posttoday

ร้อนคร่า'ชีวิตเด็ก'พันคน/ปี อันตรายแฝงช่วงปิดเทอม

21 เมษายน 2561

ประเทศไทยเผชิญปัญหาภาวะเด็กจมน้ำเฉลี่ยต่อปีกว่า 1,000 ราย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี

โดย...เอกชัย จั่นทอง

สถานการณ์เด็กจมน้ำเสียชีวิตอาจ มองเป็นเรื่องห่างไกลตัวใครหลายคน แต่ในความเป็นจริงแล้วเชื่อหรือไม่ว่า ประเทศไทยเผชิญปัญหาภาวะเด็กจมน้ำเฉลี่ยต่อปีกว่า 1,000 ราย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่เสี่ยงต่อการจมน้ำเสียชีวิตอย่างมาก ที่สำคัญในห้วงเวลาเกิดเหตุจมน้ำมันเกิดขึ้นในช่วง ฤดูร้อนตั้งแต่เดือน มี.ค.-พ.ค.ทุกปี ซึ่งตรงกับช่วงเวลาปิดภาคเรียนของเด็กๆ พอดี

โดยข้อมูลจากสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค แสดงผลในช่วงปี 2551-2560 หรือช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีเด็กไทยต้องจมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ยสูงถึง 957 คน/ปี หรือคิดเป็นค่าเฉลี่ยประมาณวันละเกือบ 3 คน แม้ว่าตัวเลขอาจไม่สูงหากเทียบเคียงกับการเสียชีวิตในรูปแบบอื่น แต่เด็กเหล่านี้ล้วนเป็นอนาคตของชาติทั้งสิ้น

สถิติในปี 2560 พบว่า มีเด็กจมน้ำถึง 702 คน แค่ช่วงปิดเทอมระหว่างเดือน มี.ค.-พ.ค. พบเด็กจมน้ำกว่า 254 คน ปี 2560 เด็กจมน้ำสูงกว่า ปี 2559 ถึง 51 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้ชายที่จมน้ำมากกว่าเด็กผู้หญิง ที่สำคัญวันเสาร์-อาทิตย์พบว่าเกิดเหตุมากที่สุด จ.นครราชสีมา พบเด็กเสียชีวิตมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ จ.อุบลราชธานี สุรินทร์ ศรีสะเกษ

แน่นอนว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราสูญเสียเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี จากการจมน้ำเสียชีวิตไปแล้วถึง 9,534 คน โดยพบว่า เดือน เม.ย.มีการจมน้ำ เสียชีวิตสูงสุด รองลงมาเป็นเดือนมี.ค. และ พ.ค. โดยอัตราการเสียชีวิตสูงที่สุดอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่สำคัญมักเกิดเหตุตามแหล่งน้ำธรรมชาติ และบ่อขุดเพื่อการเกษตร ขณะเดียวกันกลุ่มเด็กอายุระหว่าง 5-9 ปี เสียชีวิตสูงที่สุด รองลงมาคือกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ส่วนใหญ่จะเสียชีวิตจากการจมน้ำภายในบ้านและละแวกบ้านของตัวเอง

นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยถึงสถานการณ์ภาวะเด็กจมน้ำเสียชีวิตว่า ในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค. มีเด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำมากกว่าเมื่อเทียบกับเดือนอื่นๆ ทั้งปี โดยความสัมพันธ์ขึ้นอยู่กับการปิดเทอมเพราะเด็กอยู่บ้าน ที่ผ่านมาสาเหตุจมน้ำเสียชีวิตถือว่าเกิดเหตุสูงอันดับ 1 อยู่แล้ว แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงปิดภาคเรียนพบว่าตัวเลขกับเด็กจมน้ำสูงขึ้นอีก โดยเฉพาะในเด็กชั้นประถมศึกษาที่เสียชีวิตจากการจมน้ำมากกว่าโรคอื่นๆ

ส่วนใหญ่เด็กเสียชีวิตอยู่ในกลุ่มอายุ 5-9 ขวบ เนื่องจากกลุ่มเหล่านี้อยู่ในช่วงวัยเรียน เมื่อปิดภาคเรียนจะไม่อยู่บ้านมักออกไปเล่นข้างนอก ขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองก็มักปล่อยให้ไปเล่นแม้ ไม่ไกลจากบ้านโดยที่ไม่มีใครไปดูแล มีเป้าหมายเพื่อการไปเล่นน้ำ เช่น นั่ง แช่น้ำลื่นไหลลงไป ของตกน้ำแล้วลงไปเก็บ เด็กผลักกันตกน้ำ ล้วนเป็นต้นตอการจมน้ำทั้งสิ้น เพียงแค่บ่อน้ำ ลำคลองเด็กก็เสียชีวิตได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแหล่งน้ำในชุมชนใกล้เคียง

นพ.อดิศักดิ์ แนะวิธีการลดปัญหาเด็กจมน้ำว่า เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่ผู้ปกครองเพียงอย่างเดียวที่ต้องคอยสอนเด็ก ขึ้นอยู่กับทักษะในตัวเด็กเองด้วยเนื่องจากอยู่ในวัยที่ผู้ปกครองเริ่มปล่อยห่าง และเป็นวัยที่สามารถเรียนรู้ทักษะความปลอดภัยทางน้ำได้ มี 5 ประการคือ 1.รู้จุดเสี่ยง 2.ลอยตัวได้ 3 นาที 3.ว่ายน้ำได้ 15 เมตร 4.ช่วยได้ถูกวิธีด้วยการตะโกน โยน ยื่น และ 5.ใช้ชูชีพเมื่อเดินทางทางน้ำ ทั้งหมดเป็น 5 ทักษะในการเอาตัวรอดของเด็ก

"ดังนั้น ช่วงปิดเทอมผู้ปกครองควรพาลูกหลานไปสำรวจจุดเสี่ยงในชุมชนก่อนว่าแหล่งน้ำจุดใดอันตราย ควรบอกเตือนเด็กให้รู้ และตรวจเช็กทักษะเด็กว่าจำและทำได้หรือไม่ ขณะเดียวกันทางชุมชนต้องเข้าไปดูแลว่าแหล่งน้ำจุดใดเสี่ยง ควรมีคนดูแลและจัดพื้นที่เล่นให้ปลอดภัยสำหรับเด็กมากขึ้น"

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยฯ ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า จากสถานการณ์เด็กจมน้ำพบว่า ในพื้นที่ชนบทต่างจังหวัดจะเสี่ยงเสียชีวิตมากกว่า เมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม ในกรุงเทพฯ ก็มีเด็กจมน้ำเช่นกัน โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนย่านชานเมือง ชุมชนแออัด ที่เด็กมักจะออกนอกบ้านไปเล่นน้ำตามสระว่ายน้ำ บ่อน้ำ ลำคลอง แม่น้ำ ล้วนเกิดการจมน้ำเสียชีวิตเช่นกัน

แม้ว่าในกรุงเทพฯ ตัวเลขการจมน้ำเสียชีวิตจะไม่มากเท่ากับพื้นที่ต่างจังหวัด แต่ผู้ปกครองควรระมัดระวัง โดยเฉพาะแหล่งชุมชนที่ปล่อยเด็กไปเล่นโดยไม่มีผู้ปกครองสอดส่องดูแล หรือปล่อยให้เล่นในหมู่บ้าน โดยเฉพาะหมู่บ้านสมัยใหม่ที่มีสระว่ายน้ำถือเป็นแหล่งเสี่ยงการจมน้ำเช่นกัน เนื่องจากไม่มีคนดูแลความปลอดภัยตลอดเวลา อาจมีเฉพาะช่วงวันหยุดเท่านั้น และไม่มีรั้วกั้นอย่างปลอดภัย

"ตัวเลขเด็กจมน้ำเสียชีวิต ของประเทศไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 7-8 คนต่อประชากร 1 แสนคน แต่ในต่างประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ 1 คนต่อประชากร 1 แสนคน เท่ากับว่าประเทศไทยยังสูงกว่า 7  เท่าตัว ดังนั้น ถ้ามีการฝึกทักษะให้ เด็กได้จะช่วยลดตัวเลขเด็กจมน้ำได้" นพ.อดิศักดิ์ เทียบสถิติเด็กจมน้ำในต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม การเสียชีวิตจากการจมน้ำนั้นบ่งบอกถึงการดูแลลูกหลาน ไม่ดีของผู้ปกครองและชุมชนที่จะต้องรับผิดชอบดูแลร่วมกัน เนื่องจากไม่อยากให้ละเลยเรื่องเหล่านี้ และอยากให้ช่วงการปิดภาคเรียนเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องระวังกันให้มากขึ้น