posttoday

เปิดสัญญา กทม.-มูลนิธิหอศิลป์ ชี้ขาด สิทธิบอกเลิกการบริหาร

19 พฤษภาคม 2561

ปัญหาการบริหาร “หอศิลป์” ที่ กทม.จะขอนำกลับไปดูแลจากเดิมที่ “มูลนิธิหอศิลป์กรุงเทพฯ” บริหารอยู่ เพราะปัญหาขาดทุนยังเป็นประเด็นถกเถียงในสังคม

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

ปัญหาการบริหาร “หอศิลป์” ที่ กทม.จะขอนำกลับไปดูแลจากเดิมที่ “มูลนิธิหอศิลป์กรุงเทพฯ” บริหารอยู่ เพราะปัญหาขาดทุนยังเป็นประเด็นถกเถียงในสังคม

แม้สุดท้าย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง จะยอมพักรบและยืนยันว่า กทม.จะไม่เข้าไปบริหารจัดการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร รอจนกว่าสัญญาที่ กทม.มีต่อมูลนิธิฯ จะสิ้นสุดในปี 2564 เพราะแรงต้านจากเครือข่ายศิลปินและภาคประชาสังคมศิลปวัฒนธรรมที่เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้ระงับไม่ให้ กทม.เข้าบริหาร จนนายกฯ เกรงจะเกิดม็อบบานปลาย จึงขอให้ผู้ว่า กทม.พิจารณาตามเสียงประชาชนก่อน

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นทิ้งปมให้ถกเถียงจากทั้งสองฝ่าย ฝั่งเครือข่ายศิลปิน ระบุว่า ถ้า กทม.นำหอศิลป์กลับไปบริหารเอง ก็จะย่ำแย่ เพราะข้าราชการไม่มีความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม

จุมพล อภิสุข ตัวแทนมูลนิธิฯ ที่เข้ายื่นหนังสือถึงนายกฯ ระบุว่า การบริหารของมูลนิธิฯ ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา หอศิลป์ได้ให้บริการด้านการจัดประชุมสัมมนาทางวิชาการและศิลปะกว่า 100 ครั้ง/ปี มีผู้เข้าร่วมมากกว่าปีละ 1 หมื่นคน ทั้งยังสามารถจัดหางบประมาณในการจัดกิจกรรมได้เองนอกเหนือจากที่ กทม.ให้งบอุดหนุนปีละ 40 ล้านบาท

ฝ่ายคณะกรรมการมูลนิธิฯ โดยกลุ่มศิลปินยืนยันอีกด้วยว่า นับแต่ที่บริหารหอศิลป์มาไม่มีขาดทุน ตรงกันข้ามมีรายได้เพียงพอ ซึ่ง กทม.แย้งว่า ไม่จริง เพราะถ้าไม่ได้งบที่ กทม.สนับสนุนให้ทุกปีเฉลี่ย 40-50 ล้านบาท มูลนิธิฯ ก็ไปไม่รอด

7 ปีที่ผ่านมา กทม.สนับสนุนงบให้หอศิลป์รวมประมาณ 300 กว่าล้านบาท ส่วนมูลนิธิฯ หารายได้จากการบริหารพื้นที่ได้ประมาณ 140 ล้านบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมตลอด 7 ปี ประมาณ 420 ล้านบาท แม้คำนวณแล้วยังเหลืองบราว 30-40 ล้านบาท แต่จะเห็นได้ว่างบประมาณหลักมาจาก กทม.ที่สนับสนุนหล่อเลี้ยงหอศิลป์

ขณะที่ เฉลิมพล โชตินุชิต ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กทม. แย้งว่า การที่มูลนิธิหอศิลป์ ระบุว่า สามารถบริหารจัดการหอศิลป์แล้วมีผลกำไรทุกปี เป็นความเห็นที่มองภาพรวมด้านเดียว เพราะเมื่อดูรายรับประจำปีพบว่า ทางหอศิลป์ได้รับเงินจากหลายส่วน ทั้งจากเงินบริจาคและเงินสนับสนุนของ กทม. ซึ่งมีการเสนอเรื่องมาขอเงินจาก กทม.ทุกปี โดยให้เหตุผลว่าหอศิลป์ขาดทุน

ทั้งนี้ มูลนิธิฯ เสนอเรื่องมาขอเงิน กทม. ปีละกว่า 70 ล้านบาท แต่เมื่อผ่านกระบวนการพิจารณาของสภา กทม. แล้วมีมติให้เงินสนับสนุนปีละ 40 ล้านบาท เป็นเช่นนี้นับตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา โดยหอศิลป์แจงรายจ่ายปีละประมาณ 70-80 ล้านบาท แต่ส่วนหนึ่งทางมูลนิธิหาเงินมาได้เองปีละ 30 กว่าล้านบาท เมื่อรวมกับเงินสนับสนุนของ กทม. อีก 40 ล้านบาท ผู้บริหารหอศิลป์ จึงไปสรุปว่ามีรายรับเพียงพอต่อรายจ่าย และเหลือเงินอีกเล็กน้อยก็ขอเก็บไว้เอง ดังนั้น ถ้า กทม.ไม่ให้เงินสนับสนุนอีก แสดงว่าหอศิลป์จะขาดทุนทันที แล้วจะเรียกว่าบริหารได้กำไรได้อย่างไร

“ทั้งหมดอยู่ที่คำพูดว่าจะพูดอย่างไร ถ้าหอศิลป์รวมเงินสนับสนุนของ กทม.กับเงินบริจาคที่หามาได้เอง ภาพรวมก็ไม่ขาดทุน แต่ถ้าไม่รวมเงินจาก กทม. แล้วมีค่าใช้จ่ายประจำกว่า 70 ล้านบาท จะไม่ขาดทุนได้อย่างไร โดยหลักแล้ว กทม.มีหน้าที่ให้เงินสนับสนุนในช่วงแรกเท่านั้นคือ 5 ปีแรกที่จัดตั้งหอศิลป์ขึ้นมา และเมื่อหอศิลป์ตั้งตัวได้เองแล้ว กทม.ก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินสนับสนุนอีก ยิ่งถ้าหอศิลป์ได้กำไรก็ต้องคืนเงินทุกบาททุกสตางค์กลับมาให้ กทม.ด้วย แต่ที่ผ่านมาทางมูลนิธิฯ แจ้งว่าเงินกำไรหรือเงินที่เหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว จะขอเก็บไว้ใช้จ่ายเองต่อไป ซึ่งตลอดมาที่ประชุมสภา กทม. ทุกยุคสมัยก็อนุญาตให้มาตลอด” เฉลิมพล กล่าว

นอกจากการบริหารที่ขาดทุนแล้วประเด็นที่ กทม.ทักท้วง คือ การบริหารจัดการหอศิลป์ที่ดูไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามที่ทำสัญญาไว้ การให้เช่าพื้นที่จัดกิจกรรมของหอศิลป์ราคาสูงมาก และเกิดความไม่โปร่งใส งบประมาณที่ กทม.สนับสนุน 40 ล้านบาท/ปี สูญเสียโดยเปล่าประโยชน์ กทม. จึงควรนำมาบริหารจัดการเอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปิดหนังสือสัญญาที่ทำขึ้นระหว่าง กทม. โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. กับมูลนิธิฯ โดย อภิรักษ์ โกษะโยธิน ประธานกรรมการมูลนิธิฯ เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2554 ในชื่อว่า “สัญญาให้สิทธิในตัวอาคารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ” มีทั้งหมด 10 ข้อ กำหนดเงื่อนไข เช่น ผู้รับสิทธิคือ มูลนิธิฯจะต้องจัดการแสดงนิทรรศการศิลปะตลอดทั้งปี ประกอบด้วย นิทรรศการขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก จะต้องมีกิจกรรมอบรมสัมมนาให้ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม ผู้รับสิทธิต้องอำนวยความสะดวก และไม่คิดค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมสำหรับผู้มาดูงานหอศิลป์

นอกจากนี้ ยังกำหนดด้วยว่า ผู้ให้สิทธิ คือ กทม.จะไม่ยินยอมให้ผู้รับสิทธิดำเนินกิจกรรมใดๆ ในหอศิลป์ที่ผิดกฎหมาย สร้างความเสื่อมเสียศีลธรรมอันดี และชื่อเสียงภาพลักษณ์ของหอศิลป์

ที่สำคัญ ในข้อ 10 ระบุว่า ในกรณีที่ผู้รับสิทธิบริหารจัดการอาคารหอศิลป์ไม่เป็นไปตามเงื่อนไข หรือหลักเกณฑ์ที่ผู้ให้สิทธิกำหนด หรือผู้รับสิทธิทุจริตหรือผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด หรือมีข้อขัดแย้งมิได้ปฏิบัติตามนโยบายของผู้ให้สิทธิ ผู้ให้สิทธิสามารถบอกเลิกสัญญานี้ได้ทันที ถ้าผู้ให้สิทธิมีความจำเป็นหรือมีเหตุผลอื่นใดจะต้องใช้หอศิลป์ผู้ให้สิทธิสามารถบอกเลิกสัญญาได้ทันที โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้าและผู้รับสิทธิตกลงจะไม่เรียกร้องค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

เงื่อนไขในข้อ 10 จากสัญญาฉบับแม่ดังกล่าวนี้ ที่ กทม. ยืนยันว่า กทม.มีสิทธิบอกเลิกสัญญากับมูลนิธิฯ ได้ทันที โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า

ต่างจากที่เครือข่ายศิลปินออกแถลงการณ์ว่า การที่ กทม.จะยึดเอาหอศิลป์ไปบริหารเองนั้น เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และผิดข้อตกลงตามปริญญาที่ กทม.ได้ลงนามกับเครือข่ายและภาคประชาชนไว้เมื่อปี 2548 ว่า ให้หอศิลป์ได้บริหารกิจการโดยมูลนิธิฯ โดย กทม.จะสนับสนุนงบประมาณตามวัตถุประสงค์