posttoday

วิกฤติมหา’ลัย โจทย์ใหญ่ที่ต้องเร่งปรับตัว

04 เมษายน 2561

สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานเมื่อไม่นานมานี้ ตัวเลขว่างงานจากการสำรวจครั้งสุดท้ายจนถึงเดือนก.พ.ปีนี้ ว่ามีสูงถึง 4.91 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราว่างงาน 1.3%

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานเมื่อไม่นานมานี้ ตัวเลขว่างงานจากการสำรวจครั้งสุดท้ายจนถึงเดือน ก.พ.ปีนี้ ว่ามีสูงถึง 4.91 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราว่างงาน 1.3% และเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นถึง 6.1 หมื่นคน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เมื่อแยกผู้ว่างงานตามระดับการศึกษา พบว่า มีผู้ว่างงานที่สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาถึง 1.77 แสนคน หรือมากที่สุดเมื่อเปรียบกับการศึกษาระดับอื่นๆ สอดคล้องกับการสำรวจเมื่อช่วงเดือน ก.ค.ของปีที่ผ่านมา ที่พบว่าว่างงานถึง 2.53 แสนคน หรือมากถึง 53% ของผู้ว่างงานทั้งหมด

กรณีดังกล่าวยังคงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตอกย้ำว่าผู้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในปัจจุบันมีความเสี่ยงที่จะตกงานมากกว่าผู้สำเร็จการศึกษาในระดับอื่นๆ หรือกระทั่งที่ต่ำกว่า

ทว่า ที่กล่าวมายังไม่ใช่ปัญหาเดียวที่กำลังรุมเร้าการเรียนในระดับอุดมศึกษาของไทย 

ปัญหาจำนวนผู้เรียนที่ลดลงอย่างต่อเนื่องมีข้อมูลระบุชัดจากการสำรวจประชากรไทย เมื่อ 10 ปีก่อนพบเด็กเกิดใหม่ 1.1 ล้านคน/ปี แต่ปัจจุบันลดลงเหลือ 7 แสนคน/ปี กรณีนี้ส่งผลต่อเนื่องไปถึงประชากรวัยเรียนในระดับมัธยมที่จะเข้าสู่มหาวิทยาลัยลดลงตามไปด้วย ขณะเดียวกันวัยเรียนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งครอบครัวฐานะยากจนถึงปานกลางหันไปเรียนสายอาชีพเพราะหวาดวิตกเรื่องตกงานและรัฐเองก็เริ่มหันมาสนับสนุนให้เด็กเรียนสายอาชีพมากขึ้น

สถาบันอุดมศึกษา ทั้งมหาวิทยาลัย วิทยาลัย สถาบันการศึกษา ทั้งของรัฐ ในกำกับรัฐและเอกชน ที่มีอยู่ในประเทศไทยมีมากถึง 170 แห่ง ต่างแข่งขันกันจูงใจผู้เรียนมากขึ้น เพราะทราบดีว่าจำนวนผู้เรียนที่ลดลงจะทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมา โดยเฉพาะปัญหาบางคณะวิชาของมหาวิทยาลัยที่ไม่มีชื่อเสียงดึงดูดผู้เรียน มีผู้เรียนน้อย เปิดรับหลายรอบจำนวนก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น เมื่อห้องเรียนเริ่มร้างนักศึกษา ปัญหาเรื่องต้องจำกัดจำเขี่ยรายจ่ายโดยเฉพาะเรื่องจ้างผู้สอนก็ตามมาจากที่จ้างประจำก็เหลือเพียงจ้างพาร์ตไทม์จนกระทบกับคุณภาพการเรียนการสอน ที่สุดเมื่อบริหารจัดการไม่ได้อีกต่อไป ก็ต้องปิดตัวไปอย่างเงียบๆ

ปัญหาไม่ได้จบลงเพียงแค่นั้น นอกจากจะต้องรับมือกับปัญหาผู้เรียนลดลงยังต้องหันมาแข่งขันกันเองอย่างดุเดือดแล้ว ทุกแห่งยังต้องหันมารับมือกับโลกออนไลน์ที่ตอบโจทย์การศึกษายุคใหม่ได้ดีกว่าอีกด้วย

ธรรมชาติของโลกออนไลน์ ที่รวดเร็วทันใจ เข้าถึงง่าย ข้อมูลมหาศาล ไม่จำกัดทั้งเวลาและสถานที่ กำลังเสนอตัวเป็นทางเลือกในการป้อนความรู้ให้ผู้เรียน และเริ่มตอบโจทย์ความต้องการได้มากกว่าผู้สอนหรือกระทั่งสถาบันการศึกษาที่ยังปรับตัวไม่ได้

ความเปลี่ยนแปลงในการเลือกเสพข้อมูลเริ่มลามไปถึงการเข้าถึงองค์ความรู้ในสาขาวิชาต่างๆ อย่างไม่ยกเว้น กำลังส่งผลให้การเรียนในสถาบันอุดมศึกษาถูกลดบทบาทลงไปด้วยโดยปริยายผู้เรียนในโลกยุคใหม่กระหายความรู้จากการศึกษาที่มีคุณภาพ พอๆ กับกระหายสิ่งที่ได้จากเทคโนโลยีซึ่งช่วยให้พวกเขาเปลี่ยนวิถีชีวิตตัวเองได้

แหล่งการเรียนรู้เพื่อประกอบอาชีพระดับอุดมศึกษา ไม่สามารถหลบเลี่ยงการปรับตัวให้เท่าทันความต้องการของผู้เรียนให้ทันสถานการณ์ รวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ นำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงได้

นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่งกำกับดูแลเรื่องอุดมศึกษาก็ออกมายอมรับเองว่า มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้เรียนที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งจำนวนผู้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยลดลง การเรียนออนไลน์มากขึ้น เพราะมีทางเลือกอื่นๆ หลากหลายขึ้น

“สถาบันอุดมศึกษาจำเป็นต้องปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของคนในทุกช่วงวัย รวมทั้งเปลี่ยนเป้าหมายของผู้เข้าเรียนใหม่ ให้มีทั้งนักเรียน นักศึกษา คนทำงาน และคนสูงอายุ ด้วยรูปแบบหลักสูตรระยะสั้นและระยะยาว ต้องคำนึงถึงทิศทางในการพัฒนาประเทศ สร้างจุดเด่นและจุดขายที่โดดเด่นแตกต่างของแต่ละแห่ง จึงจะสามารถแข่งขันได้” รมช.ศธ.กล่าว

ภาวิช ทองโรจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กล่าวว่า การฟูมฟักความรู้จากการศึกษาขั้นพื้นฐานตั้งแต่ระดับชั้นประถม มัธยม ถือเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่องไปจนถึงระบบการเรียนรู้ที่สูงขึ้นในระดับอุดมศึกษา

“เรายังอยู่ในสังคมที่คำนึงถึงใบปริญญามากกว่าการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งทั้งเล็กและใหญ่ก็เน้นแข่งขันกันเองเปิดรับผู้เรียนมากอย่างแทบจะไม่มีการจำกัด แย่งผู้เรียนกันมากกว่าการพยายามพัฒนาการเรียนรู้ ยกระดับองค์ความรู้ให้เท่าทันความต้องการของตลาดแรงงาน และมหาวิทยาลัยซึ่งอยู่ในแวดวงวิชาการ ต้องทราบว่ากำลังเผชิญหน้ากับอะไรในอนาคต จะต้องปรับตัวอย่างไรล่วงหน้า หากโลกเปลี่ยน สังคมเปลี่ยนไป 5% มหาวิทยาลัยจะต้องปรับตัวไปให้ไกลกว่าสังคม ประมาณ 10% จะรอให้ปัญหาเกิดก่อนแล้วค่อยปรับตัว แล้วหาข้ออ้างเพื่อหลีกเลี่ยงเรื่องนี้ไม่ได้” อดีตเลขาธิการ สกอ.กล่าว

โลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคจักรกลอัตโนมัติแล้ว ในอนาคตอันใกล้นี้ การจ้างงานในหลายอาชีพจะยิ่งลดลงอีกหลายสาขา ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมหาศาล สถาบันอุดมศึกษาต้องวางแผนรับมือกับวิกฤตแรงงานครั้งใหญ่ที่กำลังเป็นระเบิดเวลาที่ท้าทายความสามารถของทุกสถาบันการศึกษาเป็นอย่างมาก