posttoday

มุมมอง"เขตรัฐ" คน 3 โลก เลิกกอดทฤษฎี...ขอลงสนามจริง

05 สิงหาคม 2561

คุยกับ "เขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์" โฆษกพรรครวมพลังประชาชาติไทย กับการตัดสินใจเข้ามาทำงานการเมืองและเส้นทางการเมืองไทยในอนาคต

คุยกับ "เขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์" โฆษกพรรครวมพลังประชาชาติไทย กับการตัดสินใจเข้ามาทำงานการเมืองและเส้นทางการเมืองไทยในอนาคต

*************************

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

ด้วยผลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ทำให้การเมืองไทยเริ่มเห็นตัวละครใหม่ๆ และพรรคการเมืองใหม่ๆ มากขึ้น ซึ่ง “พรรครวมพลังประชาชาติไทย” เป็นหนึ่งในพรรคการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นใหม่ อีกทั้งยังเป็นที่จับตามองทางการเมืองด้วย เนื่องจากมีชื่อ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตเลขาธิการ กปปส. มาร่วมจัดตั้งพรรค และเตรียมจะประชุมครั้งแรกวันที่ 5 ส.ค.

ขณะเดียวกัน การประกาศตัวของพรรครวมพลังประชาชาติไทยไม่ได้มีจุดน่าสนใจเฉพาะอดีตแกนนำ กปปส.เท่านั้น เพราะยังได้นำคนรุ่นใหม่ที่น่าสนใจเข้ามาร่วมงานด้วยอย่าง “เขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์” โฆษกพรรค และยังเป็นบุตรชายของ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ นักวิชาการด้านการเมืองชื่อดัง โพสต์ทูเดย์จึงได้มีโอกาสสนทนากับเขตรัฐเพื่อเปิดมุมมองการเมืองคนรุ่นใหม่

ก่อนอื่น เขตรัฐ เล่าถึงการตัดสินใจเข้ามาทำงานการเมืองว่า “ผมเป็นคนหนึ่งในประเทศไทยที่รู้สึกว่าการเมืองมันอึดอัดครับ การเมืองมันมืดไปหมดเลย แบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจน ความขัดแย้งสูง เมื่อครั้งทำงานในธรรมศาสตร์ในฐานะอาจารย์ก็เจอหมอกควันการเมืองเช่นกัน มีคนมาใส่สีเสื้อให้ผมเหมือนกัน ทั้งๆ ที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย ทำให้เราสัมผัสได้เองว่าถ้าสังคมยังเป็นแบบนี้ต่อไป แบ่งฝ่ายแบบนี้ต่อไปเราแย่แน่ ประเทศที่ไร้ความสามัคคีและความปรองดอง ผมคิดว่าเราคงไม่สามารถก้าวเดินไปด้วยกัน”

“ในนาทีที่มันมีความขัดแย้งสูง ผมคิดว่าคงอยู่อย่างนี้ไม่ได้ อยู่เฉยๆ ไม่ได้ คิดว่าต้องเข้ามาทำอะไรบางอย่างเพื่อเปิดพื้นที่งานการเมืองสำหรับผมแล้ว ผมไม่เคยมองว่างานการเมืองเป็นการเข้ามาแสวงหาอำนาจ หรือเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ ผมกลับมองการเมืองในอีกมิติหนึ่งมาตลอดว่างานการเมืองจริงๆ แล้ว เป็นงานที่ต้องทำเพื่อส่วนรวม งานที่เราต้องรับใช้ประชาชนจริงๆ”

เขตรัฐ ระบุว่า “ถ้าถามผมว่าผมได้วิธีคิดแบบนี้มาจากไหน ผมได้มาจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงเป็นต้นแบบการทำงานให้กับคนไทยทุกคน หัวใจของประเทศไทย คือ การเกษตร และหัวใจของการเกษตร คือ การบริหารจัดการน้ำ ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศทำอาชีพอยู่ในภาคการเกษตร ดังนั้นถ้าต้องการจะทำเพื่อประชาชนจริงๆ และต้องการขับเคลื่อนประชาชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ต้องกลับไปมองที่การเกษตรบ้าง”

“หลักเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักการที่สำคัญมาก ผมคิดว่าหลักการนี้สอนให้เราระมัดระวัง สอนให้เราไม่โลภ สอนให้เราอยู่กับสิ่งที่เรามี พอใจ เราคิดว่ามีเท่านี้ก็พอ เราก็สุขได้ การลงทุนจะเป็นไปด้วยความระมัดระวัง เพราะตัดกิเลสและความโลภออกไปแล้ว แบบนี้ไม่ได้แปลว่าเราจะไม่ขยันนะ แต่แปลว่าเราจะรอบคอบและมีสติมากขึ้นในเวลาที่เราจะทำอะไรลงไป นี่คือสิ่งที่ผมมอง”

มุมมอง"เขตรัฐ" คน 3 โลก เลิกกอดทฤษฎี...ขอลงสนามจริง

ด้วยความที่เขตรัฐจบการศึกษาจากทั้งสหรัฐอเมริกา จีน และไทย และเข้ามาทำงานในฐานะอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เหมือนบิดา ทำให้เรียกตัวเองว่าเป็นคนสามโลก พร้อมกับคิดว่าการแก้ไขปัญหาการเมืองและสังคมไทยนั้นไม่สามารถใช้แค่ทฤษฎีแบบตะวันตกได้เท่านั้น

“ผมรู้สึกว่าวัฒนธรรมไทยสำหรับผมในฐานะคนที่อยู่มาสามโลกเป็นวัฒนธรรมที่สวยงาม ผมอยู่มาสามโลก ผมอยู่สหรัฐอเมริกามา 7 ปี อยู่จีน 3 ปี และกลับมาอยู่ไทยอีก3 ปี ผมอยู่มา 3 โลกแล้ว”

“สหรัฐอเมริกา แน่นอนว่ามีสิทธิเสรีภาพอย่างที่ทราบกันดี แต่การจะมีสิทธิและเสรีภาพได้ขนาดนั้น ข้อบังคับและระเบียบต้องรัดกุมมากๆ กฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายต้องเข้มงวดจริงๆ แต่ก็เป็นสังคมแบบโดดเดี่ยว อยู่แล้วเหงา ไม่ได้คุยกับใคร ไม่มีเพื่อนบ้าน หรือถ้ารู้จักกันก็รู้จักกันแบบผิวๆ ไม่มีญาติสนิทมิตรสหายเหมือนที่เมืองไทย เขาเป็นสังคมที่เป็นปัจเจกมากๆ”

“จีน ถ้าเราอ่านหนังสือมาตอนเด็กๆ จะรู้สึกในแง่ลบ และถูกสอนให้มองว่าอเมริกาเป็นพระเอก แต่พอผมไปอยู่จีนจริงๆ กลับไม่ใช่อย่างนั้น กลับรู้สึกว่าสังคมจีนไม่ใช่สังคมโดดเดี่ยวนะ มีพี่น้อง ญาติสนิทมิตรสหาย เพื่อนบ้านเอาน้ำซุปหรืออะไรต่อมิอะไรมาให้กัน ผมอยู่ที่จีนอบอุ่น และไม่รู้สึกว่าถูกกดขี่อย่างใด ผมคิดว่าผมอยู่ได้ สบายกว่าที่อเมริกาอีก”

“มันทำให้ผมคิดได้ว่า หรือว่าเรามีอคติ หรือเราเชื่อโดยไม่สัมผัส หรือเชื่อโดยไม่ได้ศึกษา ถ้าเราเอาทฤษฎีมาครอบอย่างเดียว มันไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงหรือเปล่า ผมคิดแบบนี้ได้ตอนไปอยู่ที่จีน”

เขตรัฐ สารภาพว่า “ผมเคยมองการเมืองแบบทฤษฎี มันน่าหงุดหงิด ผมเคยคิดว่าการเมืองไทยควรต้องเป็นไปตามทฤษฎีสิ ทำไมไม่เป็นไปตามนั้น ทำไมขาดตกบกพร่อง ผมกลับมาอยู่เมืองไทยก็ตระหนักนะ คนคิดทฤษฎีก็เป็นฝรั่งที่ตายมาแล้วร้อยสองร้อยปี ผมมาคิดอีกว่าผมคิดผิดหรือเปล่าที่จะเอาทฤษฎีนี้มาเป็นเกณฑ์วัดสังคมไทย มันสะอึกนะ เลยปรับความคิดใหม่ เอาทฤษฎีไว้ข้างๆ โดยผมยังอ่านอยู่นะ แล้วมาดูว่ามีทฤษฎีไหนตรงกับไทยแล้วลองเลือกหยิบมาใส่”

“เมื่อผมเข้ามาอยู่ในระบบการศึกษา ผมมองเห็นชัดเจนว่าเราจะพยายามดันการศึกษาไทยให้ไปเท่ากับสวีเดนและฟินแลนด์ ผมนั่งถามตัวเองดู สองประเทศนี้เขาดันการศึกษาของเขาไปแบบนั้น เขาดันตามวัฒนธรรมและรูปแบบนิสัยของคนของประเทศเขาด้วย แล้วการศึกษาของเราที่ชอบ Copy และ Paste (คัดลอกและนำมาวาง) ไม่ว่าจะมาจากไหน มันตรงกับวัฒนธรรมของเราหรือเปล่า เรากำลังผลิตบุคลากรที่ประเทศเราต้องการหรือเปล่า”

“ตอนนี้ประเทศเราขาดอะไร พูดแบบแฟร์ๆ เราขาดแรงงาน ขาดคนที่มีทักษะในการทำงานจริงๆ ทักษะวิชาชีพ เรากลับไปลดทอนเขา เราไปมองว่า ปวช. ปวส.จบออกมาแล้วไม่ดี แต่ต้องไปเอาปริญญาตรีมา พ่อเฒ่าแม่เฒ่าต้องขายที่ดินส่งลูกเรียน ทั้งๆ ที่จริงถ้าเขากลับมาทำการเกษตรช่วยครอบครัว รายได้เขาดีกว่าพนักงานบริษัทอีกนะ แต่ด้วยค่านิยมที่ไปรับเข้ามา ทำให้ใจเราบอด มองไม่ออกถึงทรัพยากรตรงหน้าที่เรามีอยู่ในประเทศของเรา”

เขตรัฐ เปิดถึงความตั้งใจของตัวเองว่า เมื่อเข้ามาทำงานการเมือง ก็อยากลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น และคิดว่าพรรครวมพลังประชาชาติไทยจะสามารถตอบโจทย์ประชาชนได้ โดยไม่คิดว่าการมีอดีตแกนนำ กปปส. อย่างสุเทพ เทือกสุบรรณ อยู่ในพรรคจะเป็นจุดอ่อนของพรรคที่จะเป็นเป้าโจมตีของฝ่ายตรงกันข้ามแต่อย่างใด

“ผมอยู่ในขั้นตอนที่ว่าถ้าผมอยากทำ ผมจะทำเลย ผมคิดว่าถ้าคุณอยากเห็นมันเปลี่ยนแปลง คุณนั่นแหละ ประชาชนคนธรรมดานั่นแหละ ต้องเปลี่ยนมัน ไม่ใช่เอาชะตาของคุณไปฝากไว้ในมือใคร อย่าไปยืมจมูกใครหายใจ”

“ในฐานะส่วนตัว ผมไม่เคยมองว่าลุงกำนันคือจุดอ่อน ลุงกำนันมีวิชาความรู้เกี่ยวกับการเมืองเป็นเวลา 40 ปีที่สั่งสมมา เห็นมาแล้วทุกอย่าง เข้ามาเป็น สส.ตั้งแต่อายุ 20 ปีกว่าๆ ผมคิดว่านี่คือพลังของเรา เพราะตอนนี้ทั้งลุงกำนันกับผมต่างเป็นผู้ร่วมจัดตั้งพรรคและมีฐานะเสมอกันในพรรค”

มุมมอง"เขตรัฐ" คน 3 โลก เลิกกอดทฤษฎี...ขอลงสนามจริง

“มันคือมิติใหม่ที่ผมอยากชวนคนมองว่าพรรคของประชาชน คุณเข้ามาคุณก็เป็นหนึ่งในผู้ร่วมจัดตั้งเหมือนกัน คุณไม่จำเป็นต้องมีเงินเป็นพันล้านในการสร้างพรรค เพียงแค่มีใจที่ต้องการปฏิรูปประเทศ ก็เดินเข้ามาได้แล้ว มันคือพรรคของประชาชน”

“เนื่องจากเรามีระบบสมัชชาสมาชิกพรรค ดังนั้นลุงกำนันย่อมไม่สามารถสั่งใครในพรรคได้ ทำให้ต้องมีการถามความเห็นตลอดและต้องมีการลงประชามติกันในพรรคตลอด ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งเราปลอมแปลงไม่ได้นะ เพราะเรามีระบบที่เราตั้งขึ้นมา”

ส่วนเป้าหมายของพรรครวมพลังประชาชาติไทยนั้น เขตรัฐ เปิดเผยว่า ต้องการปักธงทั่วประเทศ เราพยายามตั้งสาขาพรรคทั่วประเทศ ไม่ได้มองเพียงแค่ภาคใต้เท่านั้น โดยอย่างน้อยการเลือกตั้งที่ใกล้จะถึง เราต้องมีพรรคการเมืองที่เป็นของประชาชนจริงๆ และเป็นที่พึ่งของประชาชนได้จริงๆ ต้องพาประชาชนเข้าไปอยู่ในสภา ไปกำกับควบคุมนักการเมืองและรัฐมนตรีจริงๆ

“ที่สำคัญ ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจอย่างแน่นอน เพราะตอนนี้พรรคมีการตั้งทีมทำงานเพื่อตั้งสโมสรเยาวชน ถ้าเราคิดแค่ว่าจะเป็นพรรคเฉพาะกิจ เราก็แค่ไปหา สส.เก่าเข้าพรรคมาก็พอ แต่เราไม่ได้ทำแบบนั้น โดยเราเอาคนธรรมดาเข้ามาในพรรค ยืนยันว่าเรามองระยะยาว” เขตรัฐ ทิ้งท้าย