครัว

15 สิงหาคม 2561

ผู้คนในปัจจุบันเผชิญสภาวะอยู่ด้วยกันแต่ต่างคนต่างอยู่ หรือ Living together but apart มากขึ้น และสังคมก้มหน้าทำให้ปัญหานี้ขยายวงกว้างอาจยากต่อการแก้ไข

ผู้คนในปัจจุบันเผชิญสภาวะอยู่ด้วยกันแต่ต่างคนต่างอยู่ หรือ Living together but apart มากขึ้น และสังคมก้มหน้าทำให้ปัญหานี้ขยายวงกว้างอาจยากต่อการแก้ไข

*******************************

โดย...เอกชัย จั่นทอง

องค์กรทำงานด้านเด็กประกอบด้วย มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก มูลนิธิเด็ก มูลนิธิผู้หญิง ร่วมกับ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็ก จัดเสวนา “พิทักษ์เด็ก พิทักษ์อนาคตชาติ ด้วยสังคมก้มหน้าได้จริงหรือ” ถือเป็นประเด็นปัญหาของชาติในขณะนี้ หลายฝ่ายกังวลว่าการละเลยปัญหาเด็ก อาจกลายเป็นระเบิดเวลาที่จะนำหายนะมาสู่ชาติได้

ผศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ สถาบันวิจัยประขากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มฉายภาพว่า ปัจจุบันพบว่าพ่อแม่ลูกหลายครอบครัวต่างคนต่างอยู่กันคนละบ้าน ด้วยปัจจัยสถานที่ทำงาน สภาวะเศรษฐกิจจนลามไปถึงผลกระทบต่อการมีทายาทกระทบไปถึงอัตราเกิด

เป็นการพลัดพรากจากครอบครัวในรูปแบบใหม่ ในลักษณะครอบครัวพ่อเลี้ยงเดี่ยว แม่เลี้ยวเดี่ยวมากขึ้น ขณะที่บุตรอยู่อาศัยแบบครอบครัวพ่อแม่และลูกในปัจจุบัน พบสถิติน่าสนใจมีเพียง 57.6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวแตกแยก ขาดความอบอุ่น

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2560 พบว่าประชากรอายุ 6 ปีขึ้นปี ใช้มือถือ 88.2 เปอร์เซ็นต์ คอมพิวเตอร์ 52.9 เปอร์เซ็นต์ และอินเทอร์เน็ต 30.3 เปอร์เซ็นต์ นั่นส่งผลทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวลดลง สภาวะอยู่ด้วยกันแต่ต่างคนต่างอยู่ “Living together but apart” เพราะสังคมก้มหน้าทำให้ปัญหาขยายวงกว้างอาจยากต่อการแก้ไข

นอกจากนี้ยังพบข้อมูลว่า กลุ่มอายุ 6-14 ปี ใช้โซเชียล 60 เปอร์เซ็นต์ 15-24 ปี ใช้ 80 เปอร์เซ็นต์ 25-34 ปี ใช้ 60 เปอร์เซ็นต์ อายุ 35-49 ปี ใช้ 30 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่กลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป ใช้น้อยที่สุดเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ผศ.ดร.ภูเบศร์ กล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองและขยายสู่พื้นที่ใกล้เคียงจนไปในพื้นที่ต่างจังหวัด ทั้งนี้ยังพบว่าพ่อแม่ผู้ปกครองไม่มีทรัพยากรเพียงพอในการเลี้ยงดูแลลูก แม้ว่าจะประกอบอาชีพมีรายได้จำนวนมากก็ตาม ปัญหานี้เกิดขึ้นในชนชั้นกลางถึงระดับล่าง สุดท้ายเกิดปัญหาไม่สามารถดูแลลูกได้ ต้องยอมรับทุกวันนี้โลกจริงกับโลกเสมือนวิ่งคู่มากับโลกแห่งความจริง

วาสนา เก้านพรัตน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ให้ภาพสถานการณ์เด็กปัจจุบันว่า ในช่วงระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา สามารถช่วยเหลือเด็กได้ 135 คน พบว่า 99 คน เด็กถูกล่วงละเมิดจากบุคคลในครอบครัวทั้งสิ้น ปัญหาทั้งหมดไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น อยากสะท้อนถึงรัฐบาลที่ออกกฎหมายหลายอย่าง แต่ไม่มีกฎหมายในรูปแบบของประชาชนที่เข้ามาช่วยทำความเข้าใจกับสังคม

“แม้ว่าหลายหน่วยงานพยายามผลิตสื่อเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูก แต่ในแง่สาธารณะเองรัฐอาจยังไม่มีการส่งเสริม จึงอยากฝากไปถึงกระทรวงสาธารณสุขให้เข้ามาช่วยดูแลส่งเสริมเพราะถือว่าใกล้ชิดที่สุด ถ้าปมปัญหาเกิดขึ้นในพื้นที่และในครอบครัว ควรย้อนกลับไปมองต้นตอการจัดการแก้ไขปัญหา รัฐควรทำหลายๆเรื่องเกี่ยวกับเด็กให้มากกว่านี้”

ศิริพร สโครบาเนค ประธานกรรมการมูลนิธิผู้หญิง เสริมมุมคิดว่า สังคมอาจต้องเปิดกว้างมากกว่านี้ แต่จะเป็นแบบไหนต้องคุยกัน เพื่อให้มีพื้นที่อยู่ร่วมกันได้ในสังคมท่ามกลางความหลากหลาย รัฐถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างมาก แต่จะรอเพียงรัฐไม่ได้ จากการร่วมงานที่ผ่านมาพบว่า รัฐยังออกแบบครอบครัวในปัจจุบันในสัดส่วนพ่อแม่ลูกเท่านั้น รวมถึงงบประมาณจำนวนมากของรัฐใช้ไปในการจัดอบรมสัมมนา คิดว่าไม่น่าจะมีประโยชน์อะไรมากเท่าที่ควร

“ถ้ารัฐจะแก้ไขปัญหาทั้งหมดต้องลงทุนกับแม่ให้มากกว่านี้ ต้องให้ความสำคัญกับผู้หญิงมากกว่าปัจจุบัน แล้วจะทำอย่างไรคงต้องเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันหาทางแก้ไข และควรกำหนดอายุของเด็กในการใช้โซเชียลมีเดีย”

เช่นเดียวกับ พญ.เบญจพร ตันตสูติ จิตเวชเด็กและวัยรุ่น เจ้าของเพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา ระบุว่า เนื่องจากสังคมไทยมีปัญหาเรื่องจิตเวชมากขึ้น และมีเจ้าหน้าที่จิตเวชที่ไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาปัจจุบัน เพจนี้เองจะช่วยเสริมสร้างความรู้ให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กได้อีกช่องทาง และที่น่าตกใจคือปัญหาที่พ่อแม่ยุคใหม่กังวลมากที่สุดคือ “การเลี้ยงดู” ที่ลูกไม่ยอมเชื่อฟัง ไม่พูดคุยในครอบครัวไม่รู้เรื่อง ปัจจุบันยอมรับว่า ครอบครัวขาดกาปฏิสัมพันธ์กันในครอบครัว โดยมาการไม่มีเวลาให้กับคนในครอบครัว

“ต้องทำงานหาเงิน จึงต้องส่งลูกไปให้ญาติเลี้ยงในต่างจังหวัด พอโตก็มาอยู่กับพ่อแม่ คิดดูว่าพ่อแม่ไม่เจอเด็กเลย จนโตประมาณ 5-6 ขวบ และอีกสาเหตุที่เชื่อว่าส่งผลกระทบต่อครอบครัวคือปัญหาสังคมก้มหน้า ติดโชเชียลมีเดียมีผลในแง่ดีและไม่ดี แต่เราต้องเลือกใช้ให้ถูกต้องเหมาะสม”

พญ.เบญจพร ยังฝากถึงทุกภาคส่วนว่า ถ้าเด็กไม่มีอวัจนภาษาขาดความเห็นอกเห็นใจกัน แล้วเด็กที่เติบโตขึ้นมาในอนาคตจะเป็นอย่างไร ถ้าสิ่งเหล่านี้ขาดหายไปนั่นจะทำให้กลายเป็น “สังคมแห่งปัจเจก” ถึงเวลาที่ทุกคนควรร่วมกันแก้ไขปัญหาในตอนนี้

พิภพ ธงไชย กรรมการและเลขานุการมูลนิธิเด็ก กล่าวว่า นอกจากโซเชียลมีเดียแล้ว โทรทัศน์ยังเป็นต้นตอปัญหาของเด็กเช่นกัน ซึ่งพบว่าการดูโทรทัศน์ไปรบกวนการพัฒนาใยปราสาท จึงไม่ใช่เรื่องของกระทรวงศึกษาธิการเพียงหน่วยเดียว แต่กระทรวงสาธารณสุขต้องเข้ามาช่วยดูแลปัญหาเด็ก และทำควบคู่กันไป ควรต้องสนใจเด็กตั้งแต่พัฒนาการอยู่ในท้องมารดาด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุด นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น เสริมปิดท้ายว่า สังคมอย่าเลี้ยงลูกแบบเปรียญเทียบ การเติบแต่งลวดลายลงไปในเด็กที่เกิดขึ้นมาแตกต่างกันออกไป ซึ่งปัญหาที่พ่อแม่คนรุ่นใหม่กำลังเผชิญคือการกระบวนการเลี้ยงลูกสมัยใหม่แบบ “ปรนเปรอความสุข” หรือในทางการแพทย์เรียกการเลี้ยงดูแบบนี้ว่า “สำลักความสุข” ทั้งที่ความจริงแล้วเราต้องเลี้ยงลูกแบบความรักที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน