posttoday

เลือกตั้งพ.ค.62 แนวโน้มที่พร้อมสุด

26 มิถุนายน 2561

สำรวจความเห็นตัวแทนพรรคการเมืองหลังร่วมหารือกับคสช. ชี้การเลือกตั้งเกิดเดือนพ.ค.62 เป็นแนวโน้มที่พร้อมสุด

สำรวจความเห็นตัวแทนพรรคการเมืองหลังร่วมหารือกับคสช. ชี้การเลือกตั้งเกิดเดือนพ.ค.62 เป็นแนวโน้มที่พร้อมสุด

*****************************

โดย.....ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

พอเห็นเค้าลางหลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. อันประกอบไปด้วย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง และรมว.กลาโหม วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ รับผิดชอบด้านกฎหมาย รวมถึง ศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เชิญตัวแทน 74 พรรคการเมือง มาร่วมกำหนดวันเลือกตั้ง ณ สโมสรกองทัพบก เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ที่ผ่านมา

นิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ภาพรวมถือเป็นที่น่าพอใจของทุกฝ่าย และเริ่มรู้สึกว่าประเทศกำลังเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง เพราะประเด็นที่มีการเตรียมการไป โดยเฉพาะความขัดข้องต่างๆ ซึ่งก่อนหน้านี้พรรคได้ทำหนังสือสอบถามไปยัง กกต. โดยที่ติดอยู่ คือ เจตนารมณ์ ของ คสช.และรัฐบาล

ขณะเดียวกัน วิษณุได้เอาประเด็นที่สอบถามกับทาง กกต. รวมทั้งได้หารือนอกรอบ และชี้ว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่จะผ่อนคลาย โดยยืนยันว่าถ้าให้ปลดล็อกเลย จะทำเมื่อกฎหมาย 2 ฉบับหลังมีผลบังคับใช้แล้ว หมายถึงหลังจากประกาศในราชกิจจาฯ บวกกับ 90 วัน

ทว่า ที่เป็นเรื่องดี คือ จะมีการคลายล็อกช่วงเวลาใน 90 วัน ให้พรรคการเมืองสามารถจัดองค์ประชุมใหญ่ เพื่อกำหนดข้อบังคับ นโยบาย กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ จะทำให้ผ่อนคลายในการทำภารกิจการเมืองได้ โดยไม่สามารถหาเสียง หรือรณรงค์การเลือกตั้ง

“วันเลือกตั้งตามกฎหมาย รัฐบาลจะต้องประกาศกฤษฎีกาการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งต่อจากนั้น กกต. จะต้องไปพิจารณาวันเลือกตั้ง ต้องไม่เกิน 150 วัน และถ้านับเต็มระยะเวลา คือ อาทิตย์สุดท้ายของเดือน คือ วันที่ 24 ก.พ. ผมเห็นว่าเวลานั้นจะมีการเลือกตั้งสูงมาก เหตุผลเพราะทุกอย่างลงตัวหมด และตรงกับที่ท่านนายกฯ ได้พูดกับต่างประเทศ 2 ครั้ง ก่อนหน้านี้ และพล.อ.ประวิตร พูดมาก่อนหน้านี้ในประเทศ ว่าประมาณเดือนก.พ. ดังนั้น ก็ถือว่าเป็นไปได้มาก หรือาจจะบวกลบก็ได้”

ส่วนเรื่องการทำไพรมารี่โหวตก็ยอมรับว่ายังมีปัญหา เนื่องจากใช้กับระบบประธานาธิบดี อีกทั้ง เรื่องดังกล่าวไม่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่ใส่ไปโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งยึดเอาตาม มาตรา 45 เรื่องการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง แต่สถานการณ์ทั้งเรื่อง เวลา ความพร้อม และสมาชิกพรรค ยังไม่พร้อมด้วยประการทั้งปวง

“ผมมองว่าถ้าจะทำกันจริงๆ พรรคชาติไทยพัฒนาก็ทำทัน เพราะเป็นพรรคเก่า แต่มีความเป็นห่วงสำหรับพรรคการเมืองใหม่ และพรรคการเมืองเล็ก จะทำกันลำบาก เลยอยากให้พิจารณา แต่เหมือนเป็นข่าวดี อ.วิษณุ เห็นประเด็นนี้ อาจมีทางออก คือ คลายไพรมารี่โหวตให้ทำระดับภาค 4 ภาค

ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ประเด็นการมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรค ถือว่ารับได้ และน่ามีความเหมาะสม ผมมองว่าดีและคงไว้ก่อน เมื่อบ้านเมืองพัฒนา ค่อยไปทำไพรมารี่จังหวัด และพัฒนาไปเป็นเขต หากให้ถอดหมดจะมีปัญหาขัดต่อรัฐธรรมนูญ”

ขณะที่ อุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย สะท้อนผลการหารือดังกล่าวว่า หลังจากไปร่วมรับฟังคำบอกเล่าของวิษณุ ได้แบ่งโรดแมปเป็น 3 ขั้นตอน คือ 3 เดือนแรก เป็นขั้นตอนการรอโปรดเกล้าฯ 3 เดือนถัดมา เป็นการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา และมีช่วงเวลาให้ทำงาน

อย่างไรก็ตาม และ 5 เดือนหลัง ช่วงเวลาสู่โหมดประกาศวันการเลือกตั้ง เมื่อนับออกมาการเลือกตั้งจะเริ่มต้นประมาณปลายเดือนวันที่ 24 ก.พ. 2562 ถือว่าอย่างเร็ว และนับเรื่อยไป 150 วัน ซึ่งไม่ควรเกินวันที่ 5 พ.ค. 2562 โดยการกำหนดแบบนี้ มันมีภายใต้เงื่อนไข 5 ข้อ ที่รัฐบาลประกาศไว้ ซึ่งทุกอย่างต้องเป็นไปตามถึงจะเกิดการเลือกตั้งหรือนับหนึ่งได้

“พรรคได้แย้งไปว่าโดยเฉพาะข้อที่ 5 ในเรื่องความสงบเรียบร้อยของสถานการณ์ทั่วประเทศภาพรวม คือ เกิดขึ้นโดยใคร อย่างไร แล้วเรามั่นใจได้อย่างไรว่าเป็นความไม่สงบจริง หรือไม่ได้เป็นสถานการณ์ที่สร้างขึ้น เพื่อเจตนาต้องการที่จะไม่มีเลือกตั้ง นี่คือหัวใจสำคัญ ซึ่ง 5 ข้อนี้จะทำให้โรดแมปนั้นบิดพลิ้วไม่เป็นไปตามนี้”

ทั้งนี้ พรรคเรียกร้องในที่ประชุม คือ 1.เห็นควรยกเลิกการใช้คำสั่งที่ 53/2560 ทันที ซึ่งหลายๆเสียงในที่ประชุมก็สนับสนุนไปทิศทางเดียวกัน 2.ยกเลิกการเก็บค่าสมาชิก โดยได้ยกตัวอย่าง เช่น ประชาธิปัตย์ พลังธรรม ก็เคยทำมาสุดท้ายล้มเหลว และ 3.การทำไพรมารี่โหวต โดยเฉพาะทำในระดับภาค เพราะเป็นการสร้างความวุ่นวายให้กับประเทศ

“ส่วนจะยกเว้นเฉพาะการเลือกตั้งครั้งนี้มองว่าไม่เกี่ยว อะไรไม่ดีหรือสร้างความสับสนวุ่นวาย ก็ควรยกเลิก และพรรคไหนจะใช้ก็ไปกำหนดในระเบียบข้อบังคับพรรค ไม่ควรบังคับให้ทุกพรรคทำแบบนี้ ถ้าทำแบบนี้ผมคิดว่าหลายพรรคคงยุติการเมือง ซึ่งผมเองก็ต้องพิจารณาเหมือนกัน”

เลือกตั้งพ.ค.62 แนวโน้มที่พร้อมสุด

ศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ระบุว่า ปัญหาของพรรคการเมืองที่จะปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย แล้วมันเป็นอุปสรรค เนื่องมาจากคำสั่ง คสช. ซึ่ง คสช. ก็รับทราบปัญหาเหล่านี้ และจากการรับฟัง ทาง คสช. เองก็ยอมรับ โดยพยายามแก้ไขข้อขัดข้องที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ไพรมารี่โหวต การประชุมพรรค การหาสมาชิก แต่จะใช้กลไกอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐบาล

อย่างไรก็ดี ส่วนตัวมองว่าวันนี้มีความชัดเจน ซึ่งพรรคภูมิใจไทยรับได้ เพราะในที่สุดการเลือกตั้งอย่างช้าจะเกิดขึ้นกลางปีหน้า คือ เดือน พ.ค. 2562 ซึ่งเรื่องนี้พรรคย้ำมาตลอดว่าจะเป็นเดือน ก.พ. หรือ พ.ค. รับได้ ฉะนั้น วันนี้มันเป็นเรื่องที่ คสช. ยืนยันว่า จะเกิดขึ้นด้วยกลไกของมัน และห้วงเวลากฎหมาย

“สูตร 3-3-5 มันเป็นไปตามกฎหมายทั้งสิ้น มันคงไม่ดิ้นไปมากกว่านี้แล้ว เพราะฉะนั้น ความน่าจะเป็นของการเลือกตั้ง น่าจะเกิดขึ้นไม่เกินเดือน พ.ค. 2562 แต่ผมว่าเลือกเดือน พ.ค. เลย เพราะไม่เกิน 146 วัน ก็เป็นเรื่องที่ยอมรับได้อยู่ ช้าจากที่เคยพูดมาก่อนหน้านี้ พรรคไม่มีปัญหาอะไร”

ส่วนเหตุผลทำให้การเลือกตั้งล่าช้าออกไป มองว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นอาจจะเกิดขึ้นก่อน ในเดือนม.ค. หรือ ก.พ. และทำให้การเลือกตั้ง สส. ไปเป็นเดือนพ.ค. โดย กกต. ได้อธิบายว่าถ้ามีการเลือกตั้งสองอย่างแล้วห่างกัน 3 เดือน กกต. จะสามารถบริหารจัดการได้เป็นอย่างดี