posttoday

‘ราชภัฏ’หนีวิกฤต หลักสูตรกระทบวิทย์-สังคม ไร้คนเรียน

07 พฤษภาคม 2561

ผลจากสภาวะเด็กเกิดใหม่น้อยลง รวมถึงค่านิยมของคนรุ่นใหม่ที่เริ่มค้นหาเส้นทางสู่ความสำเร็จในชีวิตโดยไม่พึงพาใบปริญญาบัตรเพิ่มมากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้กำลังส่งผลกระทบต่อระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัย

โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ

ผลจากสภาวะเด็กเกิดใหม่น้อยลง รวมถึงค่านิยมของคนรุ่นใหม่ที่เริ่มค้นหาเส้นทางสู่ความสำเร็จในชีวิตโดยไม่พึงพาใบปริญญาบัตรเพิ่มมากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้กำลังส่งผลกระทบต่อระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัย ทำให้หลายมหาวิทยาลัยต้องเร่งปรับตัวให้อยู่รอด ไม่เช่นนั้นอาจถึงขั้นต้องปิดตัว

มหาวิทยาลัยราชภัฏจึงได้พยากรณ์ถึงปัญหาที่กำลังก่อตัวโดย เรืองเดช วงศ์หล้า อธิการบดี ประธานที่ประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏ เปิดเผยว่า ทุกวันนี้จำนวนนักศึกษาที่มาสมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยทุกแห่งมีจำนวนน้อยลง เนื่องจากนักเรียนที่สำเร็จจากชั้นระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ลดลง จึงมีการพยากรณ์ว่าต่อจากนี้จำนวนนักศึกษามหาวิทยาลัยจะลดลงตามลำดับและไม่เพิ่มจำนวนได้อีกแล้ว นำไปสู่ปัญหาที่บางสาขาวิชาเรียนไม่มีนักศึกษามากพอเปิดห้องเรียนได้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของสถานการณ์วิกฤตอุดมศึกษา หากแต่ละมหาวิทยาลัยยังไม่เปลี่ยนแปลงจากนี้จะอยู่ลำบาก โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่ต้องอาศัยค่าธรรมเนียมนักศึกษามาบริหารจัดการจะได้รับผลกระทบมากพอควร

ประธานที่ประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏขยายความถึงจุดเริ่มต้นของวิกฤตครั้งนี้ สืบเนื่องจาก 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีอัตราการเกิดของเด็กลดน้อยลง การแต่งงานน้อยลง อัตราการมีบุตรช้า บางครอบครัวไม่ต้องการมีบุตร หรือมีบุตรคนเดียว ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ประชากรลดลงและแสดงผลออกมาในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม การปรับตัวของแต่ละมหาวิทยาลัยจึงขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ สำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้งหมดเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อบริหารท้องถิ่นของตนเอง จึงมีหน้าที่ผลิตนักศึกษาและพัฒนาชุมชน มุ่งเน้นผลิตบุคลากรครู ไม่ใช่มีหน้าที่สอนหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่ต้องทำงานวิจัยและบริการวิชาการด้วย ฉะนั้นขณะนี้ “ราชภัฏ” กำลังเตรียมการให้อาจารย์ต้องปฏิบัติภารกิจขยายองค์ความรู้มากขึ้น เช่น พัฒนางานบริการพัฒนาท้องถิ่นที่เป็นหัวใจหลักของมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว

อีกส่วนหนึ่งบางหลักสูตรอาจต้องชะลอการรับสมัครนักศึกษา แล้วให้อาจารย์มาพัฒนาหลักสูตรให้เด็กมีงานทำ ปรับให้มีความทันสมัย ทันสถานการณ์ปัจจุบัน ด้านหนึ่งต้องพัฒนาหลักสูตรให้ตอบสนองผู้ประกอบการ โดยให้นักศึกษาได้ไปเรียนกับผู้ประกอบการ หรืออาจมีหลักสูตรสอนระยะสั้น สอนคนที่ต้องการเรียนไปพร้อมกับทำงานไปด้วย แต่จะไม่มีการให้อาจารย์ออก

“หลักสูตรไหนที่ต้องปิดเราก็ต้องยอมปิด เช่น สาขาสายวิทยาศาสตร์ สายวิชาสังคมบางสาขามีคนมาเรียนน้อย ซึ่งที่ผ่านมาก็น้อยอยู่แล้ว แต่เราจะนำอาจารย์ในสาขานั้นๆ มาพัฒนาหลักสูตรให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน รวมทั้งขยายไปทำภารกิจอื่นๆ อย่างงานวิจัยที่มุ่งทำนุบำรุงศิลปะ วัฒนธรรม โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏมีจำนวนนักศึกษาลดลงเฉลี่ยปีละ 10% แต่คาดว่าไม่ถึงกับลดลงจนหมดสิ้น” เรืองเดช กล่าว

เรืองเดช กล่าวอีกว่า มหาวิทยาลัยต้องออกไปดูบริษัทเอกชนว่าเขาต้องการบุคลากรทำงานด้านไหนบ้าง จากนั้นเราจะผลิตนักศึกษาให้ตอบสนองกับความต้องการ ไม่ใช่ต่างคนต่างผลิต แล้วออกไปทำงานอะไรไม่ได้ ส่วนการผลิตนักศึกษาเพื่อชุมชน แต่ละ
ท้องถิ่นยังคงต้องการความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยอีกมาก อาทิ วิสาหกิจชุมชน หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือปัญหาสิ่งแวดล้อม เราจะสามารถลงไปช่วยเขาได้ โดยนำองค์ความรู้เครือข่ายไปช่วยให้เกิดความมั่นคงในชีวิต คุณภาพชีวิตดีขึ้น

สำหรับสาขาวิชาที่ได้รับความนิยมของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งมีผู้มาสมัครเรียนเป็นจำนวนมากและเต็มทุกแห่ง คือครู มีนักศึกษาเรียนดีกำลังศึกษาอยู่ในขณะนี้เป็นจำนวนมาก เพราะอาชีพครูจะมีการบรรจุรับราชการในแต่ละปีหลายตำแหน่ง ส่วนสายอื่นอย่าง บัญชี เทคโนโลยี อุตสาหกรม การท่องเที่ยว ซึ่งสายวิชาชีพที่สามารถออกไปหางานทำได้ก็ยังมีคนมาสมัครเรียนเป็นจำนวนมากเช่นเดิม

กระนั้นเมื่อสังเกตสังคมยุคปัจจุบัน คนรุ่นใหม่เริ่มให้ความสนใจเกี่ยวกับการศึกษาในโลกออนไลน์มากขึ้นดังนั้นมหาวิทยาลัยต้องปรับตัวเข้าสู่โลกออนไลน์ด้วย หรือจัดการเรียนการสอนที่อาจเก็บเป็นรายวิชาที่สามารถเรียนที่ไหนก็ได้ในอนาคตอาจเป็นเช่นนั้น

“นับจากนี้มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน เป็นความเสี่ยงอย่างมากถ้าไม่ปรับตัว แต่หากรีบปรับตัวตั้งแต่วันนี้เช่น ปรับหลักสูตรเปลี่ยนพันธกิจ เราจะสอดรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปและอยู่รอดได้” เรืองเดช กล่าว