posttoday

ยุบคณะวิชาสัญญาณวิกฤตก่อนปิดสถาบัน

02 พฤษภาคม 2561

การประกาศปิดหลักสูตรหรือคณะวิชานั้นเกิดขึ้นจริง และเป็นเรื่องที่หลายสถาบันดำเนินการตามขั้นตอนภายในอย่างเงียบๆ

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

ตัวเลขว่างงานจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่สรุปว่ามีผู้ว่างงานที่สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษามากถึง 1.77 แสนคน หรือมากที่สุดเมื่อเปรียบกับการศึกษาระดับอื่นๆ และปัญหาผู้สมัครสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือแอดมิชชั่นกลางที่ลดจำนวนลงมากที่สุดในรอบ 12 ปี หรือนับตั้งแต่มีระบบนี้เข้ามาแทนที่ระบบเอนทรานซ์รวมถึงปัญหาคุณภาพผู้สอนซึ่งเป็นผลพวงมาจากจำนวนมหาวิทยาลัยที่มีมากเกินไป และแข่งขันกันในเชิงปริมาณ

แม้ปัญหาที่กล่าวมา จะยังไม่ถึงกับส่งผลให้มหาวิทยาลัยขนาดเล็กถึงกับปิดตัวลง แต่ปัญหานี้ก็เริ่มส่งผลให้บางคณะวิชาของมหาวิทยาลัยที่ไม่มีชื่อเสียงเป็นแม่เหล็กดึงดูดผู้เรียนเริ่มทยอยปิดตัวให้เห็นแล้ว

ข้อมูลจากสถาบันอุดมศึกษาเล็กๆ แห่งหนึ่ง ซึ่งมาจากอาจารย์ท่านหนึ่งของสถาบันดังกล่าวไม่ขอเปิดเผยนาม ระบุว่า การประกาศปิดหลักสูตรหรือคณะวิชานั้นเกิดขึ้นจริง และเป็นเรื่องที่หลายสถาบันดำเนินการตามขั้นตอนภายในอย่างเงียบๆ เริ่มจากสาขาวิชา หรือคณะนั้นๆ รายงานรายละเอียดในการขอปิดหลักสูตร โดยให้เหตุผลหลัก คือ จำนวนนักศึกษาที่สมัครเข้าเรียนมีจำนวนน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหลักสูตร เช่น ระบุว่าเปิดรับ 20 คน แต่ไม่ว่าจะเปิดรับกี่รอบ ก็ยังไม่ครบตามจำนวน จึงจำเป็นต้องขอปิด โดยต้องทำหนังสือรายงานขอเท็จจริงไปถึงคณะกรรมการบริหารและวิชาการของสถาบันเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ จากนั้นสำนักวิชาการของสถาบันจะทำหนังสือแจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษารับทราบในการขอปิดหลักสูตรดังกล่าว และสำนักวิชาการจะทำหนังสือหรือประกาศให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ

"สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว คือมีบางคณะวิชาที่ประกาศเปิดรับนักศึกษาไม่มาก 15-20 คน แต่เปิดรับกี่รอบ และรับหมดโดยไม่ต้องสอบแข่งขันก็มีผู้มาสมัครไม่ถึงครึ่ง เพราะนักเรียนเลือกไปเรียนในสถาบันที่มีชื่อเสียงมากกว่า คณะวิชาที่ประสบปัญหานี้จะถูกพิจารณาว่า ปีต่อไปจะมีคำสั่งให้ระงับการเปิดรับนักศึกษาหรือไม่ แต่ต้องเปิดสอนเท่าที่มาสมัครให้จบการศึกษาตามหลักสูตรไปก่อน ซึ่งปัญหาที่จะตามมาก็คือเรื่องอาจารย์ผู้สอนที่ถูกเลิกจ้าง" แหล่งข่าวจากสถาบันอุดมศึกษารายนี้เปิดเผยโดยอธิบายอีกว่า

กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบจากการยุบคณะวิชามากที่สุด ก็คืออาจารย์ที่มีสถานะเป็นเพียงพนักงานมหาวิทยาลัยในสถาบันที่ออกนอกระบบราชการ หรือที่เรียกว่าเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ อาจารย์กลุ่มนี้ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการต่างๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาล เงินบำเหน็จบำนาญ เหมือนที่ข้าราชการได้รับ เป็นอาชีพที่ไม่มีความมั่นคง เพราะทำงานด้วยเป็นระบบสัญญาจ้าง กรณีที่ยุบคณะวิชา อาจารย์กลุ่มนี้อาจจะถูกโยกไปอยู่ในภาควิชาที่ทดแทนกันได้หรือใกล้เคียงกัน หากไม่มีก็จะไม่ต่อสัญญาจ้างหรือถูกเลิกจ้าง

"แม้จะยังไม่มีการประกาศปิดสถาบัน แต่การประกาศยุบคณะวิชา และระบบพนักงานมหาวิทยาลัยที่ไม่มีความมั่นคงในชีวิต ก็ทำให้แต่ละปีมีอาจารย์ในมหาวิทยาลัยลาออกไปมากมาย ยิ่งมีกรณีผู้เรียนน้อยลง จนในอนาคตอาจจะต้องยุบมหาวิทยาลัย หลายคนก็เริ่มถอดใจมองหาอาชีพอื่นที่มีความมั่นคงมากกว่า ตอนนี้หลายแห่งกลายเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่ไปสมัครสอบครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพราะได้บรรจุเป็นข้าราชการ และยังได้รับการดูแลจากรัฐอย่างเต็มที่ มีระบบบำเหน็จบำนาญรองรับหลังเกษียณ ซึ่งกลับกันจากที่เดิมครูประถมและมัธยมพยายามขวนขวายเรียนต่อในระดับปริญญาโทเอก เพื่อไปเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย" อาจารย์ผู้นี้ เปิดเผย

สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ให้ภาพว่า ตามระเบียบแล้ว การประกาศยุบคณะวิชานั้นเป็นหน้าที่ที่สถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งจะต้องแจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) รับทราบ แต่หากไม่แจ้งแม้จะถือว่าเป็นความผิด แต่ไม่ได้มีบทลงโทษ ทำให้ตัวเลขการประกาศยุบคณะวิชาอาจจะคลาดเคลื่อนกับข้อเท็จจริง

เลขาธิการ กกอ. ระบุอีกว่า การประกาศยุบคณะวิชาอาจจะมีตัวเลขที่สูงขึ้นในอีก 5-10 ปีข้างหน้า แต่กว่าจะถึงวันนั้นสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งจะปรับบทบาทของตัวเอง ไม่ให้การเรียนการสอนยึดอยู่กับวุฒิปริญญาแต่ต้องยึดอยู่กับองค์ความรู้ เป็นสถาบันที่เข้าไปมีบทบาทต่อการให้ความรู้ที่เป็นปัจจุบันและนำไปใช้จริงได้