posttoday

ธรรมศาสตร์ไม่มีวันร้าง ปรับตัวเร็ว ไม่ยึดติด แข่งต่างชาติ

30 พฤษภาคม 2561

มุมมองจาก"รศ.เกศินี วิฑูรชาติ" อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับวิกฤตที่สถาบันอุดมศึกษากำลังเผชิญ

มุมมองจาก"รศ.เกศินี วิฑูรชาติ" อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับวิกฤตที่สถาบันอุดมศึกษากำลังเผชิญ

*****************************

เรื่อง : เอกชัย จั่นทอง / ภาพ : อมรเทพ โชติเฉลิมพงษ์

เขย่าวงการอุดมศึกษาโลกและอุดมศึกษาไทย หลังปรากฏข่าวมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วโลกต่างปิดตัวลงอย่างน่าตกใจ โดยเฉพาะช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เห็นชัดเจนอย่างมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาปิดตัวกว่า 500 แห่ง จากทั้งหมดกว่า 4,500 แห่ง คงต้องมองย้อนกลับมาดูสถานการณ์อุดมศึกษาในประเทศไทย ในขณะนี้ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดอย่างไร

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ฉายภาพว่า วิกฤตอุดมศึกษาไทยที่เป็นเรื่องใหญ่ในขณะนี้ คือ เรื่องคุณภาพทางการศึกษา หากเทียบเคียงกับเอเชีย ประเทศไทยยังไม่ทัดเทียมและต้องพัฒนาอีก ทั้งในเรื่องคุณภาพ ระบบบริหารงาน คุณภาพคน และวิชาการ ยังขาดประสิทธิภาพ

เช่นเดียวกัน อุดมศึกษายังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่ถาโถมเข้ามาอย่างรวดเร็ว ทำให้การเรียนการสอนสามารถเรียนรู้ได้ทุกเวลาผ่านระบบออนไลน์ จึงเป็นปัญหาที่ต้องปรับตัวให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญอัตราการเกิดของเด็กน้อยลง มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ส่งผลให้เด็กเข้าระบบการศึกษาน้อยลง ทำให้บางมหาวิทยาลัยไม่สามารถรับเด็กเข้าเรียนได้ตามเป้าหมาย หรือไม่ได้แม้จะเปิดการสอนบางสาขาวิชา ทำให้ต้องปรับกันขนานใหญ่ เพื่อให้ตรงตามความต้องการของผู้เรียน ใน Gen ต่างๆ รวมถึงโอกาสการเรียนกับต่างประเทศ ทั้งหมดนี้ถือเป็นวิกฤต ต้องมาแก้โจทย์ว่าต้องแก้ไขอย่างไร

สถานการณ์และปัจจัยที่ท้าทายที่สุดในแวดวงการศึกษา อธิการบดี มธ. กล่าวว่า ปัจจุบันมีจำนวนเด็กเข้าสู่ระบบน้อยลง ผนวกกับเทคโนโลยีดิจิทัลที่
พรั่งพรูเข้ามา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต้องปรับตัวอยู่เสมอ โดยเน้นเรื่องการศึกษาด้านความเป็นนานาชาติที่มีกว่า 291 หลักสูตร หลังดำเนินการมานานกว่า 10 ปี โดยนักศึกษาไม่ต้องเรียนกับมหาวิทยาลัยตลอด แต่จะส่งไปเรียนไปฝึกงานในต่างประเทศ เพื่อให้มีความรู้มากขึ้น สร้างเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้นักศึกษามีความรู้กว้างขวาง และเกิดนักศึกษาแลกเปลี่ยน

ธรรมศาสตร์ไม่มีวันร้าง ปรับตัวเร็ว ไม่ยึดติด แข่งต่างชาติ

ในข้อกังวลเรื่องมหาวิทยาลัยไทยจะร้างไร้นักศึกษานั้น ประเด็นนี้ รศ.เกศินี ยืนยันว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ “จะไม่ร้าง” เพราะมีการปรับตัวมาโดยตลอด พัฒนาการศึกษาด้านนานาชาติในทุกมิติ และไม่จัดการเรียนการสอนแบบเดิม ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา ได้นำการเรียนรู้ในรูปแบบ Active Learning มาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน เช่น การเรียนโดยใช้ Simulation Game ทำให้เด็กนักศึกษามีโอกาสแข่งกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ

“ถ้าเราเพิ่งเริ่มปรับตัว น่าจะแย่ แต่เราเริ่มสร้างเริ่มปรับตัวมานานแล้ว ประกอบกับอาจารย์ที่จะเข้ามาสอน จะต้องผ่านการอบรมเรื่อง Active Learning มากขึ้นเรื่อยๆ มุ่งเน้นให้เด็กเรียนด้วยเทคโนโลยี ให้สามารถประยุกต์ใช้ได้ สามารถตามโลก ตามธุรกิจได้ทัน อีกทั้งเด็ก Gen Z ไม่ชอบรอ และชอบทำงานคนเดียว ทาง มธ.ได้เตรียมระบบไอทีรองรับไว้ ส่วนอาจารย์ผู้สอนจะเป็นผู้สนับสนุนให้เด็กได้เรียนรู้”

รศ.เกศินี ยังเผยถึงจำนวนนักศึกษาว่า ในอดีตนักศึกษา มธ.เคยมีจำนวนสูงถึง 9,000 กว่าคน จากที่ตั้งเป้าไว้ที่ 1-1.1 หมื่นคน แต่ในปัจจุบันมีจำนวนนักศึกษาอยู่ที่ 8,200-8,800 คน เฉพาะนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ทั้งนี้ตั้งใจอยากรับนักศึกษาประมาณ 7,000 คน/ปี จำนวนยอดผู้สมัครเรียนนั้น พบว่าในหลักสูตรสายสุขศาสตร์ (ทันตแพทย์ พยาบาล แพทย์ ฯลฯ) เพิ่มขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ส่วนสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลดลงประมาณ 3% มหาวิทยาลัยเป็นคนคอยแนะนำให้ผู้เรียนก้าวสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย ผ่านการสนับสนุนจากอาจารย์ และสิ่งอำนวยความสะดวก ต้องปรับบทบาททุกฝ่าย รวดเร็ว โดยไม่ยึดติดกับสิ่งเดิม สำคัญที่สุดทางสภามหาวิทยาลัย ต้องเข้ามาช่วยส่งเสริมให้มากขึ้นเพื่อให้เกิดการตื่นตัว