posttoday

ทุจริต ’รากลึก’ วงราชการ ทำลายโอกาสประชาชน

14 เมษายน 2561

ประเด็นปัญหาทุจริตในหน่วยงานภาครัฐกำลังถูกเปิดโปงอย่างมากในช่วงระยะเวลา 1-2 เดือนที่ผ่านมาหลายเหตุการณ์ทุจริตปรากฏขึ้นในหน่วยงานราชการหลายแห่ง

โดย เอกชัย จั่นทอง

ประเด็นปัญหาทุจริตในหน่วยงานภาครัฐกำลังถูกเปิดโปงอย่างมากในช่วงระยะเวลา 1-2 เดือนที่ผ่านมา หลายเหตุการณ์ทุจริตปรากฏขึ้นในหน่วยงานราชการหลายแห่ง คือเงาสะท้อนให้เห็นว่าการทุจริตยังคงเกิดขึ้น และกระจายไปทุกย่อมหญ้าในประเทศไทย ที่สำคัญยังฝังรากลึกปัญหาทุจริตกันมานานนับปีและในทุกมิติ

ในความตื่นตัวกับปัญหาทุจริตที่ดูเหมือนว่ายิ่งตรวจสอบตรงไหนยิ่งพบความผิดปกติ ยิ่งปัจจุบันมีหลายคดีเกิดขึ้นในหน่วยงานราชการ ไล่เรียงตั้งแต่กรณีพบการทุจริตการเบิกจ่ายงบประมาณเงินอุดหนุน ประเภท “เงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่งของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง” ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่ดูเหมือนจะลุกลามไปถึงผู้บริหารระดับสูงในกระทรวง ปมทุจริตนี้ถูกเริ่มตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา มีผู้กระทำผิดประมาณ 53 จังหวัด งบประมาณ 503 ล้านบาท (ปีงบประมาณ 2560)

ถัดมากรณีทุจริตเงิน “กองทุนเสมาพัฒนาชีวิต” หรือเงิน “ตกเขียว” ภายใต้การบริหารงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่งมีข้าราชการระดับสูง ทำการทุจริตงบประมาณในโครงการดังกล่าวมานานกว่า 10 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2551-2561 เป็นเงินกว่า 88 ล้านบาท และล่าสุดกรณีกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ตรวจสอบพบว่า มีการทุจริตการจัดซื้อรถขยะและรถดูดโคลนใน 33 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) ทำให้รัฐเกิดความเสียหายอย่างมหาศาล

ปมทุจริตที่เกิดขึ้นฉายภาพชัดเจนว่ามาจากหน่วยงานราชการทั้งสิ้น เรื่องนี้ ดร.มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นประเทศไทย สะท้อนปรากฏการณ์ปัญหาทุจริตในแวดวงราชการว่า ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่ายังมีปัญหาการทุจริตในหน่วยงานราชการที่ฝังรากลึกมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน กระทั่งถูกสังคมตรวจสอบเปิดเผยจนเกิดการตรวจสอบขึ้นในขณะนี้

“ภาพที่มีเจ้าหน้าที่ข้าราชการระดับสูงไปเกี่ยวข้องกับทุจริตในหน่วยงานต่างๆ นั้น แสดงให้เห็นว่ามีการกระทำทุจริตเป็นขบวนการและเป็นเครือข่ายในการรับส่วย โดยเป็นรูปแบบการดูแลจากลูกน้องระดับล่างไล่ขึ้นไปถึงระดับบนที่มีตำแหน่งสูงกว่า โดยขึ้นอยู่กับโครงสร้างของหน่วยงานนั้นๆ ในเมื่อมีการส่งส่วยแล้วคนทุจริตระดับล่างก็ต้องทำผลงานเพื่อให้ตัวเองได้ดำรงตำแหน่งนั้นนานต่อไปด้วย”

ดร.มานะ ยังเสริมด้วยว่า เรื่องบทบาทของหน่วยงานรัฐที่เข้ามาตรวจสอบปัญหาทุจริตนั้นถือว่า มีการตื่นตัวมากกว่าเดิม เพียงแต่ยังขาดการบูรณาการทำงานร่วมกัน ยังไม่มีการแชร์ข้อมูลข่าวสาร เนื่องจากทุกคนทุกฝ่ายยังต่างมีข้อมูลในมือของตัวเอง แต่ไม่ได้นำมาบูรณาการจัดการร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริต นั่นจึงไม่แปลกว่าศักยภาพในการตรวจสอบหยุดปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นจึงยังไม่เพียงพอ

ไม่ต่างจาก พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้ความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวว่า ผลพวงจากการทุจริตไม่ว่ารูปแบบใดก็ตามถือว่ามีผลกระทบต่อฐานะการเงินของแผ่นดินทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่โอกาสใช้เงินแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทำให้ประชาชนเสียโอกาส ยังกระทบถึงสังคม สิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย

สาเหตุการทุจริตในหน่วยงานราชการปัจจุบันนั้น ผู้บริหารมักมุ่งแต่เรื่องเชิงนโยบาย โดยไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารอย่างแท้จริง แม้ว่าจะมีนโยบายสั่งการชัดเจน แต่ยัง “ขาดการควบคุมติดตามประเมินผล” ส่วนนี้จึงเป็นช่องโหว่ เป็นช่องทางให้คนปฏิบัติฉวยโอกาสจากช่องทางนี้จนเกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นขึ้นมา เกิดเป็นการรั่วไหลเสียหาย ในขณะที่ผู้บริหารมุ่งแต่เรื่องความสำเร็จที่เป็นภาพรวมเท่านั้น

อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจนอีกว่า สมมติให้เงินไปเพื่อแก้ปัญหาตามจำนวนงบประมาณ แต่ขาดการสำรวจตรวจสอบศึกษาอย่างถ่องแท้ถึงความจำเป็นที่แท้จริง จึงทำให้ผู้ปฏิบัติการฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์ สร้างตัวเลขขึ้นมาเพื่อให้การเบิกจ่ายตามงบประมาณใช้จ่ายไปหมด ซึ่งดูผิวเผินอาจประสบความสำเร็จตามงบประมาณที่ให้ แต่ในข้อเท็จจริงแล้วอาจจะมีหลายรายการในการใช้งบประมาณนั้นเป็นไปตามตัวเลขที่สร้างขึ้นเอง เช่น จำนวนคนจนผู้ยากไร้ ผันแปรไปตามงบประมาณ ดังนั้นถ้าหากมีจำนวนคนจนไม่ถึงเกณฑ์ก็ต้องสร้างตัวเลขขึ้นมาเพื่อให้งบประมาณเหล่านั้นถูกใช้ให้หมดไป

นอกจากนี้ ด้านหนึ่งยังเป็นผลงานเชิงสถิติ แต่อีกด้านเป็นการฉวยโอกาสเพื่อหาผลประโยชน์จากการสร้างตัวเลขเท็จ อีกทั้งยังฉวยโอกาสซ้ำเติมผู้ยากจนที่แท้จริงโดยการเบียดบังทรัพย์บางส่วนไปพร้อมกัน ในส่วนนี้เป็นภาพที่ออกมาจากการทุจริตในปัจจุบัน ดังนั้นการตรวจสอบที่โปร่งใสทั่วถึง ควบคุมติดตามตรวจสอบประเมินผลจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างมาก

สำหรับการทุจริตที่มีข้าราชการระดับสูงเข้ามาเกี่ยวข้องนั้น พิศิษฐ์ เสริมความเห็นมุมนี้ว่า ไม่ว่าข้าราชการระดับใดถ้าหากมีความโลภ แล้วต้องการผลประโยชน์ส่วนตัวเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่ความก้าวหน้าในสายงานนั้นจะมีโอกาสเกิดการทุจริตได้ทั้งหมด

“ถ้าหากเป็นข้าราชการระดับสูงจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง โดยปกติถ้าเป็นเจ้าหน้าที่แต่ละส่วนราชการงานอาจจะเสียหายเป็นส่วนไป แต่ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงเข้าไปพัวพันเกี่ยวข้องด้วย ผ่านการผลักดันจากนโยบายจะยิ่งทำให้เกิดความเสียหาย และกระจายวงกว้างไปทั่วประเทศไทย”

แม้ว่า พิศิษฐ์ จะเกษียณราชการไปแล้ว แต่ข้อห่วงใยที่ใคร่ฝากเตือนถึงสังคม คืออย่าประมาทว่าแม้ปัจจุบันอยู่ในสถานการณ์พิเศษ และรัฐบาลมีนโยบายปรามปราบทุจริตชัดเจนนั้น แต่การควบคุมตรวจสอบติดตามประเมินผลยังเป็นสิ่งจำเป็น ต้องอย่ามองข้ามการบริหารของผู้บริหารระดับสูง และใช้เครื่องมือที่มีอยู่ทั้งผู้ตรวจสอบภายใน ผู้ตรวจการกระทรวง ให้ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ