posttoday

ถ้ำหลวงแหล่งเที่ยวโลก ต้องเน้นธรรมชาติ อย่าปรุงแต่งมาก

21 กรกฎาคม 2561

การผลักดันถ้ำหลวงให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวระดับโลก ไม่ใช่การไปเปลี่ยนสภาพถ้ำ หากแต่เป็นการสร้างความปลอดภัย ให้เกิดมาตรฐานเรียนรู้ สร้างการท่องเที่ยวให้ยั่งยืน

โดย...กันติพิชญ์ ใจบุญ

ภารกิจช่วยเหลือ 12 นักฟุตบอลเยาวชนทีมหมูป่าและโค้ชของพวกเขาออกจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน สำเร็จลงไปด้วยดี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งฟื้นฟูระบบนิเวศในถ้ำหลวงและปลุกปั้นเป็นแหล่งท่องเที่ยว แลนด์มาร์คแห่งใหม่ของ จ.เชียงราย

มองในมุมนักอนุรักษ์อย่าง ภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ให้ภาพว่าธรรมชาติในถ้ำหลวงให้ฟังเพื่อให้เห็นภาพว่าลักษณะของถ้ำหลวงจะเป็นพื้นที่ถ้ำหินปูน และถ้ำในลักษณะนี้เราพบได้บ่อยในภาคเหนือ และภาคตะวันตกของประเทศไทย ถ้ำหลวงจะตั้งตระหง่านทอดยาวจากเหนือจรดใต้ติดกับชายแดนเมียนมา ความสำคัญของถ้ำหินปูนหรือเฉพาะถ้ำหลวงแห่งนี้ ก็คือเป็นพื้นที่สำคัญในการกักเก็บน้ำ เป็นพื้นที่ให้น้ำในยามหน้าแล้ง ชุมชนและสัตว์ป่าก็ได้ใช้ประโยชน์จากถ้ำหลวง

นอกเหนือจากการกักเก็บน้ำ ถ้ำหลวง ยังเป็นพื้นที่ที่สัตว์ป่าได้พึ่งพาอาศัย โดยเฉพาะสัตว์ที่อยู่ในหุบเขา และที่มักพบเห็นบ่อย คือ เลียงผา กวางผา และสัตว์ชนิดอื่นๆ ขณะที่ระบบนิเวศภายในถ้ำเราจะเห็นได้ว่าค่อนข้างมีความสมบูรณ์อย่างมาก ข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนดูได้จากหินงอกหินย้อยภายในถ้ำที่ยังไม่ตายและยังเกิดขึ้นใหม่ตลอดเวลา และบริบทโดยรวมของถ้ำหลวงคือความสวยงามของธรรมชาติที่ค่อนข้างจะสมบูรณ์อย่างมาก

การที่เจ้าหน้าที่เข้าไปขุดเจาะต่างๆ เพื่อช่วยชีวิต 13 คน ก็อาจเรียกได้ว่าไม่มีผลกระทบใดๆ มากนัก แต่ปัญหาที่จะกระทบจริงๆ จากมนุษย์คือการใช้พื้นที่ถ้ำที่เข้าไปทำลายระบบนิเวศ การพัฒนาที่ทำโดยไม่รู้จริง ทั้งการเข้าไปโบกปูน ฉีดโฟม ปรับภูมิทัศน์ใหม่ หรือแม้แต่การทำสะพานทางเดินภายในถ้ำ ความหวังดีที่เกิดขึ้นกลับไปทำลายระบบนิเวศภายในถ้ำ

ถ้ำหลวงแหล่งเที่ยวโลก ต้องเน้นธรรมชาติ อย่าปรุงแต่งมาก

"ถ้ำบางแห่งถูกใช้เป็นพื้นที่ถ่ายทำภาพยนตร์ เมื่อทีมงานไปตั้งกองก็จะมีความร้อน ฉีดโฟมเคลือบผิวถ้ำ หินงอก หินย้อย ก็ได้รับสิ่งแปลกปลอมทำให้ตาย แต่ก็ยังมีอีกหลายถ้ำที่ยังไม่มีกิจกรรมเข้าไปรบกวนมากนัก นักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มก็ยังต้องการเข้าไปเที่ยวเช่นกัน"

วกกลับมาที่ถ้ำหลวง ภาณุเดชให้ภาพการฟื้นฟูว่าไม่ต้องกังวลอะไรมาก เพราะธรรมชาติจะทำหน้าที่ฟื้นตัวด้วยตัวเอง เพียงแต่ระยะเวลานี้อาจจะต้องใช้เวลา อย่าเข้าไปรบกวนสักระยะ

"แต่ผมว่ามนุษย์คงยังเข้าไปภายในถ้ำหลวงไม่ได้ในช่วงนี้ หรือแม้แต่จะเข้าไปฟื้นฟูก็ตาม ก็เพราะยังมีน้ำท่วมขังอยู่ แต่สภาพที่แท้จริงของถ้ำหลวงเราจะเห็นได้ชัดขึ้นก็คงช่วงหน้าหนาวนี้ ในช่วงที่น้ำลดลง และหากเข้าไปจัดการก็คงไม่ต้องไปแตะอะไรมาก นอกเหนือจากไปเอาสิ่งของต่างๆ ที่ใช้ในภารกิจช่วยเหลือออกมา แต่แน่นอนว่าการฟื้นฟูที่ถูก ต้องร่วมกับธรรมชาติที่จะทำหน้าที่ด้วยตัวเอง ก็จะมีประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวอย่างแน่นอน"

เมื่อภาณุเดชพูดถึงการท่องเที่ยว ทำให้วกกลับไปนึกถึงประเด็นที่รัฐบาลต้องการผลักดันถ้ำหลวงให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวระดับโลก เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ ค่อนข้างเห็นด้วย ซึ่งยืนยันว่าทำได้หากต้องการให้เป็นระดับโลกจริงๆ เพราะถ้ำสามารถพัฒนาได้ และการผลักดันคงไม่ใช่การไปเปลี่ยนสภาพถ้ำ หากแต่เป็นการสร้างความปลอดภัย ให้เกิดมาตรฐานเรียนรู้ สร้างการท่องเที่ยวให้ยั่งยืน หรือให้เป็นสถานที่เรียนรู้เหตุการณ์ติดถ้ำก็ได้ แต่แน่นอนว่าไม่ควรเปลี่ยนแปลงสภาพเดิมที่มีอยู่

"เราสามารถใส่เรื่องราว ใส่ข้อมูล รวมถึงดึงภาคประชาชนในพื้นที่ให้เข้ามามีส่วนร่วมให้รู้สึกการเป็นเจ้าของร่วมกัน เราจะยกระดับให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับโลกได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องไปปรุงแต่ง หรือทำป้ายอะไรให้มันใหญ่โต เพราะอย่างนั้นมันผิดธรรมชาติ คนที่อยากมาเที่ยวคงต้องการมาเที่ยวชมสภาพเดิมที่ถ้ำเคยมีอยู่มากกว่า"

ท้ายสุดแล้ว นักอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างภาณุเดชที่เป็นตัวแทนของมูลนิธิสืบฯ ให้คำตอบว่าการฟื้นฟูถ้ำหลวงไม่น่ากังวล แต่แน่นอนว่าปฏิบัติการช่วยเหลือ 13 ชีวิตอาจจะมีบ้างที่ไปกระทบกับระบบนิเวศภายในถ้ำหลวง ทั้งหินงอก หินย้อย ที่อาจจะหักหรือถูกทำลาย แต่ประเด็นสำคัญคือหากเราคงสภาพความเป็นถ้ำเอาไว้ ระบบนิเวศที่เคยเสียหายก็จะฟื้นฟูขึ้นได้เองตามธรรมชาติ เพียงแต่เราต้องหยุดรบกวนเท่านั้น

ถ้ำหลวงแหล่งเที่ยวโลก ต้องเน้นธรรมชาติ อย่าปรุงแต่งมาก