posttoday

ความหวังปลดล็อคโซ่ พ.ร.บ.ป่าไม้ สู่ป่าเศรษฐกิจ-เงินออมยามเกษียณ

21 พฤษภาคม 2561

ฟังความเห็นจากเกษตรกร เสนอรัฐบาลปลดล็อคกฎหมายป่าไม้ให้ปลูกสวนป่าเศรษฐกิจ ปลูกไม้มีค่าเพื่อสร้างรายได้

ฟังความเห็นจากเกษตรกร เสนอรัฐบาลปลดล็อคกฎหมายป่าไม้ให้ปลูกสวนป่าเศรษฐกิจ ปลูกไม้มีค่าเพื่อสร้างรายได้

************************

โดย...เอกชัย จั่นทอง

นับเป็นอีกความหวังของเกษตรกรและประชาชนทั่วไป เมื่อรัฐบาลปัจจุบันกำลังจะปลดล็อคเปิดทางให้กับการทำเกษตรชาวบ้านในการปลูกไม้มีค่าในที่ดินกรรมสิทธิ์ของตัวเอง ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจราคาแพง เช่น ไม้สัก ไม้พะยูง ไม้ชิงชัน ฯลฯ หลังจากเมื่อช่วงปลายเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล (กขร.) ครั้งที่ 3/2561 เห็นชอบหลักการตามกรมป่าไม้ เสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการปลูกไม้มีค่าในที่ดินกรรมสิทธิ์ เพราะปัจจุบันยังติดกฎหมาย พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 ที่ยังเป็นไม้หวงห้ามจึงต้องมีการอนุญาตตามกฎหมายป่าไม้

ชนะชัย เสือเพ็ง ผู้ก่อตั้งชมรมเกษตรกรผู้ปลูกไม้พะยูงแห่งประเทศไทย กว่า 20 ปี คลุกคลีทำป่าสวนเศรษฐกิจในประเทศไทย ให้ความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวอย่างน่าสนใจว่า ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก หากรัฐบาลมีการปลดล็อค พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 เพราะว่ากรณีของไม้ประเภท ก.ทุกชนิด เช่น ไม้สัก ไม้ยาง ไม้พะยูง ไม้ชิงชัน ฯลฯ ถือเป็นพันธุ์ไม้ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเองสูง ที่สำคัญตลาดโลกมีความต้องการสูงมาก แต่เดิมที่มีการปิดล็อคไว้ทำให้การป้อนเครื่องไม้สู่อุตสาหกรรมเครื่องเรือนทำได้ยาก

“ประเทศไทยมีภูมิประเทศเอื้อต่อการเจริญเติบโตของไม้เหล่านี้ เพราะว่าโซนนี้อยู่ในเขตร้อนชื้นจึงได้ไม้ที่มีคุณภาพดีมาก ส่วนการผลิตไม้ป้อนสู่อุตสาหกรรมเครื่องเรือนในทวีปต่างๆทั่วโลกไม่สามารถทำได้ดีเท่าประเทศไทย ดังนั้นถ้ามีการปลดล็อคกฎหมายนี้จริง เรื่องการซื้อขาย ตัด ชัก ลาก แปรรูปต่างๆ จะนำรายได้เข้าประเทศมหาศาล ซึ่งการดำเนินการปลดล็อคต้องชัดเจน เนื่องจากไม้ป่ากับไม้บ้านมันแยกไม่ออกว่าอันไหนมาจากป่า และอันไหนมาจากสวนป่าเศรษฐกิจ จึงต้องมีกติกาชัดเจนว่าสามารถสร้างสวนป่าเศรษฐกิจ ไม่ใช่ใครปลูกใครขายก็ได้ไม่อย่างนั้นไม้ป่าไม้บ้านปนกัน” ผู้ก่อตั้งชมรมฯ กล่าว

ชนะชัย ยังเล่าอีกว่า ถ้าเป็นไม้ประเภท ก. ตามกฎหมายถือว่าไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน ตรงนี้จะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ค่อนข้างสูง เช่น เมื่อมีการปลูกต้นไม้ในที่ดินแล้วเข้าสู่กระบวนการนิติกรรมทางกฎหมาย ทำให้เอกสารชัดเจน ซึ่งการทำเอกสารต้องมีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก ไม่งั้นคนเบื่อหน่าย ดังนั้นเมื่อไม่เป็นส่วนควบกับที่ดิน ศักดิ์และสิทธิ์ของต้นไม้เหล่านี้เท่ากับทรัพย์สิน 1 ชิ้น บนที่ดินแปลงนั้น หรือการไปขอสินเชื่อกับธนาคารแล้วมีการประเมินราคาที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และต้องมีการประเมินราคาต้นไม้ด้วย จึงไม่แปลกว่าจะเทียบเท่ากับอสังหาริมทรัพย์ ส่วนต้นไม้ชนิดอื่นที่ปลูกบนที่ดินซึ่งไม่ใช่ไม้ประเภท ก. จะประเมินราคาเป็นที่ดินเปล่าทันที

นอกจากนี้ ประชาชนยังมีทรัพย์สินไปแปลงสินทรัพย์เป็นทุนในอนาคตได้ เพราะมีมูลค่าในตัวเอง อีกทั้งยังกลายเป็นเงินเก็บให้กับเกษตรกรในบั้นปลายชีวิต มีความเป็นอยู่ที่มั่นคงเพราะเกษตรกรส่วนใหญ่แล้วไม่มีเงินบำเหน็จบำนาญไว้ใช้ เมื่อสังคมผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น อย่างน้อยต้นไม้เหล่านี้ก็เป็นเงินออมได้ในอนาคต ทั้งยังเป็นมรดกสู่ลูกหลาน และทำให้คนหันมาปลูกต้นไม้กันเพิ่มมากขึ้นสร้างผลดีต่อป่าสภาพแวดล้อมอีกด้วย แต่ทางภาครัฐจะต้องจัดหาช่องทางตลาดการค้าไม้อย่างถูกต้อง ไม่ใช่ปลูกแล้วไม่มีช่องทางจำหน่ายต่อไป และต้องไม่ซื้อขายภายในประเทศเท่านั้น เนื่องจากราคาอาจไม่สูง ควรส่งเสริมเปิดตลาดสากลส่งออกไปขายต่างประเทศด้วย

ผู้ก่อตั้งชมรมเกษตรกรผู้ปลุกไม้พะยูงฯ ได้ยกตัวอย่างราคาต้นพะยูงว่า ราคาปี 2556 ราคาพะยูงไทยติดอันดับ 4 ของโลก อันดับที่ 1 ต้นพะยูงสายพันธุ์เวียดนาม ขนาดต้น 1 ลูกบาศก์เมตร ซื้อขายราคา 2 ล้านดอลล่าร์ อันดับที่ 2 ต้นพะยูงสายพันธุ์ไหลหลำ หรือประดู่ลาย ขนาดต้น 1 ลูกบาศก์เมตร ซื้อขายราคา 1.5 ล้านดอลล่าร์ อันดับที่ 3 ต้นพะยูง สายพันธุ์อินเดีย ขนาดต้น 1 ลูกบาศก์เมตร ซื้อขายราคา 3.5 แสนดอลล่าร์ และอันดับที่ 4 ต้นพะยูง สายพันธุ์สยามโรสวูด ขนาด 1 ลูกบาศก์เมตร ซื้อขายราคา 9.5- 1.2 แสนดอลล่าร์ จึงไม่แปลกใจว่าทำไมจึงมีการลักลอบตัดไม้เอาชีวิตมาทิ้งไว้

แม้ราคาไม้พะยูงจะอยู่อันดับที่ 4 หากมีการเข้าสู่ตลาดสากลอย่างเต็มรูปแบบ รายได้จะเข้าสู่ประเทศไทยมากขนาดไหน เพราะทวีปอื่นๆไม่สามารถปลูกไม้ประเภทนี้ได้ ดังนั้นประเทศไทยและเพื่อนบ้านจะเป็นแหล่งป้อนเครื่องไม้สู่อุตสาหกรรมเครื่องเรือนอย่างเต็มรูปแบบสู่ตลาดโลก

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ในหลายประเทศยังไม่มีการปลดล็อคเรื่องนี้อย่างเต็มรูปแบบ หากเราชิงปลดล็อคก่อนจะเป็นโอกาสดีไม่น้อยในการสร้างรายได้จำนวนมหาศาลเข้าสู่ประเทศไทย