posttoday

แก้กม.อาญาใหม่ ห้ามละเมิดสิทธิ

04 สิงหาคม 2561

กฤษฎีกา เผยแพร่ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา เมื่อส่องเนื้อหาของร่าง กม.ได้ปรับปรุงระบบสอบสวนคดีอาญา จำนวน 25 มาตรา

โดย ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีการเผยแพร่ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา พ.ศ. ... ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาในวาระที่หนึ่งเป็นที่เรียบร้อย เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ก่อนนำความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณาต่อไป

เมื่อส่องเนื้อหาของร่างกฎหมายได้ปรับปรุงระบบสอบสวนคดีอาญา จำนวน 25 มาตรา โดยเน้นให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการให้เกิดความเหมาะสม พร้อมกำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้เกิดความชัดเจน และสามารถอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญาได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว รวมถึงมีประสิทธิภาพ

อาทิ มาตรา 7 เพื่อประโยชน์ในการบริการประชาชนและดำเนินการให้เกิดประสิทธิภาพและรวดเร็ว ให้พนักงานสอบสวนในทุกท้องที่มีหน้าที่และอำนาจรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษต่อตน ณ สถานที่ทำการที่ตนปฏิบัติหน้าที่อยู่ ไม่ว่าเหตุจะเกิดขึ้นในท้องที่ใด และเมื่อรับคำร้องทุกข์หรือกล่าวโทษแล้ว ให้มีหน้าที่สอบสวนเบื้องต้นเท่าที่จะพึงทำได้ แล้วรีบส่งคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษพร้อมสำนวนการสอบสวนเบื้องต้นไปยังพนักงานสอบสวนที่มีเขตอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยเร็ว

มาตรา 8 กรณีที่พนักงานสอบสวนต่างท้องที่ในเขตจังหวัดเดียวกัน มีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาเดียวกันผู้บังคับการสอบสวนมีอำนาจสั่งให้พนักงานสอบสวนที่มีเขตอำนาจคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการสอบสวนความผิดอาญานั้นได้ โดยคำนึงถึงความสะดวกของพยาน ประสิทธิภาพ และความรวดเร็วในการดำเนินการประกอบกัน ซึ่งผู้บังคับการสอบสวนจะสั่งก่อนเริ่มดำเนินการสอบสวนหรือระหว่างสอบสวนก็ได้

ส่วนมาตรา 15 เพื่อประโยชน์แห่งความเป็นธรรม เมื่อพนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนคดีดังต่อไปนี้ เมื่อพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบแล้ว ให้แจ้งให้พนักงานอัยการที่มีเขตอำนาจทราบด้วย (1) คดีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษขั้นต่ำให้จำคุกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปหรือโทษสถานหนักกว่านั้น

(2) คดีตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และ (3) คดีอื่นตามที่อัยการสูงสุดกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติร่วมกันกำหนด

อย่างไรก็ตาม เมื่อได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวน ให้พนักงานอัยการมีอำนาจไปเข้าร่วมสอบสวนกับพนักงานสอบสวน ณ ที่ทำการของพนักงานสอบสวน หรือขอให้พนักงานสอบสวนแจ้งความคืบหน้า ในการสอบสวนให้ทราบเป็นระยะ หรือขอให้ตรวจสอบพยานหลักฐานหรือประเด็นใดเพิ่มเติมเป็นการเฉพาะก็ได้

มาตรา 16 ในการสอบสวน พนักงานสอบสวนต้องคำนึงถึงสิทธิของผู้ต้องหาที่จะได้รับการสอบสวนด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม และต้องไม่กระทำการใดอันเป็นการขัดต่อสิทธิมนุษยชนหรือเป็นการเผยแพร่ข้อมูลในลักษณะที่จะทำให้ประชาชนเข้าใจว่าผู้นั้นเป็นผู้กระทำความผิดแล้ว

“ในชั้นจับกุมหรือระหว่างสอบสวน ห้ามมิให้เจ้าพนักงานผู้จับหรือรับตัวผู้ถูกจับ หรือพนักงานสอบสวนนำผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาออกแถลงข่าวหรือจัดให้บุคคลดังกล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน เจ้าพนักงานหรือพนักงานสอบสวนต้องไม่เผยแพร่ภาพหรือเสียงของผู้เสียหาย ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาต่อสาธารณชนหรือยินยอมให้บุคคลซึ่งมิใช่เจ้าหน้าที่บันทึกภาพหรือเสียงของผู้เสียหาย

ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา หรือกระทำการอื่นใดอันมีลักษณะเป็นการประจานผู้เสียหายผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา แต่ทั้งนี้ การนำผู้ต้องหาไปทำแผนประทุษกรรมประกอบการรับสารภาพ มิให้ถือว่าเป็นการประจานความในวรรคสาม ไม่ใช้บังคับกับการเผยแพร่ภาพหรือเสียงของผู้ต้องหา เพื่อประโยชน์ในการจับกุมตามหมายจับ”

ขณะที่ มาตรา 22 กรณีที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องและคำสั่งนั้นไม่ใช่ของอัยการสูงสุด ให้พนักงานอัยการส่งสำนวนการสอบสวน พร้อมคำสั่งให้ผู้บังคับการสอบสวนพิจารณา ถ้าผู้บังคับการสอบสวนไม่แย้งคำสั่งดังกล่าวภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับสำนวน ให้ถือตามความเห็นของพนักงานอัยการ

อย่างไรก็ตาม ถ้ามีความเห็นแย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ ให้ส่งสำนวนพร้อมกับความเห็นที่แย้งไปยังอัยการสูงสุดเพื่อชี้ขาด แต่ถ้าคดีจะขาดอายุความหรือมีเหตุอย่างอื่นอันจำเป็นจะต้องรีบฟ้อง ก็ให้ฟ้องคดีนั้นตามความเห็นของผู้บังคับการสอบสวนไปก่อน

กรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้าผู้บังคับการสอบสวนเป็นพนักงานสอบสวน ผู้รับผิดชอบอำนาจของผู้บังคับการสอบสวนในการแย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ ให้เป็นอำนาจของผู้บัญชาการสอบสวน ถ้าผู้ดำรงตำแหน่งสูงกว่าผู้บังคับการสอบสวนเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ให้อำนาจของผู้บังคับการตามวรรคหนึ่งเป็นอำนาจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ถ้า ผบ.ตร.เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ให้อำนาจการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ เป็นอำนาจของอัยการสูงสุด และคำสั่งอัยการสูงสุดให้เป็นที่สุด

สำหรับมาตรา 23 ในคดีความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ หรือศาลเห็นว่าผู้ต้องหาไม่ควรได้รับโทษจำคุก ให้ศาลมีคำสั่งให้บุคคลดังกล่าวชำระค่าปรับทางปกครองไม่เกิน 20,000 บาท แทนจำคุก เมื่อผู้ต้องหาชำระค่าปรับทางปกครองแล้ว ให้คำสั่งศาลเป็นที่สุด และให้ถือว่าคดีอาญาเป็นอันระงับ

ส่วนกรณีจำเลยไม่อาจชำระค่าปรับทางปกครองตามวรรคหนึ่งได้ ศาลจะสั่งใช้มาตรการคุมประพฤติเพื่อให้บุคคลดังกล่าวทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ภายในระยะเวลากำหนดแทนก็ได้ เมื่อผู้ต้องหาปฏิบัติตามคำสั่งศาลแล้ว ให้คดีอาญาเป็นอันระงับการกำหนดโทษปรับทางปกครองตามวรรคหนึ่ง ให้คำนึงถึงระดับความรุนแรงของการกระทำผิดและฐานะทางเศรษฐกิจของจำเลยประกอบด้วย