posttoday

กฎหมายสงฆ์ใหม่แก้วิ่งเต้นได้ แต่ไม่พอที่จะปฏิรูปทั้งระบบ

23 กรกฎาคม 2561

ปมร้อนแรงในวงการสงฆ์นาทีนี้ คือการปรับเปลี่ยนในมหาเถรสมาคมครั้งใหญ่ หลังมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561

ปมร้อนแรงในวงการสงฆ์นาทีนี้ คือการปรับเปลี่ยนในมหาเถรสมาคมครั้งใหญ่ หลังมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561

*****************************

โดย...เอกชัย จั่นทอง

ปมร้อนแรงในวงการสงฆ์ที่หลายฝ่ายจับตามองการปรับเปลี่ยนในมหาเถรสมาคมครั้งใหญ่ หลังมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาตามที่รัฐบาลเป็นผู้เสนอแก้

สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้อยู่ที่มาตรา 3 ที่บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้ง สถาปนา และถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์และแต่งตั้งกรรมการ มส.

องค์ประกอบของ มส. ประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นอีกไม่เกิน 20 รูป ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ หรือพระภิกษุซึ่งมีพรรษาอันสมควร ซึ่งการแต่งตั้งให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย โดยจะทรงปรึกษาหารือกับสมเด็จพระสังฆราชก่อนก็ได้สำหรับกรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี

พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ พระนักเผยแผ่ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ให้สัมภาษณ์กับโพสต์ทูเดย์ก่อนที่กฎหมายสงฆ์ฉบับใหม่จะบังคับใช้ ว่า เรื่องนี้ถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดในมหาเถรสมาคม (มส.) ในระดับหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากทุกฝ่ายทราบดีว่ามหาเถรสมาคมตอนนี้ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ เกิดจากปัญหาตัวบุคคลที่ขาดความน่าเชื่อถือ หลายท่านใช้เครือข่ายเส้นสายหรือวิ่งเต้น หรือถึงขั้นใช้เงินซื้อจนได้รับการแต่งตั้ง

“การแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 เชื่อว่าจะทำให้ได้บุคคลที่มีความสามารถในการบริหารคณะสงฆ์มากขึ้น อย่างน้อยๆ ก็คงไม่ได้มาด้วยเส้นสาย หรือเพราะเป็นพวกพ้องของพระบางรูปใน มส.อย่างแน่นอน แต่ทั้งนี้ก็เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเพียงตัวบุคคล ซึ่งปัญหาของ มส.มีมากกว่านั้น ต้องมีการแก้ไขในเชิงระบบด้วย”

พระไพศาล กล่าวย้ำว่า บุคคลที่ได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการปกครองคณะสงฆ์ระดับต่างๆ จำนวนมาก มาด้วยการใช้เส้นสาย ดังคำที่ร่ำลือกันว่าใช้เงินซื้อขายตำแหน่ง หรือเพราะเป็นพวกพ้องกัน จึงทำให้เกิดมุ้งต่างๆ ใน มส. ยังไม่รวมถึงตัวบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาโดยไร้ซึ่งความสามารถ แถมยังมีข้อกังขาเชิงคุณธรรมและความสามารถด้วย เช่น ที่มีการพูดกันว่าพระราชาคณะชั้นรองสมเด็จหลายท่าน เพียงแค่จบนักธรรมเอก แต่ไม่ได้มีความรู้ด้านบาลี ก็สามารถได้รับการยกย่องสูงถึงขั้นรองสมเด็จ ซึ่งต่อไปเชื่อว่าการจะได้ชั้นสมเด็จอาจใช้เวลานานขึ้นเมื่อมีการแก้ไขกฎหมายคณะสงฆ์ฉบับนี้

ทั้งนี้ การปฏิรูปวงการสงฆ์จะแก้ปัญหาที่มหาเถรสมาคมเพียงส่วนเดียวคงไม่พอ เพราะ มส.มีพระไม่ถึง 30 รูป แต่พระสงฆ์มีประมาณ 2 แสนรูปดังนั้นการแก้ปัญหาจึงไม่ใช่การแก้ที่ระดับบนเท่านั้น หัวใจสำคัญคือแก้ที่ “ระดับฐานล่าง” คือ 1.ระบบการปกครองคณะสงฆ์ 2.ระบบการศึกษาของคณะสงฆ์ และ 3.ระบบความสัมพันธ์ระหว่างพระกับประชาชน เช่น จะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษา ปกครอง บริหารวัดมากขึ้น ทั้งหมดถือเป็นหัวใจหลักสำคัญมากในตอนนี้

“แม้จะได้บุคคลที่มีความสามารถ มีคุณธรรมอย่างที่เคยมีเหมือนสมัยอดีต แต่ก็คงจะแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ในคณะสงฆ์ได้ยากในปัจจุบัน เนื่องจากระบบการบริหารเป็นรวมศูนย์ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นกับพระสงฆ์ทั่วประเทศปัญหาต่างๆ จึงไหลมารวมอยู่ที่ศูนย์ของ มส. การปกครองของคณะสงฆ์ปัจจุบันมีลักษณะการปกครองแบบราชการ ถึงแม้จะมีเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะภาค แต่ส่วนใหญ่จะรอฟังคำสั่งจาก มส.เหมือนกับระบบราชการที่ทุกคนรอฟังคำสั่งจากอธิบดี ปลัดกระทรวง หรือรัฐมนตรีในกระทรวงเท่านั้น ตรงนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในคณะสงฆ์” เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต ระบุ

พระไพศาล ยังอธิบายว่า เมื่อวงการสงฆ์กลายเป็น “ระบบรวมศูนย์” มส.จึงต้องแบกรับปัญหาที่หนักอึ้ง เนื่องจากกรรมการ มส.ส่วนใหญ่มีอายุ 80-90 ปี ฉะนั้นจึงไม่มีกำลังวังชาที่จะรับภาระดูแลคณะสงฆ์ การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วประเทศคงเป็นเรื่องยาก สุดท้ายส่งผลเสียนำไปสู่ปัญหาข่าวอื้อฉาวอยู่เป็นประจำ ทั้งหมดเป็นปัญหาในเชิงระบบที่แก้ไขไม่ได้ด้วยแค่การปรับปรุงตัวบุคคลใน มส.ให้มีคุณภาพเท่านั้น

ปัญหาของวงการสงฆ์ยืดเยื้อกันมานาน ไม่ได้รับการแก้ไข เกิดจากปัญหาการปกครองของคณะสงฆ์ รวมถึงปัญหาสำคัญในตอนนี้คือ “ระบบการศึกษาคณะสงฆ์” ที่ตกต่ำย่ำแย่มากในปัจจุบัน ทำให้พระสงฆ์ไม่มีความรู้ ไม่เป็นที่ศรัทธานับถือ โดยเฉพาะด้านการกล่อมเกลาทางคุณธรรมถูกปล่อยปละละเลยมากจนทำให้เกิดปัญหา

“ปัญหาที่ห่วงที่สุด คือ เรื่องการศึกษาของคณะสงฆ์ ที่ส่งผลกระทบถึงคุณภาพของพระสงฆ์โดยรวม อีกทั้งระบบการศึกษาล้มเหลว เช่น นักธรรมบาลี พระไม่มีแรงจูงในการศึกษา ความรู้ต่ำ มีการทุจริตอย่างแพร่หลาย ที่ผ่านมาไม่มีการส่งเสริมการศึกษาของพระสงฆ์อย่างจริงจัง ฯลฯ ”

พระไพศาลสะท้อนความเห็นกรณีการตรวจสอบจัดการเงินภายในวัดทั่วประเทศที่มีเสียงคัดค้านว่า ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากสำนักงานพระพุทธศาสนา (พศ.) เช่นกัน ถ้ามีการนำข้าราชการกลุ่มคนเดียวกันมาตรวจสอบความโปร่งใส ก็ไม่แน่ใจว่าจะทำได้ อาจมีการใช้อำนาจที่มีเรียกร้องผลประโยชน์