posttoday

คิกออฟปฏิรูปการศึกษา ประเดิมใช้เงิน 2.5 หมื่นล้าน

06 เมษายน 2561

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ณ วันนี้มีอายุครบ 1 ปีอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 เม.ย. ตัวอักษรหลายมาตราที่อยู่ในกฎหมายสูงสุดของประเทศเริ่มออกดอกออกผลให้เห็นบ้างระดับหนึ่ง

โดย ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ณ วันนี้มีอายุครบ 1 ปีอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 เม.ย. ตัวอักษรหลายมาตราที่อยู่ในกฎหมายสูงสุดของประเทศเริ่มออกดอกออกผลให้เห็นบ้างระดับหนึ่ง แต่มีบางเรื่องที่ยังไม่ค่อยเดินหน้าไปดีอย่างที่ควรจะเป็นเท่าไหร่นัก

เรื่องสำคัญที่เริ่มมีการวางรากฐานลงไปบ้างแล้ว เช่น การปฏิรูปประเทศ ภายหลังมีกฎหมายกำหนดและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ พร้อมกับตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 8 ชุด นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการปฏิรูปชุดพิเศษที่มีภารกิจเฉพาะตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ด้วย

คณะกรรมการชุดที่ว่านั้นคือ คณะกรรมการอิสระที่มีความเป็นอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเป็นผลผลิตจากรัฐธรรมนูญมาตรา 261 ที่กำหนดให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการแต่งตั้งบุคคลเข้ามาทำภารกิจดังกล่าว

เวลานี้คณะกรรมการชุดนี้ได้มีผลงานสำคัญที่ผลักดันและได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นที่เรียบร้อยอย่าง “ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา”

กฎหมายกองทุนฯ เกิดขึ้นตามมาตรา 54 วรรค 6 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่ระบุว่า “ให้จัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาและเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู โดยให้รัฐจัดสรรงบประมาณให้แก่กองทุนหรือใช้มาตรการหรือกลไกทางภาษี รวมทั้งการให้ผู้บริจาคทรัพย์สินเข้ากองทุนได้รับประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีด้วย”

สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ที่มาตรา 6 ซึ่งบัญญัติให้ตั้ง “กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา” ภายใต้วัตถุประสงค์ส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กปฐมวัยได้รับการพัฒนาทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญาที่เหมาะสมกับวัย

นอกจากนี้ ให้ความช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และผู้ด้อยโอกาสให้ได้รับการศึกษาหรือพัฒนา เพื่อให้มีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพตามความถนัดและมีศักยภาพที่จะพึ่งพาตนเองในการดำรงชีวิตได้

ส่วนประเด็นที่เป็นหัวใจของร่างกฎหมายฉบับนี้นั้น หนีไม่พ้นเรื่องที่มาซึ่งเป็นรายได้ของกองทุน โดยมาตรา 7 กำหนดให้กองทุนมีแหล่งรายได้ 7 ทาง

1.เงินและทรัพย์สินที่ได้รับโอนจากกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน 2.เงินที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นทุนประเดิมจำนวน 1,000 ล้านบาท 3.เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นรายปีตามแผนการใช้เงินที่คณะกรรมการและคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว

4.เงินรายได้ที่ได้รับจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด 5.รายได้จากการดำเนินงานและการลงทุนของกองทุน 6.เงินและทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ 7.ดอกผลของเงินและทรัพย์สินของกองทุน

สำหรับประเด็นเกี่ยวกับมาตรา 7 มีความพยายามของคณะกรรมาธิการวิสามัญของ สนช.เสียงข้างน้อย ในการปรับแก้ด้วยการขอให้มีมาตรา 47/1 กล่าวคือ กำหนดลงไปว่าในวาระเริ่มแรก 3 ปี ให้รัฐบาลจัดสรรเงินอุดหนุนให้กองทุนฯ ไม่น้อยกว่า 5% หรือประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายในส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษาของปีงบประมาณก่อน โดยในการจัดสรรเงินดังกล่าวให้คำนึงถึงฐานะการเงินของประเทศ และความจำเป็นในการใช้เงินประกอบกับขีดความสามารถในการใช้เงินของกองทุนประกอบด้วย

โดยมองว่าหากไม่มีการกำหนดกรอบงบประมาณกองทุนที่ชัดเจนในช่วงเริ่มต้นดำเนินการ กองทุนนี้อาจจะยังคงติดอยู่กับระบบการจัดสรรงบประมาณตามระบบราชการ ซึ่งจะทำให้กองทุนนี้ขาดความเป็นอิสระ และไม่มีพลังในการปฏิรูปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

อีกทั้งยังพยายามชี้ให้เห็นว่าหากในอนาคตเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จะมีผลให้แนวทางการดำเนินการของกองทุนขาดความต่อเนื่อง จนในที่สุดไม่สามารถผลักดันการปฏิรูปให้เกิดเป็นรูปธรรมได้

แต่ข้อเสนอเหล่านี้กลับไม่สามารถผลักดันให้เป็นตัวบทกฎหมายได้ เพราะคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เสียงข้างมากไม่เห็นด้วย ทำให้เป็นไปได้ที่บันทึกข้อสังเกตที่ส่งให้รัฐบาลพิจารณา ซึ่งยังดีที่ตัวแทนรัฐบาลในคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ รับปากว่าจะผลักดันเรื่องดังกล่าวต่อไป

ขณะเดียวกันร่างกฎหมายยังถูกปรับแก้ในเรื่องการกำกับและดูแลกองทุนด้วย โดยให้นายกรัฐมนตรีเข้ามามีบทบาทตามมาตรา 47

โดยกำหนดให้นายกฯ มีอำนาจสั่งให้กองทุนชี้แจง หรือยับยั้งการกระทำที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่สอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ แผนขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ จากเดิมที่ให้นายกฯ มีหน้าที่กำกับและดูแลดำเนินกิจการของกองทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และรัฐธรรมนูญเท่านั้น

ทั้งนี้ ในภาพรวม เมื่อ สนช.ได้ให้ความเห็นชอบกับร่างกฎหมายฉบับนี้แล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนของการให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

ทันทีที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ นั่นหมายความว่าการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญจะเริ่มต้นอย่างเป็นทางการ และถึงเวลาจะเห็นกันว่าถ้อยคำที่เขียนไว้สวยหรูในรัฐธรรมนูญ จะได้รับการปฏิบัติจากหน่วยงานรัฐอย่างไร ระหว่างการนำไปก่อสร้างรากฐานให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี หรือใช้วิธีราชการแบบเดิมๆ ที่ให้ผลลัพธ์ไม่ต่างจากอดีตที่ผ่านมา เพราะยังไม่ยอมเปลี่ยนทัศนคติในการปฏิรูปประเทศ