posttoday

กม.กำกับจริยธรรม-รู้เท่าทันสื่อ การปฏิรูปจึงจะสำเร็จ

15 เมษายน 2561

"สื่อกลัวไปหมด กลัวภาครัฐเข้ามาชี้นำ บังคับ ข่มขู่ ควบคุม แต่ถามว่า สื่อกำกับกันเองได้หรือไม่ ความจริงถ้าสื่อตั้งใจและมีเจตนาเดียวกันที่จะให้วิชาชีพตัวเองโปร่งใส มีเสรีภาพ ก็ต้องดูแลกันเองให้ได้"

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

ในยุคที่นิยามของ “สื่อ” ไม่ได้ถูกจำกัดเฉพาะสื่อกระแสหลักเหมือนเดิม หากแต่ขยายความไปยังสื่อบุคคล สื่อออนไลน์ เจ้าของเพจในเฟซบุ๊ก เพราะใครๆ ก็เป็นสื่อได้ การนำเสนอข้อมูลจึงเป็นความเห็น ชี้นำปลุกระดมสร้างความตื่นตระหนก บิดเบือน ผิดพลาด

ปัญหาสื่อละเมิดจริยธรรม สื่อขาดความเป็นมืออาชีพ เป็นปัญหาหลักที่กำลังบั่นทอนวงการสื่อสารมวลชนในปัจจุบัน องค์กรวิชาชีพสื่อที่มีอยู่ก็ไม่สามารถกำกับ หรือควบคุมกันเองได้ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ

แนวทางสำคัญในแก้ปัญหาตามข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชนที่รัฐบาลแต่งตั้งขึ้น คือ การผลักดันร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ และรณรงค์ให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อเพื่อตรวจสอบสื่อโดยเฉพาะสื่อออนไลน์ จำนวนไม่น้อยขาดความรับผิดชอบ และละเมิดผู้อื่น

จิรชัย มูลทองโร่ย ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ขยายความในหนังสือวันนักข่าวประจำปี 2561 ในหัวข้อ “สื่อมืออาชีพ” จัดทำโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถึงภารกิจที่กรรมการปฏิรูปประเทศเสนอให้รัฐบาลผลักดัน มีอยู่ 2 เรื่อง ดังที่ได้กล่าวข้างต้น ในส่วนของ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพฯ มีข้อเสนอให้เปลี่ยนชื่อเป็น ร่าง พ.ร.บ.กำกับจริยธรรมสื่อ คาดว่า จะเสนอร่างกฎหมายไปยังรัฐบาลในเดือน เม.ย.ปีนี้ ส่วนตัวคิดว่า ต้องรีบออกเป็นกฎหมายให้เร็วที่สุด ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่สามารถปฏิรูปสื่อได้

“ถ้ากฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพออกไม่ได้ทุกอย่างก็จบ เพราะความหวังอยู่ตรงนี้ ส่วนการรณรงค์รู้เท่าทันสื่อเป็นมิติที่ภาครัฐจะต้องเข้ามาปฏิรูปสื่อ เชื่อว่าสองเรื่องนี้ที่เราจะผลักดันและเสนอรัฐบาล โดนใจชาวบ้านแน่”

เนื้อหาร่างกฎหมายดังกล่าวมีทั้งหมด 97 มาตรา หลักการสำคัญกำหนดให้มีการกำกับ ตรวจสอบสื่อในด้านจริยธรรม แบ่งเป็นบันไดสามขั้นประกอบด้วย 1.ในฐานะเป็นองค์กรสื่อของต้นสังกัดนั้นๆ 2.การกำกับตนเองในฐานะองค์การสื่อที่มีอยู่ในปัจจุบัน (สภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย) 3.สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ที่จะเกิดขึ้นจากร่างกฎหมายฉบับนี้ สามหลักนี้ชัดเจนที่จะให้สื่อกำกับกันเอง มีบทลงโทษทางจริยธรรมตามกฎหมาย ตรงนี้เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ แต่จะเป็นได้หรือไม่ อยู่ที่สื่อแต่ละคนว่าจะมีจิตสำนึกว่า จะร่วมมือเพื่อรักษาวิชาชีพตัวเองไว้ได้แค่ไหน จะได้ไม่เกิดปัญหาเหมือนปัจจุบัน ที่ว่าเมื่อสื่อไหนไม่พอใจผลการกำกับของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ก็ลาออก สิ่งเหล่านี้จะต้องไม่เกิดขึ้นหากกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้

จิรชัย กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ฝ่ายสื่อไม่ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาเป็นกรรมการสภาวิชาชีพสื่อฯ เพราะกลัวรัฐแทรกแซง ครอบงำ แต่ยอมให้เข้ามาได้ในนามสื่อของรัฐแทน เช่น ตัวแทนสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที อสมท หรือช่อง 5 แต่ไม่ให้ระดับอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์มาเป็นกรรมการ อย่างไรก็ตามมองว่า ตำแหน่งปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ถือเป็นคนกลางที่สุดที่น่าจะเข้ามาได้เพื่อเป็นประธานคัดเลือกตัวแทนคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ เนื่องจากเคยนั่งเก้าอี้มาก่อน การทำงานไม่เข้าใครออกใคร อีกประเด็นที่จะไม่มีแน่ๆ ในร่างกฎหมายฉบับนี้อย่างที่สื่อกังวล คือ การขึ้นทะเบียนสื่อมวลชน แต่จะให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติที่จะตั้งขึ้นตามกฎหมายเป็นผู้กำหนด

จิรชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาสื่ออยากจะดูแลกันเอง ไม่อยากให้ภาครัฐเข้ามากำกับ สื่อกลัวไปหมด กลัวภาครัฐเข้ามาชี้นำ บังคับ ข่มขู่ ควบคุม แต่ถามว่า สื่อกำกับกันเองได้หรือไม่ ความจริงถ้าสื่อตั้งใจและมีเจตนาเดียวกันที่จะให้วิชาชีพตัวเองโปร่งใส มีเสรีภาพ ก็ต้องดูแลกันเองให้ได้ การกำกับกันเองอยู่ที่ความตั้งใจของสื่อว่าจะทำให้สังคมของสื่อเข้มแข็งปราศจากการครอบงำอื่นได้หรือไม่ แต่เชื่อว่า ทำได้แน่ อีกทั้งที่ผ่านมาสื่อพยายามสร้างกลไกกำกับขึ้นมาภายใน เช่น ผู้ตรวจการของสื่อแต่ละสังกัด เช่น ไทยพีบีเอส สปริงนิวส์ ไทยรัฐ แต่ทำกันเองเงียบๆ ไม่ได้ประกาศออกสู่สังคมให้ประชาชนทราบว่า หากมีเรื่องใดที่ประชาชนอยากจะร้องเรียนว่าสื่อมีปัญหา ก็ให้แจ้งมาที่สังกัดนั้นๆ ได้ ดังนั้น ร่างกฎหมายฉบับนี้จะช่วยแก้ปัญหาการกำกับกันเองของสื่อให้ดีขึ้น

จิรชัย อธิบายว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีมาตรฐานกลางทางจริยธรรมแห่งวิชาชีพ หรือร่มใบใหญ่ทางจริยธรรมมากำกับสื่อในมิติต่างๆ ไม่ต่างจาก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่กำกับจริยธรรมสื่อวิทยุและโทรทัศน์ทั้งประเทศ แต่ภายในร่มใบใหญ่ ก็ยังต้องมีร่มใบย่อยคอยกำกับสื่อ เช่น หนังสือพิมพ์ คอยกำกับองค์กรตนเอง เปิดรับเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้อ่าน และองค์กรวิชาชีพสื่อที่มีอยู่ก็กำกับสมาชิกสื่อให้อยู่ในกรอบจริยธรรมตามเดิม

การปฏิรูปสื่ออีกเรื่อง คือ การรู้เท่าทันสื่อ ประชาชนจะต้องรู้ว่าสื่อไหนให้ข่าวออกมาแล้วควรจะเชื่อหรือแชร์ ในส่วนนี้แม้จะมีหลายภาคส่วนดำเนินการอยู่ กองทุนสื่อที่เกี่ยวข้องก็มีมากมาย แต่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศอยากให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าภาพเพื่อดูว่า แผนการเรียนรู้เพื่อรู้เท่าทันสื่อจะทำในมิติไหน เช่น ในโซเชียลมีเดีย ส่วนการรู้เท่าทันสื่อในอีกด้านคือ ในฐานะผู้บริโภคก็ต้องทำคู่ขนานกันไป ปัจจุบันมี 8 กระทรวง 20 กรมที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคก็ต้องมีบทบาท เช่น สื่อใดโฆษณาเกินจริงหรือไม่ ต้องลงโทษตรงนี้อย่างไร ทั้งหมดต้องขับเคลื่อนและบูรณาการด้วยกัน

ในภาพใหญ่ของการปฏิรูปสื่อครั้งนี้ จิรชัย ย้ำว่า อยู่ภายใต้ปรัชญา “สร้างเสรีภาพการทำหน้าที่ของสื่อบนความรับผิดชอบกับการกำกับที่มีความชอบธรรม และเพื่อดำรงรักษาเสรีภาพของการแสดงออก การรับรู้ของประชาชน นอกจากนี้เพื่อให้สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม”

หากอธิบายเป็นภาพก็จะเหมือนรูปสามเหลี่ยมที่เกื้อกูลกัน ประกอบด้วย ด้านแรก ภาครัฐ สื่อไม่ต้องการให้ภาครัฐมาบังคับ กำกับดูแล แต่ภาครัฐจะต้องเปลี่ยนหน้าที่มาสนับสนุน ส่งเสริม ดูแลสื่อเพื่อไม่ให้สื่อไปละเมิดสิทธิของคนอื่น ถ้าสื่อละเมิดสิทธิประชาชน ภาครัฐก็ต้องดูว่าจะเยียวยาอย่างไร

ด้านที่สอง สื่อ แม้สื่อจะเรียกร้องสิทธิเสรีภาพมากมาย แต่สื่อก็ต้องอยู่ภายใต้กติกาของสังคมด้วย ไม่ว่าสังคมที่มีกฎหมายที่สื่อต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว หรือในอนาคตที่ต้องมีกฎหมายใหม่ สื่อต้องตอบสนองต่อสังคมว่า จะให้ประชาชนมามีส่วนร่วมตรวจสอบสื่ออย่างไร เพราะทุกวันนี้ประชาชนยังบ่นสื่อกันอยู่ แต่ประชาชนยังไม่ได้แสดงออกถึงข้อเสนอว่า สื่อใดดี หรือไม่ดี

ด้านที่สาม ประชาชน เป็นส่วนที่ได้รับ
ผลกระทบมากที่สุด ประชาชนก็ต้องให้รัฐดูแลสิทธิของประชาชนไม่ให้ถูกละเมิด ขณะที่ภาครัฐเองก็มีสิทธิรับเรื่องร้องทุกข์จากการกระทำของสื่อจากประชาชนที่มาร้องเรียน ส่วนสื่อต้องมีกลไกที่จะรับข้อเสนอของประชาชนที่จะบอกว่า ไม่ชอบเลยในสิ่งที่สื่อพูดมา

อีกเรื่อง การปฏิรูปสื่อออนไลน์ ทุกวันนี้ประชาชนเข้าถึงสื่อออนไลน์ได้ง่าย และผลิตสื่อออนไลน์ได้เอง หน่วยงานป้องกัน คือ กองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือตำรวจ ปอท. มีเจ้าหน้าที่เพียง 30 กว่าคนไม่สามารถดูปัญหาในออนไลน์ทั่วประเทศได้ ปอท.ก็ต้องหาวิธีสร้างแนวร่วมจากประชาชนให้มากกว่านี้ และต้องมีมาตรการคุ้มครองเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ที่ต้องเป็นเรื่องเร่งด่วน เรื่องเหล่านี้ถ้าภาครัฐเป็นฝ่ายตรวจสอบสื่อออนไลน์เอง แต่ไม่ให้ภาคประชาชนมามีส่วนร่วม ชาติหน้าก็ไม่มีทางสำเร็จหรือแก้ปัญหาได้

จิรชัย กล่าวสรุปว่า ความจริงกฎกติกาของสื่อมีอยู่แล้ว และกฎหมายที่สื่อต้องเข้าไปเกี่ยวข้องเพื่อไม่ให้รายงานข่าวละเมิดจริยธรรม ก็มีหลายฉบับ การปฏิรูปครั้งนี้นอกจากจะต้องมีกฎหมายใหม่มาบังคับใช้แล้ว จะต้องทำเพื่อให้กลไกกำกับที่มีอยู่แล้วแต่ถูกเก็บในลิ้นชักออกมาวางบนโต๊ะให้ได้เพื่อให้ประชาชนเห็น

งานปฏิรูปสื่อไม่ใช่การเริ่มต้นใหม่ แต่เพราะสื่อดูแลกันเองไม่ได้เพราะทำไม่ครบถ้วน ไม่ได้บรูณาการอีกเรื่องคือ กองทุนที่จะสนับสนุนการทำงานปฏิรูปสื่อ หรือแหล่งเงิน ก็มีอยู่แล้ว จากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะของ กสทช.ที่ผ่านมา ใครรู้ก็เข้าไปขอเงิน จากนี้ กองทุน กสทช.ต้องเปลี่ยนแนวมาสนับสนุนภายนอกสู่สังคม ดังนั้น ต้องอยู่ที่กลไกและการเชื่อมโยง ไม่ควรมองแต่เรื่องตัวเอง ต้องมองทั้งเครือข่าย

“ขณะนี้คุณภาพของสื่อที่ออกมาในสายตาของสังคมแย่มาก ทีวีแต่ละช่องแย่มาก ไม่มีอะไรเลย เพราะเขาเน้นเรตติ้ง เขาต้องหากินเองเพื่อความอยู่รอด ไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพ เนื้อหา ตรงนี้คือ ส่วนที่รัฐต้องสนับสนุนผมคุยกันแล้ว เห็นว่า เมื่อรัฐอยากให้สื่อเป็นโรงเรียนของสังคม ส่งเสริมวัฒนธรรมก็ต้องมาดูว่าจะช่วยสื่อตรงไหนเพื่อไม่ให้สื่อตระเวนหาโฆษณา ซึ่ง กสทช.มีกองทุนอยู่ รัฐไม่จำเป็นต้องเอางบประมาณจากรัฐมาจัดสรรให้”จิรชัย กล่าว