posttoday

ซื้อใจคนจน ผ่านงบกลางปี 1.5 แสนล้าน

23 มีนาคม 2561

มติสนช.เห็นชอบให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 จำนวน 1.5 แสนล้านบาท ประกาศใช้เป็นกฎหมาย

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ คะแนนเห็นชอบให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 จำนวน 1.5 แสนล้านบาท ประกาศใช้เป็นกฎหมาย

ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ มีสาระสำคัญ ดังนี้ 1.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันประเทศจำนวน 24,300,694,500 บาท เพื่อปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร พัฒนาศักยภาพการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและลดต้นทุนการผลิต

2.ยุทธศาสตร์ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างการเติบโตจากภายใน จำนวน 76,057,382,500 บาท เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ สร้างโอกาสในอาชีพและการจ้างงาน พัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้ในรูปแบบที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายผู้มีรายได้น้อย สนับสนุนการพัฒนาเชิงพื้นที่ผ่านกระบวนการประชาคม

3.รายการค่าดำเนินการภาครัฐจำนวน 49,641,923,000 บาท เพื่อเป็นรายจ่ายชดใช้เงินคงคลังที่ได้จ่ายไปแล้ว

ขณะที่งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 จำแนกตามกระทรวง ดังนี้ 1.งบกลาง จำนวน 4,600,000,000 บาท 2.กระทรวงการคลัง จำนวน 5,325,000 บาท 3.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จำนวน 106,291,000 บาท 4.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 22,742,165,700 บาท 5.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 72,000,000 บาท 6.กระทรวงพาณิชย์ จำนวน 258,400,300 บาท 7.กระทรวงมหาดไทย จำนวน 31,875,769,000 บาท

8.กระทรวงแรงงาน จำนวน 2,120,025,400 บาท 9.กระทรวงวัฒนธรรม จำนวน 68,118,500 บาท 10.กระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน 498,602,100 บาท 11.รัฐวิสาหกิจ จำนวน 3,988,866,800 บาท 12.กองทุนและเงินทุนหมุนเวียน จำนวน 34,022,513,200 บาท และ 13.รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 49,641,923,000 บาท

ด้าน สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยและร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัว 3.6-4.6% ปรับตัวดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีตามการปรับตัวที่ดีขึ้นต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลก การขยายตัวที่สูงขึ้นของการลงทุนภาครัฐตามการเพิ่มขึ้นของกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุนและความคืบหน้าของโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ การเพิ่มขึ้นของการลงทุนต่างประเทศและภาคเอกชนไทย รวมทั้งการขยายตัวของภาคบริการที่สำคัญ

“อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจฐานรากโดยเฉพาะภาคการเกษตรและชนบท แม้ราคาสินค้าเกษตรจะปรับตัวดีขึ้นแต่ยังไม่ฟื้่นตัวเต็มที่ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการดูแลด้านราคาพืชผล การลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ตลอดจนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการเกษตรและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง ซึ่งจะช่วยเกื้อกูลเศรษฐกิจโดยส่วนรวมให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต” สมคิด กล่าว

รองนายกฯ กล่าวอีกว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 จำนวน 1.5 แสนล้านบาท มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานรากให้สามารถพึ่งตนเองแข่งขันได้ รวมทั้งการรักษาวินัยการคลังโดยการตั้งรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง นอกจากนี้ รัฐบาลจะนำงบประมาณแผ่นดินไปดำเนินการเรื่องสำคัญและเร่งด่วนของรัฐบาลอย่างคุ้มค่าโปร่งใสและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชนต่อไป

ขณะที่การอภิปรายของสมาชิกสนช.ส่วนใหญ่ต่างแสดงความคิดเห็นสนับสนุนการจัดทำงบประมาณดังกล่าว แต่ได้สอบถามถึงแนวทางการบริหารกองทุนและเงินทุนหมุนเวียนจำนวน 34,022,513,200 บาท ซึ่งแบ่งออกเป็น 1.กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ จำนวน 20,000,000,000 บาท 2.กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก จำนวน 13,872,513,200 บาท และ 3.เงินทุนหมุนเวียนเพื่อผลิตและขยายพันธุ์พืช จำนวน 150,000,000 บาท

สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับงบประมาณกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองจำนวน 2 หมื่นล้านบาท เป็นไปเพื่อการพัฒนาชีวิตและพัฒนาการประกอบอาชีพ ไม่ใช่การเพิ่มทุนเพื่อนำไปสู่การกู้ยืมแต่อย่างใด รัฐบาลชุดนี้ได้ให้งบประมาณช่วยเหลือกองทุนหมู่บ้านมาแล้ว 2 ครั้ง เป็นการช่วยเหลือที่แตกต่างจากการดำเนินการที่ผ่านมา

“ครั้งที่ 1 และ 2 และที่กำลังจะเกิดขึ้นครั้งที่ 3 มีลักษณะเดียวกัน คือ การให้งบประมาณเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ต้องเปิดบัญชีใหม่ ไม่ใช่บัญชีที่ใช้สำหรับการกู้ยืม แต่จะเป็นบัญชีใหม่เพื่อจะทำให้เห็นว่ากิจการที่ลงไปทำนั้นมีรายได้และกำไร โดยรายได้และผลกำไรจะต้องนำไปสู่สวัสดิการและสวัสดิภาพของสมาชิกกองทุน ดังนั้น การดำเนินงานของรัฐบาลชุดนี้จึงมีความแตกต่างจากสิ่งที่ผ่านมา” สุวพันธุ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เวลานี้มีทั้งหมด 79,595 กองทุนทั่วประเทศ มีกองทุนหมู่บ้านที่ด้อยคุณภาพประมาณ 9,000 กองทุน และกำลังดำเนินการฟื้นฟูอีกประมาณ 3,000 กองทุน ซึ่งเราเชื่อว่าจะทำให้สามารถกลับมาประกอบกิจกรรมได้ตามปกติ

อย่างไรก็ตาม การทุ่มงบประมาณก้อนโตเอาใจรากหญ้าครั้งนี้ ในทางการเมืองต่างมองว่านี่เป็นนโยบายซื้อใจคนจน ซึ่งเป็นฐานรากของประเทศ ที่มีความนิยมชมชอบพรรคเพื่อไทยและทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้เปลี่ยนใจหันมานิยม พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หรือ ลุงตู่ แทน ซึ่งแผนการนี้จะสำเร็จหรือไม่ หลังการเลือกตั้งรู้กัน