posttoday

4 ปีคสช.สร้างกติกาจัดทัพ ปูทางเลือกตั้งยึดอำนาจ

06 พฤษภาคม 2561

อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยา ธรรมศาสตร์ หนึ่งในคนสำคัญที่เรียกร้องให้เกิดการเลือกตั้ง ให้มุมมอง ช่วงใกล้ครบรอบ 4 ปีของรัฐประหาร คสช.

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

การเมืองไทยเวลานี้เดินทางถึงจุดที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะครบรอบ 4 ปีของการเข้ามา บริหารประเทศของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แม้การเลือกตั้งจะยังไม่ถูกกำหนดออกมาอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีสัญญาณบางประการที่แสดงให้เห็นอย่างมีนัยสำคัญว่าการเลือกตั้งน่าจะมีขึ้นในปี 2562

สัญญาณที่ว่านั้น คือ ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการพยายามตั้งพรรคการเมืองของ คสช.และการทาบทามอดีต สส.มาเข้าร่วม

มาถึงจุดนี้ จึงน่าสนใจไม่น้อยว่าแล้วกลุ่มการเมืองภาคประชาชนที่เรียกร้องให้กดดัน คสช.เร่งจัดการเลือกตั้งจะมีทิศทางอย่างไร ต่อไป ซึ่งในเรื่องนี้ ผศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในคนสำคัญของการเรียกร้องให้เกิดการเลือกตั้ง ได้ให้มุมมองและวิเคราะห์ ถึงการเคลื่อนไหวของ คสช.ไว้อย่างน่ารับฟังดังนี้

ก่อนอื่น อาจารย์อนุสรณ์ มองภาพรวมของ คสช.ตลอด 4 ปีว่า "ถ้าเรามองแบบภาพใหญ่ที่สุด รัฐประหารเกิดขึ้นมา แม้จะอ้างเหตุผลเรื่องการระงับไม่ให้เกิดการนองเลือดบนถนนและจะเข้ามาวางกฎเกณฑ์กติกาเพื่อไปสู่การเมืองที่ดีกว่าในรูปของการปฏิรูป แต่ในแง่หนึ่ง มันปฏิเสธไม่ได้ว่า คสช.เป็นคล้ายๆ กับกลไก แขนขาของพลังอนุรักษนิยมก็ได้ เป็นการหวนคืนกลับมาอีกครั้งของกลุ่มอำนาจเก่าหรือเครือข่ายชนชั้นนำจารีต"

"พอการรัฐประหาร 2557 เกิดขึ้นมาในแง่หนึ่ง คือ ถึงจะปวารณาตัวว่าเป็นกลางและบอกว่าจะมาคลี่คลายความขัดแย้งและไม่ต้องการให้เกิดการนองเลือดในแผ่นดิน แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้และไม่ควรจะลืมว่าหนึ่งในข้อเรียกร้องของ กปปส.เวลานั้น คือ การให้ทหารเข้ามาแทรกแซง ซึ่งในอีกความหมายหนึ่ง คือ การรัฐประหารนั่นเอง ดังนั้น เราจึงเห็นความยินดีปรีดาหรือการยอมยุติโดยดีของ กปปส.เมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้นมา"

"ภายใต้ความระส่ำระสายและการแตกกระจายของเครือข่ายอำนาจเก่า ไม่ว่าจะเป็นในระดับของแกนนำ ตัวประสานงาน หรือมวลชน ซึ่งเป็นโอกาสให้ คสช.ที่จะเข้ามายึดกุมหรือสร้างสถาปัตยกรรมทางการเมืองเพื่อให้ตัวเองได้กลับคืนมาอย่างสมบูรณ์แบบอีกครั้งหนึ่ง อาจเรียกว่าเพื่อไม่ให้การรัฐประหารครั้งนี้เสียเปล่าหรือเสียของ"

อาจารย์อนุสรณ์ชี้ถึงสิ่งที่ คสช.กำลังทำว่า "สิ่งที่เขาทำคืออะไร ตอนแรกเหมือนกับว่าจะคอยโยงใยอยู่ข้างหลังผ่านรัฐธรรมนูญที่มีการวางกลไกมากมายที่ทำให้รัฐบาลใหม่ทำงานได้ลำบาก โดยเฉพาะหากอีกฟากหนึ่งชนะ แต่หลังจากนั้นมาอีกระยะหนึ่งดูเหมือนว่าแค่นั้นยังไม่พอใจ ก็พาตัวเองเข้ามาสู่สนามการแข่งขันในทางการเมืองเลย เพราะกติกาที่วางไว้ก็ได้เปรียบและยิ่งอาศัยจังหวะตอนนี้ที่ตัวเองเป็นรัฐบาลและมีกฎหมายเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในมือที่ขึงอดีตนักการเมืองให้ขยับได้ไม่มากแล้ว ตัวเองก็อาศัยนโยบายที่ได้เปรียบ ไม่ว่าจะเป็นประชารัฐ โครงการไทยนิยมยั่งยืน เหล่านี้เป็นไปเพื่อปูทางให้ตัวเองเข้ามาอีกครั้ง"

สาเหตุที่ คสช.ต้องขึ้นมาเล่นเอง จากเดิมที่คิดแค่จะอยู่เบื้องหลัง? อาจารย์อนุสรณ์ วิเคราะห์ว่า "เหมือนกับว่าไม่มั่นใจ อยู่ข้างหลังอาจจะไม่มั่นใจ หรืออาจไม่ทันใจพอ จึงเลือก ที่จะลงไปเล่นเอง อย่าลืมว่าตัว คสช.เองก็เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพ และกองทัพเองก็เป็นสถาบันทางสังคมหรือเป็นกลุ่มผลประโยชน์ คุณมีงบประมาณที่ต้องจัดสรร ทั้งกระทรวงกลาโหมหรืออื่นๆ"

"ดังนั้น ในแง่หนึ่งเพื่อที่จะทำให้เป็นหลักประกันว่าเมื่อเดินไปข้างหน้าแล้วและแม้รัฐบาลพลเรือนอาจเกรงใจอยู่บ้าง แต่การที่ตัวเองเข้าไปอยู่ในข้างในเองก็ยังสามารถคงเอาไว้ซึ่งอำนาจในการจัดสรรประโยชน์ให้กับกลุ่มตัวเองได้อย่างตรงไปตรงมาและชอบธรรม ไม่จำเป็นต้องชักใยอยู่ข้างหลังต่อไป

"การชักใยอยู่ข้างหลังไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะสำเร็จ สู้ลงมาเล่นเองดีกว่า ซึ่งตอนนี้เราก็เห็นแล้วว่าเขาเปิดหน้ามาเล่นแล้ว เดิมทีคุณประยุทธ์บ่ายเบี่ยงเลี่ยงไปเลี่ยงมาว่าจะเป็น นายกฯ หรือไม่ หากมีใครเสนอมา แต่มาอีกสักพักบอกว่าไม่ปฏิเสธแล้ว และล่าสุดรองนายกฯ สมคิดที่เป็นคีย์แมนก็พูดชัดเจนว่าถ้าคุณประยุทธ์จะอยู่ต่อก็ยินดีสนับสนุน และมีการคิดที่จะตั้งพรรคการเมือง ยังไม่นับรวมพรรคการเมืองที่จดทะเบียนใหม่เกือบครึ่งหนึ่งประกาศชัดเจนว่าสนับสนุนคุณประยุทธ์

"ที่สุดแล้วจะเห็นถึงการจะเข้ามาสู่สนามการเมืองในระบบ และพยายามอาศัยประโยชน์จากกติกา อย่างน้อยเพื่อเป็นหลักประกันว่าในสถาบันการเมืองปกติก็ยังมีกลไกที่ยังเป็นประโยชน์ให้กับกลุ่มชนชั้นนำต่อไป"

แสดงว่า 4 ปีมานี้เป็นการปูทางในอนาคต? อาจารย์อนุสรณ์ตอบว่า "ใช่ครับ เป็นการปูทางและการจัดการทัพ คือ ตอนต้นยังไม่อาจลงมาเล่นเอง แค่จัดสร้างและวางกลไกเพื่อควบคุมเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญกำหนดที่คอยตรวจสอบ เท่านั้นยังไม่พอไง คงรู้สึกว่าลำพังเพียงวางกลไกไว้ที่ไม่ให้เป็นอิสระไม่พอ เลยคิดว่าลงมาเล่นเองดีกว่า

"อย่างไรก็ตาม คิดว่าตรงนี้อาจจะเป็นปัญหาเหมือนดาบสองคม เพราะรัฐธรรมนูญออกแบบเอาไว้ด้วยการคิดว่าคอยตรึงนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งให้อยู่ในอาณัติ สมมติว่าคุณเป็นพรรคการเมืองที่สามารถระดมเสียงจากพรรคการเมืองต่างๆ มาจัดตั้งรัฐบาล แต่ตรงนี้จะกลายมาเป็นบูเมอแรงที่มาเชือดคอตัวเอง เพราะมันจะลุ่มล่ามไปหมด สิ่งที่คุณวางไว้ หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า จะกลับมาเล่นงานเอง เพราะตอนแรกไม่ได้คิดว่าตัวเองจะเข้ามาเล่นเอง เพียงแต่ต้องการจะอยู่ข้างหลังเท่านั้นและจัดการมากกว่า"

อาจารย์อนุสรณ์ วิเคราะห์ต่อไปว่า แต่ ตอนนี้โจทย์ที่ตามมา คือ หากเขาชนะและได้เข้ามาทำงานก็ต้องเจออีกหลายด่านเยอะเลย อันนี้ ยังไม่นับรวมไปถึงว่าในปกติแล้วในกลไกระบบรัฐสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ต้องอาศัยเสียง ของ สส. ถ้าคุณไม่สามารถที่จะดึงเอาพรรคการเมืองใหญ่สองพรรค เช่น ประชาธิปัตย์ หรือ เพื่อไทย มาเป็นพวกเดียวกับคุณได้ มันจะดำเนินนโยบายหรือกระบวนการในรัฐสภาค่อนข้าง ลำบาก

"มาตรา 44 ก็หมดทันทีที่มีรัฐบาลใหม่ และคุณประยุทธ์เองก็ไม่คุ้นเคยกับการต้องมาอธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผล การต้องใช้ข้อเท็จจริงมาหักล้าง คุณประยุทธ์ถนัดแต่เพียงใช้วาจาบ่ายเบี่ยง ซึ่งตอนนี้คุณทำได้ เพราะไม่มีใครสามารถมาเอาผิดได้ แต่ทันทีที่คุณกลายเป็นฝ่ายบริหารที่มาจากกระบวนการประชาธิปไตย คุณต้องรับผิดชอบหลายสิ่ง หลายอย่างมาก คุณประยุทธ์อาจต้องมานั่งเสียใจในภายหลังก็ได้"

การที่ คสช.กำลังจะลงเล่นการเมืองแสดงให้เห็นว่า คสช.ต้องการให้เกิดการเลือกตั้ง? อาจารย์อนุสรณ์ ระบุว่า "การเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้อยู่แล้วตราบเท่าที่เป็นประเทศประชาธิปไตย จึงต้องวางกติกาให้คนที่เข้ามาต้องอยู่ในอาณัติคุณ แต่ต่อมาก็คิดว่าควรมาเล่นเอง ซึ่งผมเข้าใจว่าเขาอาจเล็งทำหลายเรื่องมากกว่าที่เราคิด จึงต้องเข้ามาเล่นเอง เพื่อผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม เช่น กองทัพ หรืออาจกว้างกว่านั้น เช่น ทำหน้าที่คล้ายกับเป็นกลไกสำคัญในการรักษาอำนาจและจัดสรรประโยชน์ของเครือข่ายชนชั้นนำ มันไม่พอแล้วกับอยู่ฉากหลัง"

เมื่อการเลือกตั้งเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น กลุ่มที่ต้องการอยากให้มีการเลือกตั้งจะมีความหมายอย่างไร? อาจารย์อนุสรณ์ ยอมรับว่า "อาจต้องเป็นสิ่งที่ต้องประเมินกัน เพราะกลุ่มที่ชุมนุมนั้นเรียกร้องให้คุณประยุทธ์เคารพโรดแมป หลังจากถูกเลื่อนออกไปหลายครั้งแล้ว ถึงแม้เป็นเกมที่ต้องเล่น แต่เป็นเกมที่ต้องสร้างหลักประกันให้ได้ก่อนว่าเขาจะเป็นผู้ชนะหรืออย่างน้อยที่สุดเขาก็ต้องควบคุมอะไรได้ แต่ปัจจุบันเขายังไม่สามารถสร้างหลักประกันได้อย่างเบ็ดเสร็จทันที ยังอยู่ในระยะของการจัดทัพ ฉะนั้น ด้วยระยะเวลามันยังไม่ได้ สิ่งที่ต้องทำ คือ คุณต้องประวิงเวลาไปเรื่อยๆ

"ดังนั้น สิ่งที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้งทำ คือ ทำให้ระยะเวลาที่เขาจะประวิงออกไปสั้นที่สุดให้ได้ เพื่ออย่างน้อยที่สุดเพื่อให้เขาจัดทัพไม่เสร็จ ดังนั้น โอกาสของปีกประชาธิปไตยหรือฝ่ายที่ไม่ได้สมาทานแนวทางของ คสช.ก็มีโอกาสที่จะได้รับชัยชนะสูง"

ถึงที่สุดแล้วการเมืองจะกลับไปสู่วงจรแบบเดิม? อาจารย์อนุสรณ์ คิดว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดการรัฐประหารน่าจะมี เพราะตราบเท่าที่เรายังไม่สามารถปฏิรูปกองทัพและศาลได้ หลายประเทศกว่าจะได้ประชาธิปไตยที่มันแข็งแรงและสมบูรณ์ก็ต้องใช้เวลาเป็นร้อยปี

"ของเราตั้งแต่ พ.ศ. 2475 มาถึงตอนนี้ก็ 80 ปีกว่าๆ ต้องใจเย็นๆ และประเทศไทยมีลักษณะเฉพาะมาก ดังนั้น ที่สำคัญคือ เราจำเป็นต้องสร้างฐานทางสังคมและตื่นรู้ให้คนส่วนใหญ่ตระหนักว่าสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยมีความสำคัญและเกี่ยวกับปัญหาปากท้องกันอย่างแบ่งแยกไม่ออก" อาจารย์อนุสรณ์ ทิ้งท้าย