posttoday

คสช.ยิ่งลงช้า ยิ่งวิบากกรรม

19 เมษายน 2561

"เหมือนเราเดินขึ้นบันไดสูงขึ้นเรื่อยๆ ความคาดหวังก็สูงขึ้น มันเลยเส้นที่เหมาะสมของการลงแล้ว ถ้าเกิดตกลงมาจะเจ็บมาก"

"เหมือนเราเดินขึ้นบันไดสูงขึ้นเรื่อยๆ ความคาดหวังก็สูงขึ้น มันเลยเส้นที่เหมาะสมของการลงแล้ว ถ้าเกิดตกลงมาจะเจ็บมาก"

*********************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ท่ามกลางอุณหภูมิทางการเมืองที่ร้อนระอุขึ้น หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ได้แต่งตั้ง “สนธยา คุณปลื้ม” หัวหน้าพรรคพลังชล เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และตั้ง อิทธิพล คุณปลื้ม เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬานั้น หลายฝ่ายฟันธงนี่คือแผนเริ่มต้นในการกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้ง

สถานการณ์ทางการเมืองหลังจากนี้จะออกทิศทางไหน น่าสนใจยิ่ง แต่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ประเมินสถานการณ์ทางการเมืองว่า คณะรัฐประหารยิ่งลงช้าเท่าไหร่ ยิ่งมีวิบากกรรมมากเท่านั้น ความชอบธรรมเริ่มต้นก็ไม่มีอยู่แล้ว

“เหมือนเราเดินขึ้นบันไดสูงขึ้นเรื่อยๆ ความคาดหวังก็สูงขึ้น มันเลยเส้นที่เหมาะสมของการลงแล้ว ถ้าเกิดตกลงมาจะเจ็บมาก สมมติว่าตกขั้นที่ 5 ก็อาจไม่เป็นไร แต่ถ้าตกขั้นที่ 20 ล่ะ” พล.ท.ภราดร ระบุ

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญนี้อาจเอื้อให้ สว. 250 เสียง เป็นฝ่ายที่ออกแบบไว้ แต่ถ้าเกิดฝ่ายประชาธิปไตยได้เกิน 500 เสียง ความชอบธรรมมันมี ฉะนั้น สว. 250 เสียง ที่จะเอานายกฯ คนนอก ถ้าเกิดได้แล้วจะบริหารยังไง ทั้งตั้งกระทู้ ยื่นญัตติ มันไปไม่รอดในสภาล่าง รัฐธรรมนูญที่เรามักพูดกันว่าแก้ยาก แต่สุดท้ายจะฝืนยาก เพราะคนเห็นแล้วว่าประเทศไปข้างหน้าไม่ได้

อย่างไรก็ตาม อายุของรัฐธรรมนูญนี้จะรอดถึง 3 ปีหรือเปล่า บางคนให้แค่ปีเดียวด้วยซ้ำ แค่กระบวนการคัดเลือกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)เริ่มต้นเหมือนดูดี คัดมา 30 คน โอ้โห ผู้สมัครดูเข้าท่า แต่พอคัดลงมาจริงๆ เอ้าทำไมมันไม่ได้คนที่ต้องการ เพราะเงื่อนไขของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทำให้หาคนที่เป็นเทพจริงๆ ไม่ได้

พล.ท.ภราดร บอกอีกว่า การบริหารของรัฐบาลนี้ ที่ผ่านมาเกิดภาระของประเทศมากมาย เกิดความเสียโอกาสต่างๆ แม้จะมีเจตนาที่ดีก็ตาม แต่จริงๆ รากของปัญหาคือเรื่องการปกครอง แม้กระทั่งเรื่องเศรษฐกิจจะเหมือนไปได้ แต่ถ้าไปถามประชาชนส่วนใหญ่ก็ชัดเจนว่ามันรวยกระจุก จนกระจาย

“ปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องความเชื่อมั่น พอประเทศไม่ได้เป็นประชาธิปไตย เขาไม่สามารถมั่นใจในกฎกติกาที่เกิดจากคนกลุ่มเดียว เรานึกว่า ม.44 เป็นยาวิเศษ แต่นักลงทุนมองว่า เฮ้ย ถ้ามันถูกใช้กับเขาจะเกิดอะไรขึ้น เพราะฉะนั้นเผด็จการกับประชาธิปไตยเหมือนพวกมองโลกแบนกับโลกกลม เช่น เวลามันเถียงกันตอนขึ้นเรือ ฝ่ายโลกแบนบอก เฮ้ย ไปได้ไง เดี๋ยวตกขอบทะเล ฝ่ายที่มองโลกกลมมันจะรอด เพราะกลับมาพร้อมอาหารการกิน แต่ถ้าเกิดโชคร้าย ชกกันไปชกกันมา ฝ่ายโลกแบนชนะ มันต้องติดอยู่บนเกาะด้วยกัน จนอาหารหมดแล้วก็ฆ่ากันเอง”

อดีตเลขาฯ สมช. ยังได้เสนอแนวทางป้องกันการยึดอำนาจในอนาคตว่า ฝ่ายประชาธิปไตยถ้าได้อำนาจต้องสื่อสารหนักมาก ทำให้คนเกิดศรัทธาในประชาธิปไตย ทำให้คนมีทางออกว่าทางออกนี้ดียังไง นอกจากส่งเสริมอุดมการณ์แล้ว ต้องทำให้คนรู้เท่าทันเผด็จการ ชี้ให้เห็นว่าที่ผ่านมาการคอร์รัปชั่นต่างๆ มันทำลายตัวเอง

รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยต้องเปิดเวทีให้ภาคประชาชนได้อภิปราย เหมือนเรื่องห้ามสูบบุหรี่ สู้กันมาเป็นสิบๆ ปี ตอนหลังเข้มข้นขึ้น จนวันนี้คนส่วนใหญ่ยอมรับไปเองว่าห้ามสูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบ หรือที่มาเลเซียเป็นประเทศมุสลิมส่วนใหญ่ แต่ทำไมมีกาสิโน เพราะเขาเคารพเสียงส่วนใหญ่ว่าควรจะมี

แล้วการกระจายอำนาจก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลประชาธิปไตยต้องทำ เหมือนการปฏิรูปตำรวจ ผลสัมฤทธิ์จะเกิดขึ้นได้ต้องควบคู่ไปกับการปกครองส่วนท้องถิ่น ตำรวจในโลกที่เข้มแข็งอย่างแอลเอที่อเมริกา เพราะขึ้นตรงกับผู้ว่าฯ จะเป็นตำรวจนิวยอร์กก็เป็นไป จะเป็นตำรวจแอลเอก็มาสมัครที่แอลเอ เขาถือว่าถ้าคุณอยู่ท้องถิ่นคุณจะรู้ดีที่สุด ใครเข้ามาตำรวจรู้หมด ถ้าตำรวจเลว ประชาชนก็รู้ แล้วของเขายศอย่างมากก็ Captain นอกนั้นเรียกชื่อเป็นตำแหน่ง เป็นผู้บัญชาการไป

สำหรับเรื่องการแก้ไขปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น พล.ท.ภราดร บอกว่า ในฐานะเคยเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพ นำทีมข้าราชการระดับสูงบินไปมาเลเซียเพื่อหาทางสงบศึกกับขบวนการบีอาร์เอ็นนั้น เห็นพัฒนาการเป็นบวกมาก เพราะกระบวนการจากนโยบายที่เกิดขึ้นมีความชอบธรรม ตั้งแต่การหารือในพื้นที่ จนเกิดเป็นยุทธศาสตร์ ผ่าน สมช.เข้าสู่รัฐบาล

“ถ้าไม่เกิดรัฐประหาร มันจะก้าวไปข้างหน้าได้เร็วมาก พอรัฐบาลรัฐประหารเข้ามา ในเชิงนโยบายก็ไม่ได้เปลี่ยนอะไรมากนัก แต่หัวใจสำคัญคือความเชื่อถือไว้วางใจกัน ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์อยู่ในสเต็ปแรก คือการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ปัจจุบันนี้เราก็ยังอยู่ในสเต็ปแรก เพราะการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต้องเกิดขึ้นในทุกระดับชั้น ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ระดับพื้นที่ มาถึงฝ่ายนโยบาย แล้วก็ไปสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านและในภูมิภาคมุสลิม”

ฉะนั้น พอรัฐบาลทหารเข้ามา ความไว้วางใจมันมีปัญหา เดิมทีสภาพการณ์ในพื้นที่ ฝ่ายตรงข้ามก็ไม่ไว้ใจทหารอยู่แล้ว ทหารก็ไม่ไว้ใจฝ่ายที่จะมาคุย ยังมีความระแวงกัน ตอนนี้ก็ต้องดำรงสภาพแบบนี้ไป สร้างความไว้ใจกันไป