posttoday

"ปราบปรามทุจริต" อยู่ที่สังคมไม่ใช่รธน.

16 พฤษภาคม 2561

หลากหลายความเห็นจากการสัมมนา หัวข้อ "รัฐธรรมนูญปราบโกง จะสัมฤทธิ์ผลได้จริงหรือไม่" ที่ต่างมองว่า "สังคม" เป็นกลไกสำคัญในการปราบปรามทุจริต

หลากหลายความเห็นจากการสัมมนา หัวข้อ "รัฐธรรมนูญปราบโกง จะสัมฤทธิ์ผลได้จริงหรือไม่" ที่ต่างมองว่า "สังคม" เป็นกลไกสำคัญในการปราบปรามทุจริต

****************************

โดย.....ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ร่วมกับสมาคมรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า ได้จัดการสัมมนา หัวข้อ “รัฐธรรมนูญปราบโกง จะสัมฤทธิ์ผลได้จริงหรือไม่” ณ ห้องเมจิก 2 ชั้น 2 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 16 พ.ค. ที่ผ่านมา

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นว่า รัฐธรรมนูญนี้มีการตั้งฉายาไว้ว่าเป็นฉบับปราบโกง ซึ่งต้องชื่นชมว่าเป็นการตลาดที่ดีมาก เพราะผู้ร่างขณะนั้นไปทำประชามติ ซึ่งคงจับอารมณ์ความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ ว่าปัญหาทุจริต คอร์รัปชั่น เป็นภัยใหญ่หลวง และหากมองวิกฤติการเมือง 10 ปีที่ผ่านมา เกิดจากการใช้อำนาจไม่ชอบเป็นสาเหตุหลักและนำไปสู่ความขัดแย้ง

อย่างไรก็ดี ในที่สุดกระบวนการป้องกันปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่น ต้องอาศัยหลายกระบวนการควบคู่ โดยในสังคมไทยพยายามทำเรื่องนี้ ทั้งกระบวนการการเมือง คือ อภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ติดขัดและจบลงตรงเสียงข้างมาก แม้กระทั่งกระบวนการตุลาการ

นอกจากนี้ กระบวนการการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การมีบทบัญญัติดังกล่าวที่ผ่านมา แม้ไม่ประสบความสำเร็จ แต่กระบวนการดังกล่าวทำให้การเชื่อมโยงตรวจสอบทุจริต ส่ง ปปช. และศาลพิจารณา แต่ทำไมกลับเอากระบวนการนี้ออกไป

“เมื่อปปช.มีบทบาทมากขนาดนี้ เดิม ปปช.เป็นผู้ดำเนินการไม่ชอบเสียเอง ฝ่ายการเมืองสามารถยื่นฟ้องได้ เหมือนปปช.ชุดหนึ่ง แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ปปช.มีปัญหา ต้องไปยื่นผ่านประธานรัฐสภา แต่สามารถใช้ดุลยพินิจจะส่งเรื่องนี้หรือไม่ ซึ่งในความจริงประธานรัฐสภามาจากฝ่ายรัฐบาล หากเกิดการทุจริตในรัฐบาล ถ้าปปช.ชุดใดไม่ตรวจสอบฝ่ายบริหารพอเล่นงานปปช. ประธานรัฐสภาบอกไม่มีน้ำหนัก โยนทิ้ง”

ส่วนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในเรื่องการอุทธรณ์ต้องมีเงื่อนไข ก่อนขึ้นที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา กฎหมายใหม่มีข้อดี แต่มีจุดอ่อนหลายจุด เช่น การเปิดเผยบัญชี กฎหมายบอกให้ทำโดยสรุป และไม่ทราบว่าสรุปอย่างไร แต่การตรวจสอบจากสังคม ส่งเสริมให้ประชาชนไปตรวจสอบอย่างไร โดยลำพังเพียงกฎหมายไม่ใช่คำตอบ ทว่าสังคมสามารถมีส่วนร่วมในการปราบโกงจริงหรือไม่

ด้าน พงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกฯ มองว่า เป็นห่วงเวลาที่ใช้รัฐธรรมนูญปราบโกง จะเป็นแบบเดียวกับขอเวลาอีกไม่นานหรือเปล่า เป็นคำโฆษณาชวนเชื่อ และเมื่อรัฐธรรมนูญนี้เรียกว่าปราบโกง ดูเป็นคำไม่เหมาะสมเท่าไหร่ แต่ถ้าบอกว่าโกงอำนาจจากประชาชนน่าจะตรงกว่า เพราะอำนาจจากประชาชน คือ การถอดถอนบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ฉะนั้น จะเรียกว่าปราบโกงจึงไม่สนิทใจ

ส่วนเรื่องการทุจริต เป็นเรื่องที่ทุกคนในสังคมให้ความสนใจ การทุจริตมันเพิ่งเกิดในสมัยประชาธิปไตย มีนักการเมืองหรือไม่ ต้องบอกว่าการทุจริต เกิดจากประเทศเป็นประชาธิปไตยก่อนมีนักการเมืองมาจากการเลือกตั้ง สมัยโบราณทุจริต เป็นสิ่งที่ทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายของผู้มีอำนาจ เพราะสมัยก่อนคนมีอำนาจทำอะไรก็ได้ แม้กระทั่งในปัจจุบัน ดังนั้น การไม่เป็นประชาธิปไตย ทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นมาก

ทั้งนี้ ต้องจัดระบบการตรวจสอบผู้ใช้อำนาจให้กว้างขวาง รวมถึงองค์กรที่จะไปตรวจสอบด้วย คนมีอำนาจมีโอกาสทำไม่ถูกต้องแทบทั้งสิ้น อย่างแรก องค์กรกลไกสำคัญ คือ ตัว ปปช. องค์กรอิสระ ตุลาการ บุคคลในองค์กรเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากไหน มาจากการเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อนาคตมาจากวุฒิสภาช่วง 5 ปีแรก มาจากไหน ภูเขาลูกเดียวกัน

“คิดถึงท่านวิษณุ เครืองาม ถึงคำพูด ลงเรือแป๊ะ ต้องตามใจแป๊ะ การตรวจสอบทุจริตไม่ได้แน่ เพราะจุดสำคัญ เมื่อการตรวจสอบอยู่กับองค์กรอิสระเหล่านี้ที่มาจากที่เดียวกัน แต่ระบบปัจจุบันเมื่อเกิดทุจริต ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้เสียหายฟ้องเองไม่ได้ ต้องผ่านปปช. หากบอกไม่มีมูลก็จบ หากถามผมระบบถูกตัดตอนอย่างนั้นไม่ดี ต้องเปิดผู้เสียหายฟ้องเองได้ และให้ประชาชนฟ้องศาลเองได้ด้วย”

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญพูดประชาชนมีส่วนร่วมในการชี้ช่องให้เบาะแส ซึ่งไม่ต่างอะไรกับที่ทำอยู่ขณะนี้ ถามว่าถ้าให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมต้องมากกว่านี้ ตัวอย่าง สามารถให้ประชาชนประชาชนเข้าไปฟังการประชุมของปปช.ด้วยได้หรือไม่ เพื่อดูว่าทำงานอย่างไร เชื่อถือได้หรือไม่ ถ้าเทียบกับต่างประเทศ ลูกขุน มีอำนาจชี้ข้อเท็จจริงในคดีเป็นอย่างไร เป็นรายคดี มาแล้วจบไป ให้ประชาชนมีอำนาจมากกว่าชี้ช่องเบาะแส ป้องกันไม่ให้เกิดการทำไม่ดีไม่งาม

ขณะเดียวกัน การเปิดเผยบัญชีของใหม่ ไม่เปิดเผยแบบละเอียด แต่อีกส่วน คือ ผู้ยื่นบัญชีไม่เปิดเผยทุกคน เว้นบางตำแหน่ง เพื่อให้ประชาชนเข้ามาตรวจสอบ เพราะสายตุลาการไม่เปิด เว้นแต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และเห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ปปช. และอีกหลายฉบับ ในเรื่องไปอบรมหลักสูตร โครงการ เพราะถ้ารู้จักจะเป็นปัญหาทำงาน หลักการดี แต่ไม่รู้ว่ากว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้หรือไม่ ส่วนตัวยังรู้สึกว่าการอบรบเป็นปัญหา ก็น่าจะมากกว่านี้

สุดท้าย สิ่งที่พูดเป็นเรื่องของมาตรการปราบปราม สิ่งที่แก้ได้ 2 เรื่อง เห็นด้วยค่านิยมวัฒนธรรมของคนเลิกทำทุจริต ระบบอุปถัมภ์ ปรับปฏิรูประบบราชการในการตัดประเด็นให้เกิดทุจริต อาชีพหน่วยงานรัฐมีอำนาจมากเท่าไหร่ มีการคอร์รัปชั่นตามมาเยอะ ถ้าสิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเลิก รวมถึงการใช้ดุลยพินิจ ก็อาจไปสู่การทุจริต เพราะถูกนำไปใช้หาผลประโยชน์

ขณะที่ บรรเจิด สิงคะเนติ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า ส่วนตัวมีประเด็น 3 – 4 ประเด็น โดยลำพังรัฐธรรมนูญปราบโกงไม่ได้ เพราะแค่วางโครงสร้างและกลไกเท่านั้น ถึงแม้ว่าวางกลไกไว้อย่างไร ซึ่งรัฐธรรมนูญป้องแค่คนโกง เพราะเขียนกำหนดคุณสมบัติไว้ เท่านั้น

อย่างไรก็ดี ถ้าดูภาพรวมแล้วรัฐธรรมนูญโฟกัสไปให้น้ำหนัก สร้างเสริมค่านิยมของประชาชน มาตรการปราบโกง ป้องกัน
และสร้างความนิยม แต่ไม่ได้ลงในภาคประชาชนและฝ่ายการเมือง ถ้าจุดนั้นเกิดตีบตัน แต่ถ้ามีดุลภาพให้ภาคประชาชนจัดการ ก็สุ่มเสี่ยง แต่รัฐธรรมนูญนี้ไม่มีความพยายามให้นักการเมืองมีส่วนร่วม

ทั้งนี้ เน้นเรื่ององค์กรอิสระ เช่น การจัดทำร่าง พรบ. หากแต่มาตรการประเด็นใหญ่ คือ อะไรสำนึกร่วมในการปราบโกงของประชาชนไทย เพราะในต่างประเทศมีสำนึกเรื่องภาษี หากมีสำนึกร่วมจะขับเคลื่อนในการตรวจสอบ และสำนึกร่วมของไทยมีแค่บางสถานการณ์เท่านั้น

“มาตรการในการปราบปรามการทุจริต รัฐธรรมนูญทำอย่างไรให้การโกงมีความเสี่ยงสูง หากมีความเสี่ยงสูงจะไม่มีใครกล้าโกง แต่ก่อนใช้เครื่องมือทางอาญาทำให้มีความเสี่ยงต่ำ ทำอย่างไรให้กลไกมีประสิทธิภาพ เพราะกลไกอาญาเป็นหลัก ต้องใช้ปราศจากข้อสงสัย ต้องเอาเรื่องวินัย ใช้เวลาสั้น และตรวจสอบได้เร็ว เอาวินัยอาญา ไปผูกกับ ปปช. มติ ครม. ที่กำหนดว่า หากมีการโกงต้องตรวจสอบใน 30 วัน ควรพัฒนาเป็นกฎหมาย ต่อมา ควรนำมาตรการทางแพ่ง โดยใช้ พ.ร.บ.ความรับผิดละเมิดมาใช้ และใช้กระบวนการอาญาเป็นขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งประสิทธิภาพในการลงโทษ

ทั้งนี้ การป้องการทุจริต เรื่องหลักธรรมาภิบาล กลไกสำคัญเปิดเรื่องรับฟังความเห็นปลายทาง หน่วยปราบปราม ต้องวิเคราะห์อย่างไร เพราะการโกงแบบพลวัตร หลักธรรมาภิบาล พลังของประชาชน ใช้มาตรการปราบมา 20 ปี หาจุดร่วมปชช.ให้เจอมาตรการมากขึ้น ในเชิงบวก รัฐธรรมนูญไม่ใช่ตัวปราบ แต่เป็นตัวทำให้กลไกภาคประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น