posttoday

มหา’ลัยต้องทำให้เด็กอยากเรียน จบมาแล้วมีงานทำ

21 พฤษภาคม 2561

2มุมมองจากนายกองค์การนักศึกษาจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ที่มองตรงกันว่ามหาวิทยาลัยต้องผลิตบัณฑิตที่ตอบสนองต่อตลาดแรงงาน

2มุมมองจากนายกองค์การนักศึกษาจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ที่มองตรงกันว่ามหาวิทยาลัยต้องผลิตบัณฑิตที่ตอบสนองต่อตลาดแรงงาน

****************************

โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ

โลกยุคปัจจุบันได้พัฒนาก้าวไกลทางเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้ทุกวันนี้ไม่ว่าใครสามารถเรียนรู้เรื่องราวที่สนใจเฉพาะทางได้อย่างสะดวกรวดเร็วและตรงตามความต้องการ

กระทั่งเกิดเป็นค่านิยมของคนรุ่นใหม่ที่เริ่มมีทัศนคติไม่พึ่งพาใบปริญญาอีกต่อไป เพราะถึงแม้ว่าไม่ต้องเรียนจบปริญญา ก็สามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้เช่นกัน ปัจจัยเหล่านี้กำลังทำให้หลายมหาวิทยาลัยต้องเร่งปรับหลักสูตรการเรียนการสอน ไม่เช่นนั้นอาจถึงเวลาต้องปิดตัวลง เนื่องจากไม่มีผู้สมัครเรียนในที่สุด

ณัฏฐสิต สิริธรรมานุวงค์ นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้ความต้องการบุคลากรเปลี่ยนไปด้วย ดังนั้นทุกมหาวิทยาลัยต้องปรับตัวให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อทำให้เกิดความมั่นใจว่าเด็กที่จบการศึกษาออกมาจะมีงานทำอย่างแน่นอน หากทุกมหาวิทยาลัยทำได้ก็จะแก้ปัญหาไม่มีผู้มาสมัครเรียนได้ ก็จะทำให้มหาวิทยาลัยคงอยู่ต่อไปได้

“รูปแบบการเรียนการสอนที่ควรปรับปรุง เช่น คณะบัญชีที่ผมกำลังเรียนอยู่ ทุกวันนี้เริ่มมีหลายช่องทางที่ให้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เข้ามาทำงานแทนนักบัญชี สะท้อนได้จากโพลผลสำรวจที่ออกมา ปรากฏว่าแนวโน้มอาชีพเสี่ยงตกงานหนึ่งในนั้นมีนักบัญชีรวมอยู่ด้วย สิ่งเหล่านี้สร้างความกังวลให้กับนิสิต นักศึกษาดังนั้นมหาวิทยาลัยต้องค้นหาว่าจุดเด่นที่จะผลิตบุคลากรจบใหม่ให้มีความสามารถมากกว่าโปรแกรม หรือพัฒนาให้บุคลากรใช้งานโปรแกรมได้เหนือกว่า ก็จะทำให้ผู้สำเร็จการศึกษามีงานทำ” ณัฏฐสิต กล่าว

สำหรับอาจารย์ยุคใหม่ต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน เริ่มที่เปลี่ยนมาใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ส่วนเนื้อหาการสอนขึ้นอยู่กับรูปแบบของอาจารย์แต่ละคนใช้เทคนิคสร้างความน่าสนใจได้อย่างไร อาจารย์แต่ละท่านต้องหาความแตกต่างของตัวเอง เพราะความรู้จำนวนมากที่อยู่ในกูเกิล หรือวิกิพีเดีย ตอบสนองความสงสัยได้ระดับหนึ่ง ฉะนั้นเนื้อหาที่อาจารย์มีดีกรีระดับปริญญาเอกควรจะต้องดีกว่าสิ่งที่มีอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ตทุกวันนี้ โดยเฉพาะผลงานวิจัยของแต่ละคนจะสะท้อนมุมมองต่อโลก หรือเพิ่มความสามารถในเรื่องนั้นๆ มาใช้สอนนิสิต นักศึกษา ต่อไปอีกด้วย

ณัฏฐสิต กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือมหาวิทยาลัยต้องทำให้เด็กระดับมัธยมศึกษาเกิดความชอบอยากเข้ามาเรียนรู้ในสาขาวิชานั้นๆ อย่ารอให้เด็กไม่รู้ทิศทางแล้วเข้ามาค้นหาตัวเอง ซึ่งเมื่อรู้ตัวอีกทีก็เสียเวลาไปมากแล้ว หากพบว่าตัวเองไม่ได้ชอบในสิ่งที่กำลังเรียนอยู่ เรื่องนี้หากมหาวิทยาลัยแห่งใดทำได้ก่อน เชื่อว่าจะหลุดพ้นปัญหาไม่มีผู้สมัครเรียนในบางสาขาวิชา ยิ่งไปกว่านั้นไม่จำเป็นต้องวิ่งเข้าหาบริษัทเอกชน หากสาขาวิชานั้นปรับปรุงนำหน้าความต้องการของเอกชน ในทางกลับกันบริษัทเอกชนจะวิ่งเข้าหาบุคลากรที่มีคุณภาพในรั้วมหาวิทยาลัยเอง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าค่านิยมของคนรุ่นใหม่บางส่วนไม่พึ่งพาใบปริญญาบัตรเป็นใบเบิกทางสู่ความสำเร็จในชีวิต อยากรวยเร็ว เป็นความต้องการส่วนบุคคล ขึ้นอยู่กับความสามารถบริหารความเสี่ยงของตัวเองได้ ส่วนตัวคิดว่ามีเพียง 20-30% ที่จะไปถึงเส้นชัยได้จริง ยิ่งถ้าไม่พัฒนาตัวเองให้มีความรู้อาจจะไปไม่รอด ดังนั้นส่วนตัวมองว่าสังคมยังต้องการผู้ที่เรียนจบปริญญา มีองค์ความรู้ มีทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคม ก็จะเดินไปสู่ความสำเร็จในชีวิตได้มากกว่า

ศิริ เต็งไตรรัตน์ นายกองค์การนักศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทุกวันนี้อาจารย์หลายท่านเริ่มปรับตัวด้วยการสร้างรูปแบบการเรียนการสอนผ่านอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ เริ่มมีแบบทดสอบออนไลน์ เป็นการเพิ่มช่องทางการเรียนได้มากขึ้น แต่เรื่องนี้มีข้อเสียด้วย คือ ขาดการใส่ใจจากผู้สอน เพราะข้อดีของการสอนในรั้วมหาวิทยาลัยมีรายละเอียดของการสื่อสารระหว่างอาจารย์กับนิสิต

ศิริ กล่าวอีกว่า อาจารย์ควรมีผลงานวิจัยที่สามารถนำมาใช้งานได้จริง โดยยึดหลักสร้างงานวิจัยที่มีประโยชน์ต่อสังคมเป็นหลัก มากกว่าทำงานวิจัยเพื่อตอบสนองธุรกิจสตาร์ทอัพ ในส่วนของมหาวิทยาลัยต้องคิดถึงปลายทางของนิสิต นักศึกษาที่จะจบหลักสูตรออกมาต้องมีงานทำ ตอบสนองความต้องการของภาคเอกชน เข้าไปเริ่มทำงานได้ทันที

“ค่านิยมของคนรุ่นใหม่ เป็นการบริหารความเสี่ยงในชีวิตของแต่ละคน เพราะไม่ว่าจะมีหรือไม่มีใบปริญญา เราจะเห็นว่ามีทั้งประสบความสำเร็จและไม่สำเร็จเช่นเดียวกัน แต่อย่างน้อยสิ่งหนึ่งที่รับประกันความเสี่ยงในเส้นทางอาชีพ คือ ใบปริญญา เป็นพื้นฐานขององค์ความรู้ที่ผู้สำเร็จการเรียนออกมามีความพร้อมอย่างแท้จริง ย่อมเป็นการดีกว่าไม่มีสิ่งใดมายืนยันองค์ความรู้

...ส่วนตัวผมมองว่าชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยช่วง 4 ปี กับค่าเทอมที่จ่ายไปยังคงคุ้มค่า เพราะมีเรื่องของการอยู่ร่วมกันในสังคม ทำกิจกรรม รวมถึงบางช่วงเวลาที่ต้องเสียสละเพื่อสังคม ปัจจัยเหล่านี้คือการเตรียมตัวก่อนออกไปสู่สังคมการทำงานในชีวิตจริง” ศิริ กล่าวทิ้งท้าย