posttoday

หวั่นสงครามโซเชียล ขวางสันติสุขชายแดนใต้

09 พฤษภาคม 2561

กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขชายแดน ภาคใต้ ซึ่งดำเนินการมาร่วม 5 ปี เริ่มเห็นรูปธรรมการเกิดสันติสุขมากขึ้น

โดย...ทีมข่าวภูมิภาคโพสต์ทูเดย์

กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขชายแดน ภาคใต้ ซึ่งดำเนินการมาร่วม 5 ปี ก็เริ่มเห็นรูปธรรมการเกิดสันติสุขมากขึ้น เมื่อคณะผู้พูดคุยทั้งฝ่ายไทยและกลุ่มผู้เห็นต่าง ยอมรับร่วมกันที่จะกำหนดให้พื้นที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส พื้นที่สีแดงซึ่งเกิดปฐมบทความรุนแรง ตั้งแต่การบุกปล้นปืนทหารในค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อปี 2547 โดยจะให้พื้น อ.เจาะไอร้อง นำร่องโครงการพื้นที่ปลอดภัยหรือเซฟตี้โซน (Safety Zone)

พ.อ.วัฒนา กรมขันธ์ รองผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เปิดเผยว่า แนวทางการปฏิบัติจะแบ่งเป็น 2 ช่วง โดยช่วงแรกตั้งแต่ปลายเดือนเม.ย. ช่วง 3-6 เดือนแรกจะเป็นขั้นตอนการเตรียมพื้นที่ และช่วงหลัง 6 เดือน เป็นขั้นตอนนำไปสู่เป้าหมายการกำหนดเป็นพื้นที่ปลอดภัย โดยการปฏิบัติยังคงใช้กำลังปกติ และกำลังจากภาคประชาชน

“เราจะดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดในทุกเรื่อง และเมื่อครบกรอบเวลาที่กำหนดจะเพิ่มเติมมาตรการต่างๆ ลงไปอย่างเต็มที่ ส่วนจะลดการก่อเหตุความรุนแรงเป็นศูนย์ได้หรือไม่นั้น ต้องเข้าใจว่าพื้นที่ดังกล่าวกำหนดขึ้นเพื่อแสดงความไว้วางใจทั้งสองฝ่าย ในส่วนของรัฐจะต้องไม่นำกำลังทหารหรือดำเนินการใดๆ เพื่อก่อให้เกิดปัญหา ในขณะที่กลุ่มผู้เห็นต่างจะต้องไม่ให้เกิดเหตุการณ์ใดๆ ด้วยเช่นกัน ส่วนเหตุการณ์ทั่วไปต้องสามารถพิสูจน์ทราบได้” พ.อ.วัฒนา กล่าว

พ.อ.วัฒนา กล่าวอีกว่า แม้ว่าจะมีแนวคิดให้ อ.เจาะไอร้องเป็นพื้นที่เซฟตี้โซน แต่การดูแลรักษาความปลอดภัยยังคงจำเป็นต้องอาศัย  พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน กระบวนการพูดคุยอยู่ในขั้นตอนการสร้างความไว้วางใจ รวมถึงประชาชนทุกหมู่เหล่า และขณะนี้มีกลุ่มผู้เห็นต่างหลายกลุ่ม ยืนยันว่าเป็นตัวจริง สามารถควบคุมการปฏิบัติการในพื้นที่ได้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวหากขยายเวลาการพูดคุยออกไป จะทำให้เราเห็นว่า กลุ่มไหนเป็นตัวจริง กลุ่มไหนมีผลประโยชน์แอบแฝง ซึ่งต้องพิสูจน์กันต่อไป

ด้าน พ.อ.สุภกิจ รู้หลัด รองผู้อำนวยการสำนักข่าว กอ.รมน. ภาค 4 สน. ก็บอกว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงในห้วงที่จะเข้าสู่ขั้นตอนการสร้างสันติสุขที่ตั้งเป้าหมายไว้ในปี 2563 คือการใช้กลุ่มเครือข่ายเยาวชน กระจายข่าวผ่านโซเชียล มีเดีย ที่อาจขยายผลก่อความรุนแรง

“การข่าวพบว่าใน กทม. มีเยาวชนใน 2 สถาบันการศึกษาปลุกระดมแนวร่วม และยังพบข้อมูลการโพสต์โซเชียล ในเยาวชนในพื้นที่สามจังหวัดใช้ภาคใต้ หรือกลุ่ม Permas ซึ่งเป็น 1 ใน 28 กลุ่มเฝ้าระวัง โดนต้องใช้ยุทธวิธีทางด้านการข่าวที่ไม่เปิดเผยเข้าไปสร้างความเข้าใจกับเยาวชน เพราะไม่มีหลักฐานชี้ชัดในแง่ตัวบุคคลที่จะเรียกมาปรับทัศนคติ”

ด้าน มนพ บุญทวีโรจน์ ประธานสมาพันธ์ครูจังหวัดยะลา มองว่า แม้รัฐจะพยายามให้เกิดพื้นที่สันติสุข กำหนดพื้นที่เซฟตี้โซนแต่ก็ยังมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบอยู่ การรักษาความปลอดภัยครูมีความจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่เกิดเหตุการณ์แต่ประมาทไม่ได้ เพราะเป็นที่ทราบดีว่าเหตุการณ์ในพื้นที่ยังไม่สงบ มีเหตุการณ์เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ

“ต้องยอมรับว่า การรักษาความปลอดภัยโดยเข้มแข็งและจริงจังนั้นทำให้เหตุการณ์ลดลง ประกอบกับการที่โรงเรียนได้ใช้ความสัมพันธ์ชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กำลังภาคประชาชนมาช่วยกันดุแลรวมกับฝ่ายปกครองทุกฝ่าย เหตุการณ์กับครูจึงลดน้อยลงเป็นอย่างมาก แต่ก็คิดว่าการดูแลรักษาความปลอดภัยเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำต่อไป”

ประธานสมาพันธ์ครูจังหวัดยะลา กล่าวว่า สำหรับโรงเรียนพื้นที่ในเมืองไม่น่าห่วง ที่น่าห่วงคือพื้นที่โดยทั่วไป เพราะว่าไม่รู้ว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้นเมื่อไร แม้รัฐจะต้องพยายามให้เกิดพื้นที่สันติสุข กำหนดพื้นที่เซฟตี้โซนก็ยังเกิดได้ การเคลื่อนไหวก็ยังมีอยู่