posttoday

อนาคตความหวัง พรบ.คู่ชีวิต ในแบบ'ครอบครัว'คนหลากเพศ

05 พฤษภาคม 2561

ร่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต ที่ต้องทำให้แล้วเสร็จภายในปี 2561 ต้องการทราบชัดเจนว่าความต้องการของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศต้องการสิ่งใด เพื่อให้กฎหมายเกิดความลงตัวที่สุด

โดย...เอกชัย จั่นทอง

แม้ว่าทุกฝ่ายจะเห็นด้วยกับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต ปี พ.ศ.... แต่ทว่าตอนนี้ยังย่ำอยู่กับที่ โดยร่าง  พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต ที่ให้สิทธิกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศ และได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเริ่มร่างขึ้นตั้งแต่ปี 2555 แต่ก็ต้องสะดุดลง เนื่องจากสถานการณ์การเมืองที่ปะทุในเวลานั้น ทำให้พลิกผันเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 จนปัจจุบันร่างกฎหมายดังกล่าวยังคงเป็นความหวังของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ

ในฐานะที่เคยคลุกคลีมีโอกาสร่วมร่างกฎหมาย พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต ปี 2555 ของ เกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เผยความคืบหน้าในเรื่องนี้ว่า ต้องยอมรับว่าปัจจุบันร่างกฎหมาย พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต ปี พ.ศ.... เรียกว่าถูกเซตซีโร่ใหม่ หรือ Set zero ทั้งหมด สำหรับร่างกฎหมาย พ.ร.บ.การจดทะเบียน คู่ชีวิต ปี พ.ศ....ที่จะร่างกันใหม่หลังจากถูกตีกลับจากกระทรวงยุติธรรมให้ไปปรับปรุงแก้ไขเพิ่มความชัดเจนขึ้น

จากข้อมูลทราบว่า ขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการจากทุกภาคส่วน องค์กร รวมกว่า 30 คน จะเข้าช่วยออกแบบออกความเห็นเพื่อไปประกอบพัฒนาเป็นร่างกฎหมาย จากนั้นจะส่งให้คณะกรรมการจากภาคส่วน องค์กรกว่า 30 คน ได้พิจารณาดูอีกครั้ง แล้วให้ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายร่างกฎหมายขึ้น โดยความเห็นส่วนตัวคาดว่าจะใช้ชื่อร่างกฎหมายฯ ใหม่ว่า "พ.ร.บ.คู่ชีวิต" เพราะคำว่า "จดทะเบียน" อาจยังเหมือนการตีตราอยู่

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวจะต้องทำให้แล้วเสร็จภายในปี 2561 หรือปีนี้นั่นเอง เพื่อเสนอส่งเข้าแผนพัฒนากฎหมาย ก่อนเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเพื่อนำเข้าสภาต่อไป โดยขณะนี้ทราบว่าอยู่ระหว่างกระบวนการวิจัย ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) โดยให้ทาง UNDP เป็นผู้ทำ วิจัยศึกษาแนวทางการพัฒนาร่าง กฎหมาย พ.ร.บ.คู่ชีวิต ให้ชัดเจนกว่าเดิมเน้นทำอย่างรอบด้าน และคนทุกกลุ่มไม่ใช่เพียงแค่กลุ่มคนหลากหลายทางเพศเท่านั้น

"ต้องมีข้อมูลรองรับชัดเจนของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ รวมถึงให้ไปศึกษาโมเดลการสมรสของกลุ่ม คนหลากหลายทางเพศใหม่ว่าการใช้ชีวิตของคนเพศเดียวกันจะทำยังไง ไม่ใช่แค่คู่รักชายหญิงทั่วไป และศึกษาผลกระทบทางด้านศาสนา"

สำหรับร่างกฎหมายนี้ต้องการทราบชัดเจนว่าความต้องการของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศต้องการสิ่งใด เพื่อให้กฎหมายเกิดความลงตัวที่สุด ก่อนจะออกกฎหมายบังคับใช้ ป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งตามมาได้ ตอนนี้จึงรอผลวิจัยจาก UNDP จะส่งงานวิจัยทั้งหมดให้ประมาณเดือน พ.ค.นี้

เกิดโชค แสดงความเห็นส่วนตัว คาดการณ์ว่า สาระสำคัญในร่างกฎหมายฯ ฉบับใหม่นี้ คงจะไม่ผิดเพี้ยนไปจากร่างกฎหมายเดิม โดยใจความสาระสำคัญที่คำนึงถึงคือ การเล็งเห็นถึงการก่อร่างตั้งครอบครัว โดยมีกฎหมายรองรับอย่างถูกต้องให้กับกลุ่มคนหลากหลายเพศที่มีอยู่จำนวนมากในปัจจุบัน เชื่อว่าร่างกฎหมายใหม่ต้องไปตอบโจทย์ได้ คือการอยู่ร่วมกันแบบสามีภรรยา มีสิทธิต่างๆ หลังอยู่ร่วมกัน เช่น ทรัพย์สิน ประกันชีวิต มรดก ค่ารักษาพยาบาล ลดหย่อนภาษี ฯลฯ

ส่วนข้อถกเถียงสาระสำคัญนั้น เกิดโชค เผยว่า แล้วผู้ที่จะใช้ร่างกฎหมายนี้หากมีการบังคับใช้จริงแล้วจะตรวจสอบอย่างไรว่าชายหรือหญิงคนนั้นอยู่ในกลุ่มคนหลากหลายทางเพศจริง จึงเป็นเรื่องยากไม่น้อย ตัวอย่างเช่น ชายกับชายที่จดทะเบียนกับชาย เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นชายรักชายจริง อาจแอบอ้างเป็นเพื่อต้องการเข้ามาใช้สิทธิค่าพยาบาล หรือสิทธิอื่นๆ จึงเป็นข้อกังวลของภาครัฐว่าอาจมีคนแอบอ้างเข้ามาใช้สิทธิกฎหมายนี้ ดังนั้นคำจำกัดความ ของคนเหล่านี้คืออะไรสิ่งใดเป็นเครื่องการันตีว่าเป็นชายรักชายจริง

ขณะเดียวกันเกิดโชคยังแนะวิธีการตรวจสอบว่า ต้องมีการทดลองอยู่กัน 3 ปีก่อนหรือไม่ หรือตรวจเพื่อให้ใบรับรองแพทย์ แต่ก็อาจถูกโจมตีเหมือนการตีตรากลุ่มคนเหล่านี้ ซึ่งเป็นอุปสรรคหนึ่งในการร่างกฎหมาย ท้ายที่สุด ร่างกฎหมายนี้ต้องป้องกันไม่ให้รัฐเสียผลประโยชน์ด้วย

ขณะที่สถานการณ์ความหลากหลายทางเพศปัจจุบันนั้น รองอธิบดี เผยมุมคิดส่วนตัวว่า เรื่องนี้เป็นสิทธิพึงมีพึงเกิดตามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามหลักสิทธิมนุษยชน สภาพปัญหาในมุมปฏิบัติของประเทศไทยไม่ได้เลือกปฏิบัติกับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศเหมือนกับบางประเทศที่เคร่งครัด

"คนกลุ่มนี้ในประเทศไทยจึงไม่รู้สึกว่าถูกจำกัดสิทธิ มีอิสระ แต่เพียงแค่คนบางกลุ่มที่อยากจะก่อตั้งครอบครัวให้มีการรองรับทางด้านครอบครัวและสิทธิอื่นๆ ที่เกิดขึ้นตามมาเท่านั้น ถ้ามองอีกมุมคนเข้าใจว่ามันคือกฎหมายทางเลือก เลือกที่จะใช้หรือไม่ใช้ สมมติแค่เราคิดว่าคบหากันเท่านั้นก็ไม่ต้องใช้กฎหมายนี้ แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องการก่อตั้งเป็นครอบครัวแบบหญิงชายทั่วไป ก็มาใช้กฎหมายฉบับนี้"

ทว่าโอกาสของสังคมไทยเปิดมาตลอด เดิมเมื่อ 10 ปีก่อนแค่พูดเรื่องจดทะเบียนแต่งงานยังไม่มีใครกล้าพูด หรือแค่พูดให้สังคมยอมรับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศยังไม่มีใครกล้าพูด นาทีนี้เราก้าวกระโดดจากจุดนั้นมาแล้ว ไม่มีการรังเกียจเดียดฉันท์ มีกฎหมายความเท่าเทียมทางเพศ เปิดโอกาสทำงาน ไม่กีดกั้น และยอมรับคนกลุ่มนี้ในสังคม

ในที่สุดแล้วเรื่องความหลากหลายทางเพศอย่างน้อยกว่า 20 ประเทศที่มีการเปิดกว้างและเป็นเทรนด์โลกไปแล้วจึงคิดว่าประเด็นนี้จะเป็นเรื่องปกติในสังคม ท้ายที่สุดแล้วร่างกฎหมาย พ.ร.บ.คู่ชีวิต ใครจะอยู่ในขอบเขตผู้บังคับใช้กฎหมายส่วนนี้นั่นเป็นคำถาม