posttoday

"จะทันอยู่เห็นประชาธิปไตยมั้ย" พิชัย รัตตกุล

22 เมษายน 2561

"ผมพูดด้วยความจริงใจว่า ผมเป็นห่วงอย่างมากๆ เพราะไม่เคยมีเหตุการณ์ไหน หลังจากการปฏิวัติแล้วคณะปฏิวัติจะอยู่ยาว"

"ผมพูดด้วยความจริงใจว่า ผมเป็นห่วงอย่างมากๆ เพราะไม่เคยมีเหตุการณ์ไหน หลังจากการปฏิวัติแล้วคณะปฏิวัติจะอยู่ยาว"

***************************

โดย...ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

หากเอ่ยถึง “พิชัย รัตตกุล” เชื่อว่าใครหลายคนคงรู้จักชื่อเสียงเรียงนามกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะกับบทบาททางการเมืองไทยต่อการดำรงหลายๆ ตำแหน่งสำคัญของประเทศ ทั้งอดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีต รมว.ต่างประเทศ รวมถึงอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

พิชัยได้ฉายภาพรวมถึงทิศทางการเมืองไทยผ่าน “โพสต์ทูเดย์” ว่า “ผมพูดด้วยความจริงใจว่า ผมเป็นห่วงอย่างมากๆ เพราะไม่เคยมีเหตุการณ์ไหน หลังจากการปฏิวัติแล้วคณะปฏิวัติจะอยู่ยาว ถึงขณะนี้ก็ 3 ปีกว่า และหัวหน้าคณะปฏิวัติก็ได้พูดเปรยทำนองว่าจะต้องมียุทธศาสตร์บ้านเมือง ซึ่งต้องใช้เวลา 20 ปี สิ่งเหล่านี้มันทำให้มองดูว่าเขาไม่ได้อยู่ 2-3 ปี ทางฝ่ายที่คุมอำนาจต้องการจะอยู่นานกว่านี้ เพราะฉะนั้น มองการเมืองภาพรวม ในฐานะที่ผมเป็นนักประชาธิปไตย แน่นอนย่อมมีความไม่สบายใจและอึดอัดใจ แต่จะทำอย่างไรได้

เราได้แต่หวังว่าบ้านเมืองจะเป็นระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ทรงมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำไมไม่มีใครคิดถึง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ซึ่งพระองค์รับสั่ง ‘ข้าพเจ้ายอมสละสิทธิ์ ยอมสละราชสมบัติ ไม่ได้มอบอำนาจให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ข้าพเจ้าขอมอบอำนาจนี้ให้กับประชาชน’ คำนี้เป็นคำศักดิ์สิทธิ์ชัดเจนเลย”

พิชัย มองว่า ตราบใดที่รัฐบาล 1.ยังไม่มีกำหนดวันเลือกตั้ง 2.ยังไม่อนุญาตให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมได้ ยิ่งแสดงให้เห็นว่าการเลือกตั้งยิ่งทอดออกไปอีก สมมติจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ต้องให้เวลานักการเมือง พรรคการเมือง ในการเตรียมตัว แต่ตอนนี้ประชุมก็ยังไม่ได้ ข้อต่อไป มาตรา 44 ตราบใดยังมีอยู่ ไม่มีทางที่นักการเมืองจริงๆ ที่ต้องการหวังเห็นระบอบประชาธิปไตย และแม้กระทั่งกลุ่มคนหวังดีก็ทำอะไรไม่ได้

พิชัย ขยายความว่า จึงอยากเห็น 1.ให้นายกฯ กำหนดวันเลือกตั้ง 2.ยกเลิกมาตรา 44 3.เมื่อกำหนดวันเลือกตั้งแล้ว อนุญาตให้พรรคการเมือง นักการเมือง จัดประชุมเพื่อปรึกษาหารือ 4.อยากเห็นรัฐบาลให้ความสนใจตามชนบท เกษตรกร คนยากจนมากขึ้น และ 5.ความสามัคคีชาวปักษ์ใต้ยังมีปัญหาอยากให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ ด้วยหลักเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา

พิชัย อธิบายต่อว่า ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อยากจะลงหรือไม่ลงอะไรก็แล้วแต่ แต่ขอให้มีการเลือกตั้ง ฉะนั้น พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะเอาพรรค ก. ข. ค. ตั้งขึ้นมาใหม่ รวมทั้งที่ตัวเองจะตั้ง สว.ได้ 250 คน เป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก ส่วนตัวไม่ว่า แม้มันไม่เป็นประชาธิปไตย แต่อย่างน้อยประชาชนมีสิทธิบ้างในการออกเสียง

ขณะเดียวกัน กลุ่มคนที่ปรากฏเป็นข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ พยายามรวมกลุ่มเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งต้องขอชมเชย แม้เป็นใครไม่ทราบ หรือจะเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองไหนไม่ทราบ แต่คนกลุ่มนี้ยังมีจิตใจเป็นห่วงบ้านเมืองจะไม่เป็นประชาธิปไตยไปอีกนาน จึงออกมาเรียกร้อง ไม่ได้ออกมาเกะกะ ทำลาย หากเป็นเช่นนั้นจะไม่เห็นด้วย

“เขาออกมาอย่างมีเรื่องราวเป้าหมายแน่นอน เรียกร้องรัฐบาลอย่างเดียว ว่าขอให้รีบกำหนดวันเลือกตั้ง ถ้าเป็นอย่างนั้นผมชมเชยคนกลุ่มนี้ ที่ถึงแม้ไม่ได้เป็นนักการเมือง แต่ก็มีหัวใจเป็นประชาธิปไตย แต่ผมไม่ทราบว่าปฏิกิริยาของรัฐบาลมีต่อการเรียกร้องนี้เป็นอย่างไร

ผมคิดถึงสหรัฐอเมริกา เพียงแค่เกี่ยวกับเรื่องเด็ก 10 กว่าคนเสียชีวิตจากการถูกยิงในรัฐฟลอริดา คนทุกรัฐเป็นล้านเดินขบวนเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมายปืน นั่นเป็นเพียงแค่กฎหมายปืน แต่คนกลุ่มนี้กำลังเรียกร้องขอให้มีกฎหมายรัฐธรรมนูญออกมา แล้วกำหนดเลือกตั้งเสีย”

ส่วนความเป็นไปได้กับการเลือกตั้ง พิชัย ระบุว่า จะมีหรือไม่ เพราะนายกฯ ไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้ เนื่องจากงานบ้านเมืองมีเป็นจำนวนมาก อันนั้นเป็นความจริงและเห็นใจนายกฯ ในฐานะต้องรับผิดชอบความเป็นอยู่ ความปลอดภัยของบ้านเมือง เมื่อทำงานก็ต้องชมเชยว่าอย่างน้อยที่สุดได้ทำให้บ้านเมืองในระยะ 2 ปีแรกนั้นสงบไป คือ นักการเมืองที่สมัยก่อนปฏิวัติ มีการเผชิญหน้าทะเลาะเบาะแว้งแทบจะฆ่ากันหายไปหมด แต่ขณะเดียวกัน นายกฯ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางปักษ์ใต้ได้เลย

พิชัย ผู้มีประสบการณ์ทางการเมือง กล่าวว่า การที่รัฐบาลเตรียมเรียกประชุมพรรคการเมืองเพื่อกำหนดวันเลือกตั้ง ต้องถามว่าเกี่ยวอะไรกับพรรค ไม่จำเป็นต้องปรึกษา ถ้าสมมติพรรคจะเลือกตั้งพรุ่งนี้ทำได้หรือไม่ ในเมื่อพรรคประชุมไม่ได้ มาตรา 44 ค้ำคอ ทำอะไรไม่ได้ ซึ่งไม่ขัดข้อง พล.อ.ประยุทธ์ จะมาเป็นนายกฯ อีก เพราะรัฐธรรมนูญเขียนแบบนั้น

“แต่ขอให้เริ่มทำตั้งแต่บัดนี้ แต่การเรียกประชุมพรรคก็ไม่เสียหายอะไร แต่ความจริงแล้วคุยกันไม่กี่คนก็รู้เรื่อง ว่าเราควรกำหนดวันเลือกตั้งเมื่อไหร่ ผมเคยบอกมาปีกว่าแล้วว่า ไม่มีการเลือกตั้งปี 61 ผมคนเดียวที่พูด แต่รัฐบาลเขายังมี 59 เลื่อนมา 60 สุดท้ายมา 61 และผมบอกว่าท้ายสุดแล้ว 61 ไม่มีการเลือกตั้ง ทุกอย่างชัดเจน

และสุดท้ายมาบอกว่าเดือน ก.พ. 62 ซึ่งยังไม่สามารถที่จะเชื่อได้ จนกว่ายกเลิกมาตรา 44 และมีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะมีการเลือกตั้งเดือน ก.พ. 62 อนุญาตให้พรรคการเมืองประชุมเพื่อเตรียมตัวได้ อย่างนั้นผมถึงจะเชื่อ หากเปรยมาก็ไม่จำเป็นต้องเรียกพรรคการเมืองมาประชุม ในเมื่อตั้งเป้าหมายเลือกตั้ง ก.พ. 62 ซึ่งทายไม่ผิดปี 61 ไม่มีเลือกตั้ง”

"จะทันอยู่เห็นประชาธิปไตยมั้ย" พิชัย รัตตกุล

ส่วนการยื่นตีความกฎหมายลูก พิชัยสะท้อนมุมมองส่วนตัว อาจทำให้การเลือกตั้งช้าออกไปอีก 6-7 เดือนก็ได้ ใครจะไปรู้ ปี 2562 อาจไม่มีเลือกตั้ง แต่หัวใจนายกฯ อยากให้มีเดือน ก.พ. ส่วนที่หลายฝ่ายมองเรื่องดังกล่าวเป็นหมากสำคัญทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปนั้นก็อาจเป็นไปได้ หรืออาจเป็นกฎหมายอื่น

“ผมไม่แน่ใจเดือน ก.พ. 62 เพราะปัญหามันมีอีกแยะ ถ้ารัฐบาลทำอย่างจริงจัง ทำได้สบายมาก เอาตามคำพูดที่ตัวเองพูดไว้แล้ว เลือกตั้งปี 61 เดือน ธ.ค.ทำได้ เหลือเวลาอีก 10 เดือน แต่เดือน ก.พ. 62 ก็มีความเป็นไปได้ ต้องดูก่อนว่าการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ดี มาตรา 44 ก็ดี สส. สว. ก็ดี ถ้าเดินจริงจังเป็นไปได้ ถ้าไม่จริงจังก็อาจเลื่อนออกไป ตามยุทธศาสตร์ 20 ปี ผมก็คงไม่อยู่ด้วยแล้ว ผมตอนนี้อายุ 92 แล้ว ไม่รู้ว่าจะมีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ ผมอาจจะเสียชีวิตก่อนก็ได้”

สมมติหากเป็นไปตามกำหนด รัฐธรรมนูญใหม่จะส่งผลต่อการเมืองในอนาคตแค่ไหน พิชัย (ถอนหายใจ) ก่อนตอบว่า รัฐธรรมนูญใหม่เรียกว่าอย่างไร เพราะสมัย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อดีตนายกฯ อยู่ ซึ่งตอนนั้นจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกฯ ออกรัฐธรรมนูญ ซึ่งแยกฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติออกจากกันโดยเด็ดขาด

“สมัยนั้น สส.เป็นรัฐมนตรีไม่ได้เลย อ.เสนีย์ เรียกว่า รัฐธรรมนูญฉบับฟันหลอ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้เรียกว่าอะไรผมไม่รู้ แต่เชื่อว่าทุกรัฐบาลต้องการปราบโกง แต่คนโกงมีอยู่ทุกสมัย สมัยมี สส.ก็มีการโกง สมัยนี้ก็มี นอกจากโกงแล้วก็ยังมีรีด สมัยก่อนก็เป็น ไม่ได้แก้ไขอะไรเลย

สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับคนยากจนทั่วไป หรือนักธุรกิจอะไรก็แล้วแต่ ในด้านเศรษฐกิจน่าเป็นห่วงมากๆ เพราะอย่างประเทศอื่นๆ ก้าวหน้าไปมากอย่างเทคโนโลยี แต่เรายังเตาะแตะ ถึงตอนนั้นผมคงไม่เป็นห่วง เพราะผมตายแล้ว และตอนนั้นบ้านเมืองจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้”

พิชัย อยากให้รัฐบาลดำเนินการเร่งด่วน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาปักษ์ใต้ที่ยังไม่เดินหน้าเท่าที่ควร ซึ่งอย่าลืมว่า 2 เหตุการณ์ ก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จะเข้ามา มันเป็นเหตุการณ์ที่คนชาวไทยมุสลิมทนไม่ได้ คือ กรือเซะ และตากใบ ถ้าหากตราบใดไม่มีรัฐบาลไหนยอมรับผิด ต้องยอมรับผิดก่อน แล้วแก้ไขปัญหา

อย่างไรก็ดี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เคยรับสั่ง การแก้ไขปัญหาหัวใจหลัก คือ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา คำถามมีอยู่ว่า รัฐบาลหรือผู้รับผิดชอบเข้าใจหรือไม่ เข้าถึงหรือเปล่า แล้วเมื่อเข้าใจ เข้าถึง และได้พัฒนาหรือไม่ ซึ่ง 3 คำนี้ มีความหมายลึกซึ้ง

“ผมไม่เคยเห็นใครหรือรัฐบาลที่ผ่านมานี้ ตั้งแต่เหตุการณ์กรือเซะจะดำเนินการอย่างนั้นจริงๆ แต่ก่อนจะถึงตรงนั้นต้องขอโทษเขาเสียก่อน ถ้าไม่ พี่ น้อง ลูก หลาน ที่เขาต้องตายแบบนั้น เขาไม่ลืมหรอก เป็นลูกหลานผมก็ไม่ลืม เป็นเหตุการณ์ที่รัฐบาลควรให้ความสนใจในเรื่องเกี่ยวกับปักษ์ใต้ มากกว่าเอาเรื่องอื่นๆ ขึ้นมา”