posttoday

ผู้สอนไร้คุณภาพ ตัวเร่งอวสานมหา’ลัยเล็ก

25 เมษายน 2561

มหาวิทยาลัยที่มีพฤติกรรมเห็นแก่ประโยชน์ของตัวเอง ไม่สนใจเลยว่าประเทศจะได้ประโยชน์ ย่อมสะท้อนว่าสถาบันเหล่านี้ยังไร้ความรับผิดชอบต่อสังคม

มหาวิทยาลัยที่มีพฤติกรรมเห็นแก่ประโยชน์ของตัวเอง ไม่สนใจเลยว่าประเทศจะได้ประโยชน์ ย่อมสะท้อนว่าสถาบันเหล่านี้ยังไร้ความรับผิดชอบต่อสังคม

**********************

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

ปีการศึกษา 2560 ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยได้ประกาศตัวเลขผู้สมัครสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือแอดมิชชั่นกลางว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 81,230 คน นับเป็นตัวเลขผู้สมัครที่น้อยที่สุดตั้งแต่มีระบบแอดมิชชั่นที่เข้ามาแทนที่ระบบเอนทรานซ์เดิมและเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2549 หรือประมาณ 12 ปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน สถาบันอุดมศึกษาซึ่งเข้าร่วมแอดมิชชั่นถึง 78 แห่ง มีที่นั่งเรียนและสามารถรับนิสิตนักศึกษาได้ถึง 109,129 คน ส่งผลให้มีที่นั่งเรียนเหลือเกือบ 3 หมื่นที่ และยังไม่นับถึงนักเรียนอีกจำนวนหนึ่งที่สละสิทธิแอดมิชชั่น หลังประกาศผลสอบเสร็จสิ้น ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนชัดว่าจำนวนผู้เรียนในระดับอุดมศึกษาลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีผลอื่นตามมาโดยเฉพาะเรื่องผู้เรียนในบางคณะวิชาของบางมหาวิทยาลัยที่จะน้อยลงตามไปด้วย และอาจลามไปถึงการประกาศปิดหรือยุบบางภาควิชา หรือกระทั่งยุบมหาวิทยาลัยบางแห่งในอนาคต เพราะมีผู้เรียนไม่เพียงพอ นอกเหนือจากปัจจัยที่กล่าวมา ยังมีปัญหาอื่นๆ ที่สั่งสมมาจากอดีตจนกลายเป็นตัวเร่งให้มหาวิทยาลัยบางแห่งปิดตัวเร็วขึ้นอีกด้วย

ภาวิช ทองโรจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ระบุว่า ประเด็นที่จะสร้างผลกระทบต่อสถาบันอุดมศึกษาบางแห่งในที่สุดก็คือ จำนวนมหาวิทยาลัยที่มีมากเกินไป และส่วนใหญ่ทั้งมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่และเล็กแข่งขันกันในเชิงปริมาณ ขณะเดียวกันจำนวนไม่น้อยที่ปรับตัวให้เท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงไม่ได้

“ปัญหาคือ จำนวนผู้เรียนที่จบมัธยมปลายกับเก้าอี้นั่งเรียนซึ่งไม่สัมพันธ์กันอยู่แล้ว แต่ละปีมีที่ว่างเป็นจำนวนมาก เมื่อถูกมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ดังๆ เปิดรับนักศึกษามาก สถาบันเล็กๆ หรือคณะวิชาที่ไม่มีคนเลือก ก็ยิ่งมีผู้เรียนน้อยลงไปอีก และปัญหาเดิมที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งยังประสบอยู่ก็คือ เพราะมีจำนวนมหาวิทยาลัยมากเกินไป ทำให้ขาดอาจารย์ผู้สอนที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยยกระดับมหาวิทยาลัย”

นอกจากนี้ รูปแบบการพัฒนาอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาของเรา มีปัญหาเรื่องอ่อนด้อยมาตรฐานกว่าต่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับมาตรฐานอาจารย์ผู้สอนสูง ยกตัวอย่างในหลายประเทศ การเปิดรับอาจารย์ผู้สอนนั้นมีเกณฑ์ที่ค่อนข้างสูง เรียนจบปริญญาเอกแล้ว ก็ไม่สามารถสมัครหางานเป็นอาจารย์ได้ทันที เพราะแต่ละคนจะต้องมีการคัดกรองจากประสบการณ์ อาจจะต้องไปเป็นนักวิจัยหลังปริญญาเอก หรือโพสต์-ด็อก หรือไปเป็นผู้ช่วยงานวิจัยจนมีประสบการณ์ก่อนถึงจะมาสมัครเป็นผู้สอนได้

อดีตเลขาฯ สกอ. ระบุด้วยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในแวดวงการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทยนั้นต่างออกไป โดยที่ผ่านมาพบว่า ผู้สอนในหลายสถาบันเป็นผู้สอนแบบเรียนจบปริญญาตรีก็สามารถเป็นอาจารย์สอนในสถาบันอุดมศึกษาได้ โดยรู้กันเป็นภายในว่าผู้สอนเหล่านั้นยังไม่ใช่อาจารย์จริง จึงใช้มาตรการเปิดโอกาสให้ไปเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น โดยจองตัวผู้สอนไว้ก่อน

“เมื่อรูปแบบของการคัดเลือกมืออาชีพมาสอนมีสภาพอย่างนี้มาตั้งแต่ต้น ปัญหานี้จึงกลายเป็นปัญหาเรื้อรังสะสมมานาน ก็กลายเป็นส่งผลให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งเปิดสอนไปทั้งๆ ที่ยังขาดความพร้อมเรื่องคุณภาพของผู้สอน และมหาวิทยาลัยกลุ่มนี้เองที่ปั๊มนักศึกษาออกมาสู่ตลาดแรงงาน และส่งผลให้ในภาพรวม เรามีปัญหาคุณภาพบัณฑิตตามไปด้วย”

นอกจากนี้ ในส่วนของเกณฑ์กำกับคุณภาพผู้สอนในคณะวิชายังเป็นเรื่องที่อะลุ่มอล่วยกัน เช่น กรณีที่ สกอ.กำหนดว่าต้องมีผู้สอนในระดับปริญญาเอก 30% ของผู้สอนทั้งหมด ซึ่งถือเป็นเกณฑ์ที่ต่ำ มหาวิทยาลัยชั้นนำหรือที่มีชื่อผ่านเกณฑ์ทำนองนี้ แต่มหาวิทยาลัยเล็กๆ ไม่มีชื่อบางแห่ง เมื่อเห็นเกณฑ์ดังกล่าวแล้วทราบว่าตัวเองมีผู้สอนในระดับปริญญาเอกไม่ถึง 30% ก็ใช้เสรีภาพทางวิชาการแก้ปัญหานี้ด้วยการเปิดสอนหลักสูตรปริญญาเอกเสียเอง ทั้งๆ ที่ไม่มีความน่าเชื่อถือในศักยภาพในการเปิดสอนระดับนี้เลย

ภาวิช กล่าวว่า ในมหาวิทยาลัยชื่อดังของอเมริกาที่มีผู้สอนระดับปริญญาเอก 100% ก็ยังไม่กล้าเปิดหลักสูตรระดับนี้ หากยังไม่มีประสบการณ์มากพอ แต่ในไทย มหาวิทยาลัยบางแห่งมีอาจารย์ระดับปริญญาเอกแค่ 3-5 คน กลับกล้าเปิดสอนถึงระดับปริญญาเอกเพื่อหารายได้ แก้ปัญหาที่ผู้เรียนระดับปริญญาตรีลดลงและแก้ปัญหาขาดแคลนผู้สอนระดับปริญญาเอก ที่น่าเหลือเชื่อ แต่ก็เป็นไปแล้ว คือ มีมหาวิทยาลัยบางแห่งเปิดหลักสูตรปริญญาเอกหลักสูตรหนึ่ง คนที่มาสมัครเรียนคนแรก คือ คณบดีของตัวเอง มหาวิทยาลัยที่มีพฤติกรรมเห็นแก่ประโยชน์ของตัวเอง ไม่สนใจเลยว่าประเทศจะได้ประโยชน์อะไรที่ทำแบบนี้ ย่อมสะท้อนว่าสถาบันเหล่านี้ยังไร้ความรับผิดชอบต่อสังคม ไร้ธรรมาภิบาลที่สุด เมื่อผู้เรียนลดจำนวนลง สถาบันเหล่านี้ก็หมดความน่าเชื่อถือ ไม่มีผู้เรียน และเสี่ยงที่จะต้องถูกปิดในอนาคต