posttoday

ไพรมารีโหวตทำทัน อยู่ที่ "คสช."เอาจริงแค่ไหน

08 กรกฎาคม 2561

"สมชัย ศรีสุทธิยากร" วิเคราะห์ภาพรวมประเด็นปัญหาไพรมารีโหวตสรรหาผู้สมัครลงเลือกตั้ง พุ่งเป้าไปที่คสช.ว่าจะเอาจริงแค่ไหน

"สมชัย ศรีสุทธิยากร" วิเคราะห์ภาพรวมประเด็นปัญหาไพรมารีโหวตสรรหาผู้สมัครลงเลือกตั้ง พุ่งเป้าไปที่คสช.ว่าจะเอาจริงแค่ไหน

********************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ปี่กลองการเมืองไทยเริ่มโหมโรงให้ได้เห็น หลังจากมีการเรียก 74 พรรคการเมือง เข้าหารือเพื่อสะท้อนปัญหาและอุปสรรคต่อการเลือกตั้งอันใกล้เข้ามาในอนาคต และแน่นอนเงื่อนไขที่ส่งผลให้บรรดาพรรคการเมืองต่างสะท้อนออกมาใกล้เคียงกันคือ การทำไพรมารีโหวต

สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารจัดการเลือกตั้งได้ออกมาวิเคราะห์ภาพรวมประเด็นปัญหาผ่าน “โพสต์ทูเดย์” ว่า เบื้องต้นต้องคุยในเชิงหลักการก่อน การทำไพรมารีโหวตนั้นเป็นไปเพื่ออะไร ซึ่งการทำไพรมรีโหวตนี้มันปรากฏในการเลือกตั้งของหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และยุโรป

ทั้งนี้ จุดประสงค์ก็เพื่อต้องการให้กระบวนการคัดสรรผู้สมัครรับเลือกตั้งของแต่ละพรรคมีความเชื่อมโยงกับประชาชน ซึ่งอาจจะมีการทั้งไพรมารีโหวตลักษณะแบบเปิดคือ ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคนั้นก็สามารถจะบอกได้ว่า พรรคควรส่งใคร หรือแบบปิดคือ การเป็นสมาชิกพรรคนั้น จึงเป็นคนมีสิทธิในการคัดเลือกผู้สมัครพรรคการเมืองนั้น

“เจตนาคือ ไม่ได้ต้องการให้การกำหนดผู้สมัครของพรรคการเมือง มาจากนายทุน เจ้าของพรรค หัวหน้าพรรค หรือกรรมการบริหารพรรค แต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการคัดสรรด้วย เพราะฉะนั้นเราจะเจอประโยคผู้สมัครไม่ถูกใจเรา ไม่อยากกา ไม่อยากเลือก หรือบางทีคัดเลือกผู้สมัครที่ดูถูกประชาชน ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต”

สมชัย ขยายความต่อว่า การทำไพรมารีโหวตครั้งนี้ จึงเป็นการออกแบบใหม่ โดยการไปเลียนแบบมาจากระบบการเลือกตั้งของตะวันตก ซึ่งน่าจะเป็นวิธีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี แต่ตอนนี้เมื่อมาใช้ มันจะมีข้อจำกัดหลายอย่างในประเทศไทยคือ สมาชิกพรรคไม่ได้ผูกพันกับพรรคการเมืองจริง และคนเป็นสมาชิกต้องจ่ายค่าบำรุงพรรค ก็เป็นกติกาใหม่ที่เกิดขึ้น บังคับกะเกณฑ์สมาชิกพรรค ว่าแต่ละพรรคต้องมีสมาชิกอย่างน้อยเท่าไร จึงจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้

อีกทั้งมีการกำหนดกฎเกณฑ์ว่าการทำไพรมารีโหวตแต่ละจังหวัด จะต้องมีสมาชิกเข้าร่วมประชุมอย่างน้อยเท่าไร ซึ่งเป็นกติกาสร้างขึ้นมาเพื่อผูกกันไปกับการทำไพรมารีโหวต โดยหวังว่าจะทำให้กระบวนการดังกล่าวเชื่อมโยงกับประชาชนอย่างแท้จริงตามหลักการ

สมชัย อธิบายว่า เมื่อออกแบบมาใหม่ พรรคการเมืองไม่เคยทำมาก่อน ประชาชน สมาชิกพรรค ไม่คุ้นเคยกับระบบแบบนี้ ซึ่งการเขียนในบทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง จึงเป็นการเขียนให้ดำเนินการได้โดยง่ายคือ แค่มีสมาชิกพรรค 100 คนในจังหวัดสามารถจัดทำไพรมารีโหวตของผู้สมัครทุกเขตในจังหวัดนั้นได้เป็นการออกแบบช่วยให้เกิดความสะดวกแก่พรรคการเมืองมากที่สุด

“แค่ 100 คนในหนึ่งจังหวัด มาประชุมเกินครึ่งขึ้นไปก็สามารถทำไพรมารีโหวตทุกเขตจังหวัดเลือกตั้งได้แล้ว การดำเนินการให้โดยง่าย ผลที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นว่า ไม่ช่วยอะไรให้เกิดความสำเร็จตามหลักการดังกล่าวได้เลย เช่น 50 คน มาโหวต ทั้งจังหวัดควรส่งใครบ้าง ก็สามารถจัดตั้งได้โดยง่าย

ดังนั้น ไม่ก่อให้เกิดผลการเปลี่ยนแปลงที่ดี พอกระบวนการยุ่งยากซับซ้อน ต้องมีการตั้งกระบวนการสรรหา ต้องมีการรับสมัคร ส่งรายชื่อไป ต้องมีการจัดประชุมเพื่อเลือกอะไรก็แล้วแต่ แล้วส่งกลับมายังกรรมการบริหารพรรค มันเป็นกระบวนการยุ่งยากล่าช้า ใช้เวลาดำเนินการ และใช้เงินในการดำเนินการ เพื่อให้ได้รายชื่อซึ่งไม่ก่อให้เกิดผลอะไรมากนัก”

อย่างไรก็ดี ในเชิงกระบวนการจัดการดังกล่าว หากทำตามกฎหมาย มันจะเป็นภาระต่อพรรคการเมือง 1.ต้องใช้เวลาไปกลับทั้งหมด 30 วัน ในการทำตั้งแต่เริ่มต้น มีกรรมการสรรหา รับสมัคร ส่งรายชื่อให้เขต หรือจังหวัด มีการประชุมสมาชิกพรรคลงมติส่งให้กรรมการบริหาร กรรมการบริหารประชุมรับรองหรือปฏิเสธก็ต้องตอบโต้ ซึ่งกระบวนการตรงนี้เชิงของเวลาใช้อย่างน้อยที่สุดคือ 20-30 วัน ดำเนินการ

ขณะเดียวกัน หากเอากระบวนการนี้เข้ามาก็เป็นต้นทุนเรื่องเวลาให้พรรคการเมืองต้องเสียเวลา 30 วัน ก่อนรู้ว่าส่งใครเป็นผู้สมัคร 2.ต้นทุนค่าใช้จ่าย หากคำนวณดูหนึ่งจังหวัดต้องมีการจัดรับสมัครสมาชิก ประชุมสมาชิก กระบวนการทำธุรการต่างๆ คิดแบบประหยัดสุดจังหวัดหนึ่งใช้เงินประมาณ 2 หมื่นบาท ถ้าส่งทุกเขต 77 จังหวัด ก็ประมาณ 1.5 ล้านบาท เป็นภาระค่าใช้จ่ายของพรรคการเมือง

อดีต กกต.ฝีปากกล้า ชี้ว่า ต้องประเมินสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งสองอย่างก่อให้เกิดความคุ้มค่าต่อกระบวนการทำหรือไม่ และมองว่าถ้าจะทำไพรมารีโหวตจริงๆ ต้องทำอย่างจริงจัง อย่าทำเป็นพิธีกรรมคือ ขณะนี้เราทำเป็นแบบพิธีกรรม แล้วยอมให้เกิดวิธีการที่ง่าย แต่ไม่เกิดผลอย่างแท้จริง แต่เสียเวลาและสิ้นเปลืองเงิน

โดยมุมมองส่วนตัวต้องใช้วิธีการยากลำบากมากขึ้น เพื่อให้เวลาที่เสียไปมันเกิดความคุ้มค่า และให้ได้มาซึ่งคนเป็นตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริง แต่ในขั้นต้นถ้าจะหากทำแบบง่ายๆ ไปก่อน เพื่อเรียนรู้และเอาบทเรียนที่เกิดขึ้นจากการจัดการไปปรับปรุงแก้ไขในการทำจริงครั้งต่อไปก็เป็นสิ่งรับได้

“แต่ตอนนี้ถ้ามองว่าทำจังหวัดไม่ไหว แล้วจะไปทำระดับภาค ผมว่ายิ่งไร้สาระ เพราะภาคกระจายออกเป็น 4 ภาค เหนือ อีสาน กลาง และใต้ ซึ่งสาขาพรรคจะมีการตั้งออกเป็น 4 ภาค เท่ากับว่าคนในภาคจะไปรู้จักจังหวัดและเขตได้อย่างไรในการลงมติเพื่อเลือก ดังนั้น คิดว่าการจัดระดับภาคเป็นการแก้ผ้าเอาหน้ารอด ไม่เกิดประโยชน์อะไร สิ้นเปลืองเงินและเวลา อีกทั้งไม่ได้ผู้แทนของประชาชนแท้จริง”

ส่วนเรื่องเวลาการทำไพรมารีโหวตจะทันตาม กรอบที่รัฐบาลได้หารือกับ 74 พรรคการเมืองหรือไม่ ส่วนตัวมองว่าทัน แต่ต้องเปิดกันตั้งแต่เริ่มต้นคือ ปลดล็อกทางการเมืองให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ ไม่ใช่รอจนกว่ามีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งแล้วถึงทำ หากรอสิ่งที่เสียไปแน่ๆ 2 เดือน คือ เดือนที่หนึ่ง กกต.ต้องไปแบ่งเขต และเดือนที่สอง ทำไพรมารีโหวต ซึ่งจะเหลือเวลาในการรับสมัครหาเสียง ช่วง 3 เดือนหลัง แต่การเลือกตั้งถูกล็อก 5 เดือนเต็มๆ ทั้งที่จริงสามารถร่นเวลาในการจัดการเลือกตั้งให้น้อยกว่า 150 วันได้

“เมื่อการออกแบบต้องมีพระราชกฤษฎีกาก่อน ค่อยแบ่งเขตแบ่งเสร็จทำไพรมารีโหวต มันจะเสียสองเดือนข้างหน้าไป ตรงนี้จะมีปัญหาเต็มเวลา 150 วัน จะยังไม่ได้ชื่อผู้ที่ผ่านการเลือกตั้ง เป็นเพียงแค่ลงบัตร และก็จะมีคนแย้งว่าการกระทำดังกล่าวผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งรัฐธรรมนูญเขียนไว้จะต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ 150 วัน เมื่อแล้วเสร็จอาจมีการตีความหมายได้ว่าเลือกตั้งอย่างเดียว หรือเลือกตั้งแล้วต้องได้ผู้ชนะอย่างน้อย 95% ด้วย และอาจกลายเป็นมุมปัญหาในอนาคต”

ไพรมารีโหวตทำทัน อยู่ที่ "คสช."เอาจริงแค่ไหน

สมชัย มองความเป็นได้ที่จะปลดล็อกช่วงเวลา 90 วัน หลังประกาศใช้กฎหมายลูกสองฉบับสุดท้าย เพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ถ้าหากว่า 1.ยอมให้ กกต.แบ่งเขต โดยกระบวนการแบ่งเขต แต่ถ้าหากว่า คสช.มีคำสั่ง กกต.แบ่งเขต นับแต่ พ.ร.ป.สส.ประกาศในราชกิจจาฯ แม้ไม่มีผลใช้บังคับมันจะทำให้เวลาแบ่งเขตถูกออกมาใช้ 90 วันแรก และทำไพรมารีโหวตช่วงดังกล่าวได้ก็ถือเป็นทางออกหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม หากสามารถทำได้ก่อนหน้านี้มันจะเป็นการดี เพราะเกี่ยวข้องกับการตระเตรียมการ เนื่องจากการแบ่งเขตต้องเป็น 350 เขต ตามกฎหมาย ซึ่งการแบ่งเขต กกต.ก็ต้องมีระยะเวลาเพียงพอ เพื่อรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งเป็นหลักการสำคัญ

“เพราะการแบ่งเขตอาจก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ไม่เป็นธรรมเหมาะสมดังนั้น สิ่งที่ กกต.ทำต้องเสนออย่างน้อย 3 รูปแบบ และเปิดโอกาสในการรับฟังจากประชาชนมีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นๆ ผู้มีส่วนได้เสีย พรรคการเมือง และเอาความเห็นดังกล่าวมาเสนอกับ กกต.กลาง ลงมติจะเลือกแบบใด

กระบวนการดังกล่าวต้องใช้เวลาพอสมควร 1 เดือน ผมยังไม่มั่นใจถ้าทำเต็มตามรูปแบบจริงๆ จะสำเร็จหรือไม่ และ 350 เขต ที่ประชุม กกต.กลางต้องใช้เวลานับสัปดาห์ เพื่อดูทีละแบบๆ รายเขตไป จะเป็น กกต.ชุดปัจจุบันหรือชุดหน้า ต้องประชุมทั้งวันทั้งคืนนานเป็นสัปดาห์ กว่าจะได้รูปแบบที่แน่นอน ดังนั้น อะไรทำได้ช่วงนี้น่าจะดีกว่า”

สมชัย ยอมรับว่า กติกาใหม่รวมถึง กกต.ชุดใหม่ที่จะเข้ามาจัดการเลือกตั้งก็ยังคงน่าเป็นห่วงอยู่ แต่ทุกอย่างขึ้นกับผู้มีอำนาจในบ้านเมืองกำหนดเอง หากเกิดความปั่นป่วน ไม่สมบูรณ์ ไม่ชอบมาพากล ก็ควรต้องรับผิดชอบ ซึ่งเคยพูดมาก่อนว่าการเปลี่ยนม้ากลางศึกไม่ใช่เรื่องดี

ทั้งนี้ ระบบไพรมารีโหวตในระยะยาวก็ถือเป็นสิ่งน่าสนใจ เพราะทำให้การคัดผู้สมัครมาจากสมาชิกมาจากประชาชน ในหลักทฤษฎีถือว่าถูกต้อง แต่ต้องให้พรรคการเมืองเกิดความเข้มแข็งในการสร้างรากฐานจากสมาชิกพรรคแท้จริง การทำให้สมาชิกเข้มแข็งก็ต้องเปิดกว้าง เพราะตอนนี้ยังเปิดรับไม่ได้ก็คงไม่เกิดความเข้มแข็ง