posttoday

10 ข้อปฏิรูปกฎหมาย ทันสมัย-ลดเหลื่อมล้ำ-แก้ทุจริต

23 เมษายน 2561

เผยเป้าหมายปฏิรูป 10 ข้อของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายหวังปรับปรุงให้สอดคล้องกับบริบทของการพัฒนาสู่ Thailand 4.0 

เผยเป้าหมายปฏิรูป 10 ข้อของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายหวังปรับปรุงให้สอดคล้องกับบริบทของการพัฒนาสู่ Thailand 4.0 

********************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

สถานการณ์การพัฒนาประเทศไทยในระยะที่ผ่านมา กฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดสรรประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมือง เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศในช่วงเวลาต่างๆ ดังนั้น ประเทศจำเป็นต้องมี “กฎหมายที่ดี” ที่ต้องสอดคล้องกับบริบทของการพัฒนาสู่ Thailand 4.0 คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจึงนำเสนอเป้าหมายการปฏิรูป 10 ข้อ ดังนี้

เป้าหมายที่ 1 มีกลไกในการออกกฎหมายเป็นกฎหมายที่ดีและเท่าที่จำเป็น ได้แก่ 1.จัดทำกฎหมายเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายที่มีผลใช้บังคับแล้ว 2.จัดให้มีกลไกตรวจสอบหน่วยงานของรัฐในเรื่องผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย และ 3.กำหนดเกณฑ์การพิจารณาในเรื่องระบบอนุญาต ระบบคณะกรรมการ การกำหนดกรอบการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ และการกำหนดโทษทางอาญา งบประมาณดำเนินการ 400 ล้านบาท

เป้าหมายที่ 2 ยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัยและเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชน ด้วยการจัดตั้ง “คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน” เพื่อทำหน้าที่ในการพิจารณาทบทวนกฎหมายที่ล้าสมัย ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรม งบประมาณดำเนินการ 100 ล้านบาท

เป้าหมายที่ 3 มีกลไกทางกฎหมายเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม ด้วยการจัดตั้ง “คณะกรรมการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม” เพื่อพิจารณาเสนอแนะให้มีการกำหนดให้มาตรการและให้มีการปรับปรุงแก้ไข หรือการพิจารณาผลักดันกฎหมายวิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อให้เกิดกลไกในการดำเนินธุรกิจที่มีการกระจายผลกำไรกลับคืนสู่สังคมหรือชุมชนในพื้นที่ ฯลฯงบประมาณดำเนินการ 150 ล้านบาท

เป้าหมายที่ 4 มีกลไกให้มีการตรากฎหมายเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ มีกิจกรรมการปฏิรูปที่สำคัญ ได้แก่ จัดตั้ง “คณะกรรมการที่ปรึกษานโยบายภาษีอากรแห่งชาติ” และกำหนดให้มีการใช้เครื่องมือทางกฎหมายเพื่อส่งเสริมและพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และธุรกิจสตาร์ทอัพอย่างบูรณาการและเป็นระบบ งบประมาณดำเนินการ 250 ล้านบาท

เป้าหมายที่ 5 พัฒนากระบวนการจัดทำและตรวจพิจารณาร่างกฎหมายให้รวดเร็ว รอบคอบ และสอดคล้องกับเงื่อนเวลาในการตรากฎหมายตามที่มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง พร้อมปรับปรุงกระบวนการตรวจพิจารณาร่างกฎหมายให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

เป้าหมายที่ 6 มีกลไกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมายหรือกฎที่มีความสำคัญ และจัดให้มีกลไกช่วยเหลือประชาชนในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมาย รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน งบประมาณดำเนินการ 310 ล้านบาท

เป้าหมายที่ 7 มีกลไกให้ประชาชนเข้าถึงกฎหมาย กฎ โดยสะดวก และเข้าใจกฎหมายได้ง่าย รวมทั้งการพัฒนาระบบฐานข้อมูลของกฎหมาย คำพิพากษาคำวินิจฉัย หรือการตีความกฎหมาย หรือกฎให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยสะดวก ด้วยการจัดให้มีระบบฐานข้อมูลกฎหมายกลางของประเทศที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ และต้องวางระบบการเข้าถึงข้อมูลให้ง่ายต่อการใช้งาน งบประมาณดำเนินการ 100 ล้านบาท

เป้าหมายที่ 8 ปฏิรูปการเรียนการสอนและการศึกษาอบรมวิชากฎหมาย เพื่อพัฒนานักกฎหมายให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่ดี ด้วยการแต่งตั้ง “คณะกรรมการสภานิติศึกษาแห่งชาติ” เพื่อจัดทำนโยบายและกำหนดกรอบมาตรฐานสำหรับการศึกษากฎหมาย และการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในวิชานิติศาสตร์ งบประมาณดำเนินการ 50 ล้านบาท

เป้าหมายที่ 9 พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนติดต่อกับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายได้โดยสะดวก เพื่อลดค่าใช้จ่ายและขจัดช่องทางการทุจริตประพฤติมิชอบ โดยจัดให้มีระบบการให้บริการประชาชนผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐ

เป้าหมายที่ 10 มีกลไกส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ อาทิ จัดทำกฎหมายเพื่อเปลี่ยนโทษทางอาญาที่สามารถเปรียบเทียบเพื่อให้คดียุติได้ และกำหนดให้มีการศึกษาการยกเลิกหรือปรับปรุงรางวัลนำจับที่ให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในกฎหมายต่างๆ และจัดให้มีกลไกการตรวจสอบต่อองค์กรที่มีอำนาจในการติดตามตรวจสอบ เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามวัตถุประสงค์ และป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย