posttoday

พร้อมแค่ไหน ทำไพรมารีโหวต

13 กรกฎาคม 2561

การทำไพรมารีโหวตต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของพรรคการเมือง -ประชาชน แม้จะคิดการพัฒนาในกฎหมายได้ แต่หากกลไกยังไม่พร้อมอาจจะไม่สามารถทำได้

การทำไพรมารีโหวตต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของพรรคการเมือง -ประชาชน แม้จะคิดการพัฒนาในกฎหมายได้ แต่หากกลไกยังไม่พร้อมอาจจะไม่สามารถทำได้

******************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

วิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า ได้จัดการสัมมนาวิชาการ เรื่อง “การเลือกตั้งขั้นต้น : ทางออกการเลือกตั้งหรือทางตันประชาธิปไตย?” ณ ห้องประชาธิปก สถาบันพระปกเกล้า เมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา

ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ไพรมารีโหวต : จุดเปลี่ยนการเมืองไทย?” โดยให้ความเห็นว่า ถือเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญไทยที่มีการกำหนดให้มีการทำไพรมารีโหวต แต่ไม่รู้ว่ามาจากความต้องการของนักการเมืองและประชาชนหรือไม่ แต่มาจากกฎหมาย ซึ่งอาจจะถือว่าผิดธรรมชาติของการพัฒนาประชาธิปไตย

ทั้งนี้ แม้จะคิดการพัฒนาในกฎหมายได้ แต่หากกลไกยังไม่พร้อมอาจจะไม่สามารถทำได้ ซึ่งการทำไพรมารี โหวตต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของพรรคการเมือง และความพร้อมของประชาชนด้วย แม้ในแง่การทำไพรมารีโหวตจะทำให้เห็นได้ว่ากฎหมายส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

“ผมเชื่อว่าหากกฎหมายบังคับใช้แล้วข้าราชการส่วนใหญ่ ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร จะไม่สมัครเป็นสมาชิกพรรค จะไม่เปิดหน้าไปทำไพรมารีโหวต เพราะกลัวว่าหากมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้วอยู่พรรคตรงข้ามของพรรคที่ตนเป็นสมาชิก อาจจะมีปัญหาเรื่องงาน นี่คือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในการทำไพรมารีโหวตครั้งแรก ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมน้อยลง เหลือแค่กลุ่มคนวงใน กลุ่มญาติพี่น้องของผู้สมัคร”

ขณะเดียวกัน หลังจากมีพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรครวมพลังประชาชาติไทยขึ้นมา ส่วนตัวเริ่มเปลี่ยนสมมติฐาน เพราะปรากฏการณ์ดังกล่าวมีความเป็นไปได้สูงได้เป็นรัฐบาล ซึ่งจะทำให้ข้าราชการจำนวนมากเปิดหน้าเชียร์พรรคพลังประชารัฐ เพื่อหวังผล พลอยได้หลังการเลือกตั้ง

“อยากให้กฎหมายใช้ได้ผลจริงๆ คนที่ร่างกฎหมายฉบับนี้คือ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ควรจะต้องเปิดหน้า ประกาศตัวทำตามกฎหมาย โดยสมัครเป็นสมาชิกพรรคใดพรรคหนึ่ง และไปทำตามกระบวนการไพรมารีโหวต และอีกคนหนึ่งที่ควรไปทำไพรมารีโหวตคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องเปิดหน้า และควรประกาศให้ทหารทุกเหล่าทัพมีโอกาสเปิดหน้าสมัครสมาชิกพรรคได้อย่างเสรี

หากไม่ทำแบบนี้โอกาสที่กฎหมายนี้จะดึงดูดใจให้ประชาชนเข้าไปเป็นสมาชิกพรรคอย่างกว้างขวางก็จะยาก แต่เชื่อว่าในช่วงแรกการใช้ปัญหาจะเยอะ แต่หากใช้ไปเรื่อยๆ ความขัดแย้งทางการเมืองลดลง ประชาชนที่ไม่เข้าร่วมรู้สึกว่าเสียผลประโยชน์ในการเลือกตัวผู้สมัคร ก็จะทำให้ปัญหาลดลง”

ขณะที่ สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารจัดการเลือกตั้ง มองว่าระบบไพรมารีโหวตครั้งนี้อาจเกิดจาก 2 แบบ 1.ออกแบบโดยปัญญาเพื่อแก้ปัญหา มีการเอารูปแบบจากต่างประเทศมาปรับใช้ให้เหมาะสม และ 2.ออกแบบโดยอคติเพื่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ

โดยกระบวนการทำไพรมารีโหวตนั้น แต่ละพรรคจะต้องตั้งคณะกรรมการสรรหา และให้สมาชิกพรรคจัดประชุมสาขาพรรคในแต่ละเขต 100 คนขึ้นไป หรือเขตที่ไม่มีสาขาก็จัดประชุมตัวแทนพรรคในแต่ละเขต 50 คนขึ้นไป ซึ่งรูปแบบนี้ใช้คำว่าไม่เห็นประโยชน์ เพราะหากจังหวัดนั้นมีสมาชิกพรรคเพียง 50 คน ก็สามารถประชุมตัวแทนพรรคได้ และเลือกผู้สมัครทุกเขตในจังหวัดได้

“เหมือนกับว่าไพรมารีโหวตเปิดตัวแบบพระเอก แต่ตอนจบเป็นผู้ร้าย คือเริ่มต้นจากหลักการที่ดี แต่ในความเป็นจริงอาจจะไม่เกิดขึ้นตามหลักการ
ดังกล่าว เพราะพรรคจะไปคิดถึงคนที่ชนะเลือกตั้ง คนมีอิทธิพลในพื้นที่ซึ่งไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์อะไร

ซึ่งผู้ร้ายตัวจริงไม่ใช่ไพรมารีโหวต แต่เป็นการเขียนกติกาแบบเกรงใจ จนทำให้ไพรมารีโหวตกลายเป็นผู้ร้าย และภายใต้บทเฉพาะกาลและกติกา
ในปัจจุบันนี้ ไพรมารีโหวตกลายเป็นผู้ร้ายที่ยากจะเยียวยาให้กลับมาเป็นพระเอกได้”

อย่างไรก็ดี มองว่าไพรมารีโหวตจะดูเหมือนทางออกแต่จะกลายเป็นทางตัน แม้จะดูเหมือนเป็นทางตันก็อยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันทะลุทะลวงให้ได้ เพราะหลักการเริ่มต้นถูกต้องแล้ว หากทำได้ครบถ้วนสมบูรณ์ก็จะดีขึ้น และอย่าเพิ่งยอมแพ้ตั้งแต่ต้น

ด้าน นิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ในระบบวิชาการนั้นไพรมารีโหวตไม่มี มีแต่ไพรมารีอีเลกชั่น ซึ่งเป็นการเลือกตั้งระบบหนึ่งของสหรัฐอเมริกา โดยต้องการเลือกผู้สมัครจากระดับล่างขึ้นบน ซึ่งคิดว่าทำไม่ได้ เพราะพฤติกรรมการเลือกตั้งของไทยยังมีปัญหา เนื่องด้วยจำนวนสมาชิกแต่ละพรรคเหลือรวมกันมีแค่ 2 แสนคน แต่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 55 ล้านคน ดังนั้นการทำไพรมารีโหวตจึงไม่ได้มาจากประชาชนส่วนใหญ่

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาข้อกฎหมายในบทเฉพาะกาล ที่อนุโลมให้ใช้ตัวแทนประจำจังหวัดมาเลือกผู้สมัครในทุกเขตของจังหวัด จึงกังวลว่าจะกลายเป็นผู้ที่ต้องการเป็นผู้สมัครไปไล่หาสมาชิกเพื่อมาเลือกตัวเอง ซึ่งไม่ใช่การเลือกจากสมาชิกพรรคอย่างแท้จริง และคนใหม่ๆ จะไม่มีโอกาสขึ้นมาได้เลย

“ที่สำคัญการติดล็อกคำสั่งที่ 53 หากคลายล็อกเวลาจะมีน้อยมากในการทำไพรมารีโหวต ซึ่งถือเป็นการเขียนกฎหมายโดยไม่เข้าใจบริบทสังคม ถือเป็นบาปบริสุทธิ์ครั้งใหญ่ อยากให้ยืนเรื่องนี้ไว้ โดยอาจทำไพรมารีโหวตแบบเป็นภาค หรือใช้คำสั่งมาตรา 44 แก้ให้กลับไปใช้รูปแบบเหมือน กรธ.กำหนดไม่อย่างนั้นหากทำแล้วมีปัญหาตั้งแต่ต้น ก็กลัวว่าจะถูกยกเลิกแล้วไม่มีอะไรมาแทนที่เลย”