posttoday

อันตราย"พาราควอต" ภัยร้ายกลืนชีวิต

25 มิถุนายน 2561

การสัมผัสสารพาราควอตมีผลเชื่อมโยงโอกาสเกิดโรคเนื้อเน่าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่อีสานตอนบน ที่มีการใช้สารนี้อย่างเข้มข้น

การสัมผัสสารพาราควอตมีผลเชื่อมโยงโอกาสเกิดโรคเนื้อเน่าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่อีสานตอนบน ที่มีการใช้สารนี้อย่างเข้มข้น

***************************

โดย...เอกชัย จั่นทอง

ประเด็นเรียกร้องขอให้มีการยกเลิกการใช้วัตถุอันตราย 3 รายการ ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต โดยเฉพาะ “พาราควอต” ที่นิยมอย่างแพร่หลายในกลุ่มเกษตรกรปลูกพืชไร่ แม้ว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีมติสวนทางไม่ยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 รายการ แต่ให้จำกัดการใช้แทน ขณะเดียวกันมีความเห็นจากหลายกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยต่อมติดังกล่าว โดยมองว่าสารเหล่านี้ฆ่าชีวิตคนและทำลายสุขภาพสิ่งแวดล้อมแบบตายผ่อนส่ง จนไปสู่การชุมนุมเรียกร้องบริเวณทำเนียบรัฐบาลขอให้หยุดการใช้สารเคมีดังกล่าวโดยเร็ว

รศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ ด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร วิเคราะห์ปัญหาและอันตรายของสารพาราควอตไว้อย่างน่าสนใจว่า สำหรับพาราควอตนั้นทุกคนเข้าใจดีว่าเป็นยาฆ่าหญ้าที่มีประสิทธิภาพสูงมาก เวลาพ่นสารเคมีนี้ วัชพืชหรือส่วนสีเขียวของใบไม้จะทำให้พืชเหี่ยวเหลืองและตายทันที เพราะฉะนั้นประสิทธิภาพดีมาก

“ปัญหาคือในระหว่างที่เราพ่นสารพาราควอตไม่ได้ลงที่หญ้าเพียงอย่างเดียว แต่ยังลงไปในดิน และถ้าเป็นดินใหม่ก็จะดูดซับพาราควอตได้ดี แต่กรณีของประเทศไทยพาราควอตถูกใช้มากกว่า 40 ปี เมื่อดินดูดซับสารเคมีเต็มที่มันก็ไม่มีการดูดซับจับไว้ พาราควอตที่ถูกพ่นใหม่จะล้นทะลักออกไป เวลาฝนตกสารเคมีพวกนี้จะไหลไปตามดินสู่ลำน้ำลำธาร” รศ.ดร.พวงรัตน์ ย้ำปัญหา

ไม่เพียงเท่านั้นยังมีในส่วนของรากพืชที่ต้องดูดซับน้ำ ถ้าหากแหล่งน้ำบริเวณนั้นมีสารพาราควอตปนเปื้อนนั่นหมายความว่าจะมีสารพิษเข้าไปสะสมอยู่ที่พืชต่างๆ ยังกระทบไปถึงสัตว์น้ำที่หากินตามหน้าดินอย่างกุ้งและปลาตัวเล็ก จะได้รับสารพิษ และปลาใหญ่ชนิดอื่นกินปลาเล็กเป็นวงจรไปเรื่อยๆ

รศ.ดร.พวงรัตน์ ยังวิพากษ์อีกว่า ประเด็นสำคัญที่สุดคือประเทศใช้สารพาราควอตมานาน สอดคล้องกับงานวิจัยที่เคยลงพื้นที่ จ.น่าน พบว่าตรวจเจอสารพาราควอตในปลา ปู กบ ความน่ากลัวที่ตามมาหากเรานำสัตว์เหล่านี้ไปทำอาหารที่ปกติจุดเดือดอยู่ที่ประมาณ 100 องศา แต่สารพาราควอตจุดเดือดอยู่ที่ 300 องศา ฉะนั้นจะต้ม ผัด แกง ยังไงสารพาราควอตก็ยังตกค้างอยู่เช่นเดิม ก่อนเข้าสู่ร่างกายของผู้บริโภคต่อไป

“เรื่องสารพาราควอตไม่ใช่เรื่องไกลตัว อย่างเช่น ในพื้นที่ที่มีการใช้น้ำและสารเคมีจำนวนมาก สิ่งที่พบคือเกษตรกรและคนทั่วไปตัดหญ้าบริเวณพ่นยาทิ้งไว้ เมื่อถูกใบไม้บาดตามร่างกายจะเกิดอาการแผลพุพองแสบร้อนจนไปสู่แผลเนื้อเน่า หรือกรณีชาวนาปลูกข้าวข้างๆ นาอ้อย โดยนาอ้อยมีพื้นที่สูงกว่าเมื่อพ่นยาตัวนี้ไปจึงกระจายลงสู่นาข้าวที่เตี้ยกว่า สิ่งที่ตามชาวนาที่เข้ามาดูต้นข้าวมีอาการปวดแสบปวดร้อนที่แผลจนกลายเป็นเนื้อเน่า” ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยฯ ระบุ

รศ.ดร.พวงรัตน์ เสริมอีกว่า ในพื้นที่อีสานตอนบนนิยมปลูกอ้อยจำนวนมาก พบมีการใช้สารพาราควอตอย่างเข้มข้นแพร่หลาย ส่งผลให้เฉลี่ยต่อปีต้องมีคนถูกตัดขาหลายคนทุกปี และมีสถิติเกิดโรคเนื้อเน่าจำนวนมาก อย่างเช่น จ.หนองบัวลำภู ประมาณ 47 คน/ประชากร 1 แสนคน ถ้าหากพื้นที่ทั่วไปเฉลี่ยอยู่ประมาณ 21 คน/ประชากร 1 แสนคน

เช่นเดียวกับผลกระทบหากมีการสัมผัสสารเหล่านี้มีผลเชื่อมโยงโอกาสเกิดโรคเนื้อเน่า ซึ่งเป็นข้อมูลจากการทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค และตอนนี้เกิดปัญหาลักษณะดังกล่าวขึ้นทั่วอีสานตอนบน ทั้งหมดไม่ใช่การสัมผัสสารพาราควอตโดยตรง แต่เพียงแค่มาจากดิน น้ำ สัตว์ พืชที่มีสารเคมีเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เพื่อไขข้อข้องใจว่าทำไมชาวบ้านและเกษตรกรถึงมีการใช้สารเคมีจำนวนมาก รศ.ดร.พวงรัตน์ เปิดเผยว่า ชาวบ้านและเกษตรกรมีการใช้สารพาราควอต 4 เท่าถึง 8 เท่าซึ่งสูงกว่าค่ากำหนด เนื่องจากพ่นฆ่าหญ้าพืชครั้งเดียวไม่ตายจึงต้องเพิ่มความเข้มข้นพาราควอตเข้าไป เพื่อให้หญ้าตาย

แล้วทำไมชาวบ้านเกษตรกรถึงใช้สารเคมีจำนวนมาก รศ.ดร.พวงรัตน์ เฉลยคำตอบว่า ในพื้นที่อีสานมีเกษตรกร 2 กลุ่ม 1.เจ้าของแปลงพืช 2.มือปืนรับจ้างพ่นหญ้า โดยเฉพาะมือปืนผู้รับจ้างพ่นหญ้าถ้าไม่สามารถกำจัดหญ้าที่ดื้อยาให้หมดภายในครั้งเดียว นอกจากไม่ได้ค่าจ้างยังถูกยึดเงินประกันอีก ดังนั้นจะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้อยู่ได้ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้มีการเพิ่มสารพาราควอต 4 เท่า 8 เท่า สุดท้ายไปตกค้างในดิน น้ำ พืช ร่างกายมนุษย์

ถึงเวลาที่ต้องมีการกระจายองค์ความรู้ต่อการขจัดวัชพืชต่างๆ ที่ไม่ใช้สารเคมี ถึงแม้จะมีการเรียกร้องให้ยกเลิกใช้และนำเข้าสารพาราควอต หรือสารตัวอื่นก็ตาม แต่เชื่อว่าสุดท้ายก็ยังนำเข้าสารเคมีที่มีคุณสมบัติเหมือนพาราควอตเข้ามาใช้เช่นเดิมกลายเป็นวงจรเช่นนี้ เพียงแค่เปลี่ยนชื่อและยี่ห้อเท่านั้น