posttoday

เชื่อมโยงได้กับทุกพรรค สร้าง"รปช."ให้เป็นต้นแบบ

24 มิถุนายน 2561

เปิดใจ "เอนก เหล่าธรรมทัศน์" ว่าที่หัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย กับทิศทางของพรรคและบทบาทของ "สุเทพ เทือกสุบรรณ"

เปิดใจ "เอนก เหล่าธรรมทัศน์" ว่าที่หัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย กับทิศทางของพรรคและบทบาทของ "สุเทพ เทือกสุบรรณ"

******************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

กลายเป็นประเด็นให้เกิดคำถาม หลังจาก“เอนก เหล่าธรรมทัศน์” อดีตประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ตัดสินใจกระโดดกลับเข้าสู่สนามการเมือง ภายใต้สังกัด “พรรครวมพลังประชาชาติไทย” หรือ รปช. ซึ่งมีมวลชนอย่าง กปปส. คอยให้การสนับสนุน

เอนก ว่าที่หัวหน้าพรรค รปช. เปิดใจผ่าน “โพสต์ทูเดย์” โดยยอมรับว่า “ถูกทาบทามเข้ามาในฐานะผู้ก่อตั้งพรรค ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ด้วย แต่ไม่ใช่คุยกับคุณสุเทพคนเดียว และคุยกันหลายรอบก่อนตัดสินใจ มาทำ รปช. ให้เป็นพรรคคุณภาพใหม่ในหลายๆเรื่อง และสามารถทำงานร่วมกับพรรคการเมืองอื่นอย่างกว้างขวาง” เสียงหนักแน่น

“ผมคิดว่า การที่ผมมาทำ รปช. ก็ยังเชื่อมโยงได้กับทุกพรรค แต่อย่าเพิ่งรีบสรุปว่าจะไปเป็นรัฐบาลแห่งชาติ เรายังไม่รู้สถานการณ์ข้างหน้า แต่ท่าทีพื้นฐานของพรรคการเมือง ไม่ใช่เฉพาะ รปช.ของทุกๆ พรรค เป็นท่าทีหลวมๆ หน่อย ไม่ใช่ท่าทีเคร่งขรึม ตึง อย่าไปเอาอดีตมากำหนดปัจจุบันและอนาคตจนเกินไป และอย่าไปตั้งคำถามเก่าๆ ตอบแบบเก่าๆ แล้วมันก็จะวนไปแบบเก่า”

ทั้งนี้ เชื่อว่าแนวร่วม กปปส. คงไม่ได้มองว่าการมาตั้งพรรค รปช. จะเป็นการเปลี่ยนจุดยืนอะไร หลังจากได้คุยกับชาว กปปส. อยู่เป็นระยะๆ รวมทั้งในต่างจังหวัด แต่ก็ต้องอธิบาย เนื่องจากเป็นภารกิจแต่ละช่วง ทว่า ตรงนี้จะมีส่วนสร้างพรรค ให้เป็นทรานส์ฟอร์มที่สุด เช่น ตอนนี้ยังไม่มีหัวหน้า หรือเลขาฯ พรรค

“แม้หลายคนพูดว่า ผมจะได้เป็นหัวหน้าแน่ แต่ก็รับฟังด้วยอาการเฉยๆ ตอนเราทำแบบนี้ จะได้เป็นหรือไม่ได้เป็นอะไร แล้วแต่มวลสมาชิกผู้ก่อตั้ง สมมติเขามอบให้ผมเป็นหัวหน้าพรรค ก็น้อมรับ แต่พรรคนี้จะไม่มีหัวหน้าที่อยู่ในตำแหน่งนาน”

อย่างไรก็ดี จากการพูดคุยกับผู้ร่วมก่อตั้งพรรคส่วนใหญ่เห็นพ้อง คือ ให้หัวหน้าและเลขาฯ พรรค มีวาระดำรงตำแหน่ง 2 ปี แล้วสลับให้คนอื่นขึ้นมา ขณะเดียวกันอีกประมาณ 1 เดือน จะเห็นหน้าตาของกรรมการบริหารพรรค ซึ่งเป็นชุดชั่วคราว 9 คน เพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

“จุดที่พูดไปทั้งหมด เราเน้นที่ผู้ก่อตั้ง ซึ่งตรงนี้ก็หลายร้อยแล้ว และเมื่อมี 500 คน เราก็จะมีสมาชิก เสร็จแล้วเราถึงมาใช้วิจารณญาณกันอย่างจริงจัง เพื่อให้ได้กรรมการบริหารพรรค 9 คน รวมถึงหัวหน้าและเลขาพรรคฯ ก็จะได้รับความไว้วางใจจากมวลสมาชิก จากนั้นเราจะมีกรรมการวินัยและจริยธรรม ซึ่งมาจากการเลือกขอสมาชิก เพื่อสอดส่อง ตรวจสอบ ตัดสิน กรณีที่กรรมการบริหารพรรคเราทำผิด หรือมีจุดบกพร่อง แม้กระทั่ง สส. หรือรัฐมนตรีของเรา”

เชื่อมโยงได้กับทุกพรรค สร้าง"รปช."ให้เป็นต้นแบบ

เอนกชี้ให้เห็นว่า ที่ผ่านมาพรรคการเมืองแทบไม่ได้รับผิดชอบคนของตัวเอง ต้องไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ดูแลตรวจสอบ ดังนั้น จำเป็นต้องมีกลไกภายในพรรค ซึ่งธรรมาภิบาลต้องเริ่มที่พรรค ดังนั้น คิดว่าไม่จำเป็นต้องมีใครผูกขาดการนำภายในพรรค

นอกจากนี้ ส่วนตัวคิดทำโรงเรียนพรรคการเมือง และที่มาสมัครเป็นผู้ก่อตั้ง รปช. ก็เพื่อมาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนพรรคการเมือง เพราะเป็นอีกทางในการนำทางความคิด จิตวิญญาณ ความรู้ โดยสมาชิกพรรครวมถึงผู้ก่อตั้งก็ต้องเข้าโรงเรียนพรรคการเมืองนี้ด้วย ซึ่งใกล้เคียงกับที่ทำให้ กกต.ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาพรรคการเมือง

“ผมจะทำสถาบันวิทยาการพรรคการเมือง คิดเอาไว้ รัฐมนตรี หรือ สส.ของพรรค ต้องผ่านหลักสูตรนี้ ไม่ใช่เข้าไปนั่งเล่นๆ แล้วจบหลักสูตร ต้องสอบด้วย ซึ่งถ้าทำได้มันดีกับทุกพรรค แต่มันยาก ไม่รู้จะเอาหรือไม่ แต่ รปช. ผู้ก่อตั้งล้วนเอาด้วย เพื่อทำให้ทักษะ ความเข้าใจ ของคนในพรรค มันไม่ห่างกันมาก”

เอนกยอมรับการทำพรรคการเมืองรอบนี้แตกต่างจากสมัยทำพรรคมหาชน เพราะตอนนั้นรู้ว่าใครมาเป็นหัวหน้า ใครเป็นเจ้าของ เป็นเลขาฯ แต่ครั้งนี้แล้วแต่สมาชิกเลือก ส่วนตัวยังมั่นคงจะให้เป็นอะไรก็เป็นอย่างนั้น ไม่มีอะไรต้องมาผิดหวังหรือสมหวัง เพราะเป็นการทำตามภาระหน้าที่

สำหรับบทบาทของสุเทพ อเนกยืนยันว่า มาในฐานะผู้ช่วยหรือโค้ชให้กับ รปช. จากนั้นค่อยๆ ห่างออกไปเมื่อพรรคแข็งแรง และคงไม่กลับมาเล่นการเมืองอีก ไม่ว่ารองนายกฯ หรือรัฐมนตรี เขาอยากมีชีวิตสงบ สันติ อันนี้เป็นภารกิจท้ายๆ ในชีวิตที่จะทำ คือ สร้างพรรคการเมืองที่มีคุณภาพให้เกิดขึ้น

“ไม่ใช่เขาเพิ่งมาคิด เพราะระหว่างที่เขาชุมนุม ผมก็ฟังจากหลายคน คุณสุเทพคิดเรื่องพรรคแบบนี้มาตั้งแต่ตอนชุมนุมแล้ว หลายอย่างเป็นการวิจารณ์พรรคการเมืองทั้งหลายที่มีมา ไม่ใช่พรรคใดพรรคหนึ่ง และคิดว่าจะต้องมีพรรคการเมืองแบบนี้ขึ้นมา ผมก็มาแปลกใจ ในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูป กับสิ่งที่ กปปส. นักเคลื่อนไหวต่อสู้ และแม้บางคนไม่ได้เป็น กปปส. อาจจะเป็น 14 ตุลาฯ พฤษภาฯ 35 เขาก็คิดคล้ายกับเรา ผมคิดว่าถึงเวลาการเมืองไทย เราคิดแตกตัว สุกใส เปลี่ยนแปลงคุณภาพขึ้น ก็ถือว่าดี”

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสุเทพคงไม่กลับไปสู่การเมืองข้างถนนอีก เพราะมันถึงควรแก่เวลาบ้านเมืองต้องสงบ สันติ ซึ่งคนใน กปปส. เปลี่ยนวิธีคิดมาได้เรื่อยๆ ที่พูด คือ เป็นนิมิตหมายดี ที่คนจำนวนหนึ่งเปลี่ยนความคิด พัฒนาทฤษฎีขึ้นมา แล้วก็เสนออะไรใหม่ๆ ให้แก่บ้านเมือง ดังนั้น ถ้าจะมีประชาธิปไตยก็ควรเริ่มจากพรรค และให้ประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศ ได้เป็นเจ้าของพรรคจริงๆ เพื่อให้นักการเมืองพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมา

เชื่อมโยงได้กับทุกพรรค สร้าง"รปช."ให้เป็นต้นแบบ

แม้มีหลายฝ่ายมองโครงสร้าง รปช. ไม่ต่างจากพรรคการเมืองในอดีต อาทิ พลังธรรม ประชาธิปัตย์ ซึ่งเกิดจากการชุมนุมมาก่อน แต่คิดว่าความพยายามส่วนบุคคลสำคัญ แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของบ้านเมืองด้วย และคิดว่ามาถึงตอนนี้สถานการณ์บ้านเมือง คนจำนวนมากเชื่อว่า มันจะต้องอะไรใหม่ๆ ตอบคำถามใหม่ มีภารกิจใหม่ๆ จะปล่อยให้นักการเมือง พรรคการเมือง ให้กลับไปเป็นอย่างเดิมไม่ได้

“เชื่อว่าเราจะได้รับการสนับสนุน เพราะเท่าที่เราเห็นผู้ก่อตั้งจำนวนมาก เมื่อชวนเขาก็ต้องจ่ายให้เราคนละ 5 หมื่นบาท เป็นทุนประเดิม ซึ่งก็แปลกใจมีคนเอาเยอะ สมาชิกทั่วไป 365 บาท ประเด็นคือ พรรคดีๆ ไม่มีฟรี ไม่มีขาย พรรคดีๆ ต้องมาช่วยกันทำ ช่วยกันเสียสละแรงกาย แรงใจ แรงทรัพย์ ทำให้การมีส่วนร่วมก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง 5 หมื่นบาท เป็นไปตามกฎหมาย แต่ที่ไม่เอา 1,000 บาท เพราะเราอยากได้ความจริงจัง ส่วนคนไม่ถึง 5 หมื่น ก็เป็นสมาชิก แต่ถ้าคนไหนดีก็ให้บทบาทอยู่”

สมมติว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าได้รับเลือกให้เป็นนายกฯ เอนกบอกด้วยความมุ่งมั่น อยากเห็นรัฐบาลมีความมั่นคง และดึงฝ่ายค้านมาร่วมในกิจการรัฐบาลให้ได้มากที่สุด ไม่ใช่แค่ทำหน้าที่เพียงอภิปรายไม่ไว้วางใจ ให้ฝ่ายค้านมาช่วยคิด ท้วงติง ตรวจสอบ กลั่นกรอง หรือรัฐบาลอยากทำอะไรมาเล่าให้ฝ่ายค้านฟัง แล้วฝ่ายค้านจะช่วยได้อย่างไร แต่ทำได้อย่างไรก็ต้องค่อยๆ ว่ากัน ตอนนี้ต้องสร้างทัศนะพื้นฐานให้แก่พรรคตัวเอง แล้วของพรรคอื่นๆ ด้วย ในการเข้ามารับภารกิจใหม่ๆ จะกลับไปเป็นขั้ว ฝ่ายอีก คงลำบาก

นอกจากประเด็นดังกล่าวแล้ว เอนกบอกว่า ต้องไม่ลืมเรื่องของปากท้องประชาชน หรือเศรษฐกิจครัวเรือน จะมองเศรษฐกิจระดับมหภาคเท่านั้นไม่ได้ ทำอย่างไรให้เงินไปอยู่กับคนระดับกลางและล่างให้มากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ คิดว่าประชาชนต้องการความหวัง

เอนกบอกสิ่งที่อยากเห็นที่สุด คือ สปิริตทางการเมือง ในการร่วมแรงร่วมใจกันให้มากที่สุด เหมือนยุโรป อาทิ ออสเตรีย อิตาลี เยอรมนี พยายามทำให้เกิดแนวร่วมที่กว้างขวางที่สุด เพราะว่าไม่สามารถทิ้งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้ออกไปได้ง่ายๆ และเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยความเป็นไปได้ การเมืองไม่ใช่ศาสตร์ที่มีเฉพาะความขัดแย้ง

สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรค รปช. จะได้ที่นั่งเท่าไรในรัฐบาลนั้น ให้ประเมินไปก็เท่านั้น แต่ส่วนตัวตั้งใจไว้ประมาณ 20 ขึ้น หากได้รับความร่วมมือจากผู้เคยสนับสนุน กปปส.สักจำนวนหนึ่ง และเรื่องภาพซ้อนระหว่าง กปปส.กับประชาธิปัตย์ จะมีผลหรือไม่ ก็อยู่ที่การตัดสินใจของประชาชน รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะได้กลับมาอีกหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับสังคมตัดสินเช่นกัน

เอนก ในฐานะผู้มากประสบการณ์ทางการเมือง มองการเมืองไทยที่ผ่านมาเป็นระบบไฮบริด และคนไทยส่วนใหญ่รับได้ทั้งสองระบบ คือ บางครั้งใช้ระบบเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย และบางครั้งก็หันไปหาการยึดอำนาจ ให้ทหารดูแลบ้านเมืองแล้วร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าดูแบบนี้มันจะงงบ้านเมืองเจริญก้าวหน้ามาได้อย่างไร

“คำตอบของผมท่ามกลางความปั่นป่วน สับสน และความไม่ต่อเนื่อง แต่เรามีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ยั่งยืนต่อเนื่อง เป็นศูนย์รวมใจของคนมาก ฉะนั้น ถ้าเป็นการเมืองที่เห็นด้วยสายตา จะรู้สึกว่าไม่มีอนาคต ไม่มีความหวัง หวั่นวิตกว่าจะซ้ำรอยอีก ในใจผมก็หวังไม่อยากให้เป็นไฮบริด มีแต่ระบบรัฐธรรมนูญ เลือกตั้ง ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นมาเป็นรัฐบาลและฝ่ายค้าน

กับอีกอย่างคิดว่า น้อมรับพระราชปรีชาญาณ พระบรมราชวินิจฉัย อะไรต่างๆ นำมาใช้เป็นหลักชัยในการนำพาประเทศด้วย ถ้าไปถึงขั้นนั้น เราไม่เรียกว่าบ้านเมือง แต่เราจะเรียกว่าแผ่นดิน ผมคิดว่าทำอย่างไรให้สองเรื่องเข้าหากันได้มากที่สุด เป็นพลเมืองและพสกนิกร เป็นนักการเมือง เป็นพสกนิกร ของพระเจ้าอยู่หัวที่รู้รักสามัคคีกันให้มากที่สุด เวลาขัดแย้งทำอะไรไม่ได้ แล้วพึ่งพระบารมีให้มาก โดยไม่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท”