posttoday

บทเรียนถ้ำหลวง ขึ้นทะเบียนผู้เชี่ยวชาญ ทำพิกัดถ้ำ

10 กรกฎาคม 2561

ในการกู้ภัยทีมหมูป่าในถ้ำหลวง มีผู้เชี่ยวชาญเก่งๆจากต่างประเทศมาร่วมจำนวนมาก ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ควรนำบุคคลเหล่านี้มาขึ้นทะเบียนผู้เชี่ยวชาญไว้

ในการกู้ภัยทีมหมูป่าในถ้ำหลวง มีผู้เชี่ยวชาญเก่งๆจากต่างประเทศมาร่วมจำนวนมาก ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ควรนำบุคคลเหล่านี้มาขึ้นทะเบียนผู้เชี่ยวชาญไว้

***************************

โดย...เอกชัย จั่นทอง

เหตุการณ์ทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี่พร้อมผู้ช่วยโค้ช รวม 13 ชีวิต ที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย จนทุกฝ่ายต้องระดมสรรพกำลัง สมอง เทคโนโลยีขั้นสุดยอดเข้าให้การช่วยเหลือกู้ชีวิต ทำให้เกิดภาพความร่วมมือร่วมใจจากทุกคน ไม่ว่าทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง วิศวกร นักธรณีวิทยา อาสาสมัครกู้ภัย และสื่อมวลชน ทุกฝ่ายต่างมุ่งมั่นทำงานที่รับผิดชอบของตัวเอง จนนำไปสู่ปรากฏการณ์ทางบทเรียนหลายด้านที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ครั้งนี้

ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) มองเหตุการณ์ที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ได้เห็นน้ำใจจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคปฏิบัติ ทฤษฎี ที่ร่วมมือร่วมใจกันเข้ามากอบกู้สถานการณ์ เทคโนโลยีทันสมัยชั้นนำต่างๆ ของประเทศไทยมารวมอยู่ที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ล้วนมาจากเอกชน รัฐวิสาหกิจ และราชการ นอกจากนี้ยังมีผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีจากต่างประเทศเข้ามาช่วยเหลือ และเดินทางเข้ามาจำนวนมากเพื่อร่วมทำงานกับเจ้าหน้าที่ของประเทศไทย

สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นงานที่ทุกฝ่ายต้องแก้ไขโจทย์ปัญหาให้ได้ ด้วยอุปสรรคต่างๆ หลายด้าน เช่น ธรรมชาติ พิกัดตำแหน่ง น้ำ เป็นต้น การทำงานจึงยากลำบากและไม่สามารถเทียบเคียงกับกรณีแรงงานเหมืองในชิลีที่ติดภายในถ้ำได้ เนื่องจากส่วนนั้นเจ้าหน้าที่ทราบพิกัดอย่างชัดเจน การทำงานจึงค่อนข้างง่ายกว่ามาก

“ในส่วนเหตุการณ์ของประเทศไทยที่ถ้ำหลวงนั้น เราไม่รู้พิกัดของผู้ติดอยู่ภายในถ้ำเลยว่าอยู่กันจุดใด จึงทำให้การค้นหาค่อนข้างยากและต้องใช้เวลายาวนานหลายวัน จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเรามีผู้เชี่ยวชาญเก่งๆ ในแต่ละด้านเดินทางมาจากต่างประเทศ ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่เราควรนำบุคคลเหล่านี้มาขึ้นทะเบียนผู้เชี่ยวชาญไว้” นายก วสท. ระบุ

ธเนศ กล่าวอีกว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นเราได้ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกเข้ามาช่วย จึงควรมีการทำบันทึกข้อมูลขึ้นทะเบียนผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านว่ามีด้านไหนบ้าง เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญเราสามารถประสานขอความร่วมมือช่วยเหลือได้ทันที คิดว่าตรงส่วนนี้จะมีประโยชน์อย่างมากในอนาคต ขณะเดียวกันเรื่องอุโมงค์ถ้ำ ประเทศไทยไม่มีพิกัดชัดเจน หลังจากเหตุการณ์นี้สิ่งที่ต้องทำ คือ การจัดทำพิกัดในถ้ำให้ชัดเจนว่าจุดใดเป็นจุดใด ซึ่งรัฐบาลอาจต้องใช้งบประมาณเข้ามาบริหารจัดการในส่วนนี้

ทว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ทุกคนทราบดีว่ายาก แต่ด้วยน้ำใจของคนในประเทศและทั่วโลกต่างส่งกำลังใจ ถือว่าทุกส่วนมีความสำคัญอย่างมาก แม้แต่แม่บ้านที่คอยทำอาหารบริการ ดูแลความสะอาดเรียบร้อยในพื้นที่ก็ถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนภารกิจให้ประสบความสำเร็จได้

บทเรียนถ้ำหลวง ขึ้นทะเบียนผู้เชี่ยวชาญ ทำพิกัดถ้ำ

ธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ความเห็นว่า สิ่งที่เห็นคือเด็ก เยาวชน และเป็นนักกีฬา ติดอยู่ภายในถ้ำ โดยทุกภาคส่วนระดมกำลังเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งการกู้ภัยครั้งนี้ต่างจากกู้ภัยอื่นๆ ต้องชื่นชมคนบริหารจัดการตั้งแต่ระดับบริหารที่มีภาวะผู้นำจนถึงระดับปฏิบัติ ทำให้สถานการณ์ถูกควบคุมดูแลอย่างดี

ในเหตุการณ์ครั้งนี้โดยเฉพาะเชิงการทำงานนั้นเห็นชัดเจนคือเรายังไม่มีเจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญด้านการกู้ภัยมาก่อน แต่เราได้รับความช่วยเหลือจากอาสาสมัครทั่วโลก ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์ร่วมอาสาสมัครและมิตรภาพ และที่ขาดไม่ได้พระบารมีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงมีความห่วงใย ทำให้ทุกฝ่ายน้อมนำแนวทางพระราชดำริไปปฏิบัติ ถือเป็นขวัญและกำลังใจ

“ทุกฝ่ายต้องปรับแผนให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทั้งเรื่องการท่องเที่ยวและเส้นทางในพื้นที่อุทยานต่างๆ ต้องมีการปรับตัวขนานใหญ่ หลังจากนี้การกู้ภัยต้องมีการศึกษาเรียนรู้ตั้งแต่ระดับเล็ก กลาง ใหญ่ ที่สำคัญการทำงานนั้นการตัดสินใจต้องอยู่บนหลักวิชาการ มีข้อมูลสนับสนุนในพื้นที่ เหมาะสมทันสมัย รวมถึงการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยเสริมการทำงานให้มีประสิทธิภาพ” ธีรภัทร ให้ความเห็นสู่แนวปฏิบัติ

ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ ภาคธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เรื่องการจัดการสถานการณ์ที่เกิดขึ้นถือว่าดีอยู่แล้ว ส่วนเรื่องธรรมชาตินั้นถือเป็นอีกเรื่อง แต่เราเห็นทุกภาคส่วนร่วมมือกันทำงานในพื้นที่ เชื่อว่าหลังจากนี้มาตรการกู้ภัยคงมีการนำไปศึกษาวางมาตรการพัฒนาบุคลากร ทั้งนี้จากเหตุการณ์ส่วนตัวเห็นว่าเป็นการจัดการที่ดีที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา

ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนพัฒนาส่วนอื่นในอนาคตนั้น ธนวัฒน์ กล่าวยอมรับว่าแต่ละเหตุการณ์ไม่เหมือนกัน ไม่อาจนำเหตุการณ์นี้มาปรับใช้ได้ ทั้งหมดอยู่ที่คนเป็นหลัก ไม่ว่าระบบจะดีขนาดไหน ถ้าคนปฏิบัติไม่เคร่งครัดไม่ทำก็ไม่มีประโยชน์อะไร ตรงนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งในเหตุการณ์นี้เห็นชัดเจนมีการจัดการที่ดี แต่หลายกรณีถ้าอำนาจไม่ได้อยู่ที่ใครคนใดคนหนึ่งแล้วสั่งตัดสินใจไปก็จะมีปัญหา แต่เหตุการณ์ที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ถือว่าทุกอย่างเรียบร้อยดี

อย่างไรก็ตาม บริเวณถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนถือเป็นจุดรวมเทคโนโลยีทันสมัยจากในประเทศและต่างประเทศเข้ามาช่วยเหลือกู้ภัย หลายฝ่ายมีความพยายามตั้งใจหยิบยื่นน้ำใจเข้ามาช่วยเหลืออย่างจริงจัง แต่บางส่วนอาจเข้ามาช่วยเหลือเพื่อแสดงเทคโนโลยีความล้ำสมัย ทั้งหมดถือเป็นประโยชน์และสิ่งดีๆ ที่เราได้รับการช่วยเหลือทุกด้าน