posttoday

"เศรษฐกิจชีวภาพ" ขับเคลื่อนประเทศจากความหลากหลาย

30 กรกฎาคม 2561

เศรษฐกิจชีวภาพจะสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของชาติ

เศรษฐกิจชีวภาพจะสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของชาติ

*********************************

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

เศรษฐกิจชีวภาพ หรือ Bioeconomy กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย ด้วยคำยืนยันจาก สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โต้โผใหญ่ของแนวคิดนี้ที่เชื่อมั่นว่าจะเป็นทางออกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และทำให้ทุกคนในสังคมมีส่วนร่วมกับเศรษฐกิจชีวภาพ

แต่เศรษฐกิจชีวภาพนั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร และเหมาะสมกับประเทศไทยแค่ไหนความสงสัยที่เกิดขึ้น จึงหนีไม่พ้นที่ต้องให้เจ้าของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ อย่าง สุวิทย์มาให้คำตอบ

รมว.วิทยาศาสตร์ฯ อธิบายถึงบริบทที่เรียกว่า ต้นทุนของประเทศไทยไว้อย่างน่าสนใจว่า รัฐบาลต้องการสร้างความมั่งคั่ง และทำให้คนไทยพร้อมสำหรับการเดินเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เมื่อเรามองถึงบริบทของประเทศทำให้ต้องตระหนักว่า ไม่สามารถจะ “เก่ง” ไปทุกเรื่องเหมือนกับสหรัฐอเมริกา หรือจีนได้ เราจึงต้อง “เก่ง” ในสิ่งที่เราถนัด และต้นทุนหรือหน้าตักที่มีอยู่ และคำตอบก็คือเศรษฐกิจชีวภาพ เพราะประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมาก ทั้งพันธุ์พืช สัตว์ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม นี่คือเสน่ห์และหน้าตักของเรา

ความหลากหลายดังกล่าวนำไปสู่การใช้อย่างไรก็ไม่หมดไปง่ายๆ แต่คำถามคือ เราจะต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่ได้อย่างไร เมื่อมองย้อนกลับไปเพื่อทบทวนก่อนนำไปสู่แผนงานอนาคต ก็พบว่าเราไม่ได้มองค่าของความหลากหลายอย่างที่ควรจะเป็น ไม่ได้เติมเต็มกลับเข้าไป และไม่ได้มีการจัดการอย่างเป็นระบบ

“อย่างเช่นที่คิวบา เขามุ่งไปด้านเดียว เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือด้านการแพทย์ คิวบาสร้างตัวตนให้เป็นอีกประเทศหนึ่งในโลกที่มีการแพทย์ดีที่สุด ส่งออกหมอการแพทย์ไปยังทั่วโลก”

สุวิทย์เสริมว่า เศรษฐกิจชีวภาพในประเทศไทยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ จึงถูกแบ่งออกเป็น 4 ด้านในการขับเคลื่อน คือ เกษตรกรรมอาหาร การแพทย์ พลังงานชีวภาพ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ทั้ง 4 ขาเศรษฐกิจชีวภาพจะทำให้คนไทยทุกคนมีส่วนร่วมกับเศรษฐกิจบนพื้นฐานที่เรามี ซึ่งทั้ง 4 ด้านที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ มีรายละเอียด คือ

1.การเกษตรในทิศทางข้างหน้าจะต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อยกระดับไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งเป็นการเกษตรที่จะใช้ข้อมูล ใช้เทคโนโลยี ใช้ทุกสิ่งที่มองเห็นภาพว่าแปลงการเกษตรคือ โรงงานแห่งหนึ่งรู้ว่าจะผลิตสิ่งใด ใช้ดินแบบไหนเป็นฟาร์มปิดที่สามารถควบคุมทุกอย่างได้ผ่านเทคโนโลยี เกษตรกรต้องก้าวไปจุดนั้น อีกด้านอาหาร ที่จัดอยู่ในหมวดหมู่เกษตร เราต้องการเป็นครัวโลกซึ่งอาหารในประเทศไทยมีมูลค่านับแสนล้านบาทจากการส่งออก แต่ที่ผ่านมาเรายังผลิตอาหารแบบทำมากได้น้อย และต้องปรับทิศทางเพื่อให้สอดรับกับการบริโภคของโลก ทั้งอาหารสำหรับผู้สูงอายุ
อาหารเสริมสุขภาพ ซึ่งอาหารก็มาจากการเกษตรบนพื้นฐานที่เรามีอยู่เดิม

2.ด้านสุขภาพและการแพทย์ เรามีศักยภาพด้านสมุนไพรที่ดีมากแห่งหนึ่งของโลก และสามารถสู้กับสมุนไพรของประเทศจีนได้อย่างสบายหากมีการจัดการที่ดี ทั้งการสกัด การปลูก และการจัดการที่ต้องใช้วิทยาศาสตร์มากขึ้น และการแพทย์จะ
ต้องพัฒนาให้เป็นการแพทย์แม่นยำให้ได้ เพราะเรามีมหาวิทยาลัยที่ดี มีแพทย์ที่เก่งอยู่แล้ว และยังมีนักวิทยาศาสตร์ด้านการแพทย์อีกไม่น้อย ดังนั้น ต้องผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้

“บ้านเราเก่งด้านการแพทย์อยู่แล้ว เพราะมีโรงพยาบาลระดับโลกที่มีชื่อเสียง แต่โรงพยาบาลคือปลายน้ำ ต้นน้ำคือการผลิตยาชีวภาพขึ้นมาเอง เราต้องทำให้ได้ ผลิตยาที่ไม่ต้องใช้สารเคมี เพราะทิศทางโลกมันไปทางนั้นกันหมดแล้ว” สุวิทย์เสริม

3.พลังงานชีวภาพ ประเทศไทยมีผลผลิตทางการเกษตรจำนวนมาก แต่ยังถูกใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะของเสียที่ไม่ได้เอามาใช้อย่างเต็มที่ ซึ่งของเสียจากอาหาร การเกษตรเป็นของเสียที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะด้านพลังงานชีวภาพ

4.การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ประเทศไทยนับว่ามีเสน่ห์ด้านวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นอย่างมาก และเป็นต้นทุนที่สามารถต่อยอดในการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี เพราะเทรนด์การเที่ยวต่อไปจะไม่ กระจุกอยู่ตามเมืองใหญ่ๆ แต่จะเป็นการท่องเที่ยวเพื่อเรียนรู้วิถี วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวเชิงสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีให้บริการอยู่บ้าง แต่ก็น้อย ดังนั้นจะต้องผลักดันจุดนี้ให้เกิดขึ้น

ทั้งหมดที่เป็นต้นทุนทางชีวภาพของประเทศ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ชูความสำคัญว่าประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพคิดเป็น 10 % ของทั้งโลก หากเทียบเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจก็สูงถึง 3 ล้านล้านบาทหรือ 21 % ของจีดีพี และโจทย์ต่อไปคือในอีก 5 ปีข้างหน้า ด้วยรูปแบบของเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ องค์ความรู้ จะต้องช่วยผลักดันมูลค่าตรงนี้ ให้ขยับขึ้นไปที่ 4.3 ล้านล้านบาท หรือ 25 % ของจีดีพีให้ได้

“ที่สำคัญคือทุกคนมีส่วนร่วมกับเศรษฐกิจชีวภาพ เพราะคนส่วนใหญ่คือเกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อยด้านอาหาร และการท่องเที่ยวก็มีมากมาย หรือวงการแพทย์เราก็มีผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก เศรษฐกิจชีวภาพจะไม่เหมือนกับอุตสาหกรรมทั้งหุ่นยนต์ การบิน เป็นต้นที่แม้ใช้เทคโนโลยีระดับสูง แต่คนส่วนใหญ่ของประเทศก็ไม่ได้ร่วมด้วย

ท้ายสุด รมว.วิทยาศาสตร์ฯ อย่างสุวิทย์สะท้อนภาพรวมอีกว่า รัฐบาลต้องการนำพาประเทศไทยก้าวเข้าไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งด้านเศรษฐกิจจะมีขับเคลื่อนด้วย 3 วงกลมเศรษฐกิจสำคัญ คือ เศรษฐกิจขยายตัว เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจนวัตกรรม แต่เศรษฐกิจชีวภาพจะครอบคลุมร่วมวงกับทั้ง 3 วงล้อเศรษฐกิจหลัก

“เศรษฐกิจชีวภาพจะเป็นตัวสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของชาติ เพราะทุกอย่างคือชีวภาพ และเป็นสิ่งที่บ้านเรามีอยู่แล้ว” สุวิทย์ กล่าวทิ้งท้าย