posttoday

ย้อนผลงาน ‘กลับลำ’ สนช.

30 มีนาคม 2561

สุดท้ายสนช. ต้องยอมกลับลำเตรียมเข้าชื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์ 

สุดท้ายสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต้องยอมกลับลำเตรียมเข้าชื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ต่างจากท่าทีก่อนหน้านี้ที่เคยยืนยันว่าจะยื่นตีความแค่ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.เพียงแค่ฉบับเดียว 

กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิก สนช. ชี้แจงว่า อยากให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความให้เกิดความชัดเจนตั้งแต่ตอนนี้ ดีกว่าปล่อยไปจนกฎหมายประกาศบังคับใช้แล้ว มีผู้ไปยื่นตีความภายหลัง ซึ่งอาจไปถึงขั้นที่กฎหมายหรือการเลือกตั้งเป็นโมฆะได้

ทั้งนี้ หากย้อนดูการทำงานที่ผ่านมา จะเห็นว่า สนช.ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องทั้งท่าทีที่ชวนให้คิดว่ามีการรับใบสั่ง เช่น กรณีการปรับแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.ให้มีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 90 วัน จนทำให้โรดแมปเลือกตั้งเลื่อนออกไปเป็นเดือน ก.พ. 2562

รวมทั้งท่าทีการพิจารณาเนื้อหาที่กลับไปกลับมา จนเมื่อเกิดเสียงทักท้วงจึงยอมกลับหรือปรับแก้ไข นำไปสู่ความสับสน วุ่นวาย และย้อนกลับมาทำลายความน่าเชื่อถือของ สนช.เอง 

ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาหลายประเด็นใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. ซึ่งภายหลัง สนช.ลงมติรับหลักการแล้วที่ประชุมกรรมาธิการวิสามัญพิจารณากฎหมายได้ปรับแก้
ในรายละเอียด 30 มาตรา 

หลายประเด็นถูกปรับแก้กลับมาเป็นดังเดิมตามร่างแรกของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกำหนดห้ามไม่ให้ทำการหาเสียงด้วยการจัดมหรสพหรือการรื่นเริงต่างๆ ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 หมื่น-2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี

ที่ สนช.ได้ลงมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญปรับแก้ให้แสดงมหรสพได้ ด้วยเหตุผลเพื่อเป็นกลยุทธ์จูงใจให้ประชาชนมารับฟังการหาเสียงมากขึ้น ขณะที่เหตุผลฝั่ง กรธ.มองว่าการจัดมหรสพไม่ได้ช่วยให้คนตื่นตัวทางการเมืองแต่ยังจะเป็นปัญหาด้านกำหนดค่าใช้จ่ายผู้สมัคร ต่อเนื่องด้วยประเด็นการลงคะแนนเลือกตั้งที่ สนช.ปรับแก้ไขเป็นให้เลือกตั้งเวลา 07.00-17.00 น. จากเดิม 08.00-16.00 น.

สุดท้ายในที่ประชุมกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย กรธ. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สนช. มีมติแก้ไขกลับมาตามร่างเดิมของ กรธ. คือห้ามการจัดมหรสพ และให้ปรับเวลาเลือกตั้งมาเป็นเวลา 08.00-17.00 น. 

ส่วนประเด็นที่ กมธ.วิสามัญในขั้นตอนการพิจารณาวาระ 2 ของ สนช.ปรับแก้ให้บุคคลไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่มีสิทธิสมัครรับราชการรัฐสภาภายในเวลา 2 ปี นั้นแม้ กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายจะให้ คงเนื้อหาไว้ตามร่างเดิม แต่ปรับถ้อยคำเพียงเล็กน้อยเพื่อไม่ให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ กลายเป็นประเด็นที่ห่วงว่าจะขัดรัฐธรรมนูญนำมาสู่การเรียกร้องให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ

ถัดมาที่ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ทาง สนช.ได้ปรับแก้เนื้อหาในส่วนที่มาจาก 20 กลุ่มอาชีพ เหลือ 10 กลุ่มอาชีพ และปรับแก้วิธีการเลือกตรงและไขว้ ในระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ มาเป็นวิธีเลือกตรงเพียงอย่างเดียว พร้อมแยกประเภทระหว่างผู้สมัครอิสระกับการเสนอชื่อผ่านองค์กรนิติบุคคล  

แต่สุดท้ายกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ได้ปรับเนื้อหาในส่วนของ สว.ชุดปกติ 200 คน ให้กลับไปเป็นแบบเดิม คือ มีที่มาจาก 20 กลุ่ม และทั้งเลือกตั้งเลือกไขว้ แต่ในส่วนของ สว.ในบทเฉพาะกาลให้คัดเลือกจากกลุ่มวิชาชีพ 10 กลุ่ม และให้บุคคลสมัคร สว.ได้ในนามอิสระและผ่านองค์กรนิติบุคคล ทำให้เป็นห่วงว่าประเด็นปัญหาแยกผู้สมัคร สว.เป็น 2 ประเภท แบบอิสระและองค์กร จะขัดกับรัฐธรรมนูญ จนเป็นหนึ่งในข้อสงสัยที่ส่งยื่นตีความตามรัฐธรรมนูญ 

ถัดมาที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เดิม กรธ.มีมติให้เซตซีโร่ และเปิดให้มีการสรรหาใหม่ด้วยเหตุผลที่มาตามกติกาปารีส หลังไทยถูกลดเกรดด้านสิทธิมนุษยชน แต่ต่อมาทาง กมธ.วิสามัญพิจารณากฎหมายวาระ 2 ของ สนช.ไปปรับแก้ให้ กสม.อยู่ในตำแหน่งต่อไป ยกเว้นคนที่ขาดคุณสมบัติ

แต่สุดท้ายหลังเกิดเสียงทัดทานและวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้ที่ประชุม สนช.ต้องยอมปรับแก้ไข เนื้อหาในร่างกฎหมายกลับไปเซตซีโร่ กสม.เหมือนร่างแรกของ กรธ.ที่ส่งมายัง สนช. 

แตกต่างจากร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกรรมการการเลือกตั้งที่ กรธ.เคยเสนอให้แค่รีเซตกรรมการชุดเดิม คือให้อยู่ในตำแหน่งต่อไป ยกเว้นคนที่ขาดคุณสมบัติ แต่สุดท้ายที่ประชุม สนช.กลับมีมติแก้ไขให้เป็นเซตซีโร่ กกต.ทั้งคณะ 

ในขณะที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน กรธ.ได้กำหนดให้รีเซต กรรมการเดิม ในที่ประชุม กมธ.วิสามัญก็เห็นพ้องกับ กรธ. แต่สุดท้ายที่ประชุมมีมติในวาระ 3 ให้กรรมการชุดเดิมอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ จึงนำไปสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงหลักเกณฑ์และแนวคิดที่แตกต่างกัน 

ยิ่งตอกย้ำสไตล์การทำงานของ สนช.ที่สามารถปรับทิศทางกลับไปกลับมาได้