posttoday

ทำคู่มือหยุดเสี่ยงตาย ล้อมคอก 'บันไดเลื่อน'

22 มีนาคม 2561

การสังเกตว่าบันไดเลื่อนปลอดภัยหรือไม่ ให้สังเกตสิ่งผิดปกติดังนี้ มีเสียงดัง พบร่องรอยชำรุด ราวมือจับบันไดไม่ทำงานหรือฉีกขาด ร้อนผิดปกติ กระตุก เคลื่อนที่ไม่สม่ำเสมอ เป็นต้น

โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ

เหตุการณ์บันไดเลื่อนสถานีรถไฟฟ้า บีทีเอสชำรุด ส่งผลให้เกิดช่องโหว่ เสี่ยงอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน กระนั้นจะมั่นใจได้อย่างไรว่าทุกครั้งที่ก้าวขึ้นบันไดเลื่อนจะปลอดภัยอย่างแท้จริง ทำให้ทางวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) พร้อมด้วยสมาคมลิฟต์แห่งประเทศไทย ร่วมกันวิเคราะห์อุบัติเหตุและเสนอแนะแนวทางการบริหารจัดการใช้บันไดเลื่อนและลิฟต์ให้มีความปลอดภัยมากขึ้น

บุญพงษ์ กิจวัฒนาชัย รองประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล บอกเล่าว่า บันไดเลื่อนแต่ละขั้นจะมีล้อเลื่อนไปตามรางบังคับเคลื่อนที่อย่างต่อเนื่อง ไม่หลุดออกจากกัน และสามารถรองรับน้ำหนักได้ประมาณ 300 กิโลกรัม ส่วนพื้นที่สำหรับก้าวเท้าลงไปจะต้องไม่แตกหักหรือแอ่นตัว ที่สำคัญต้องผ่านการทดสอบแรงกระแทกอย่างน้อย 5 ล้านครั้ง โดยใช้น้ำหนักกด 50 กิโลกรัม สลับกับ น้ำหนัก 300 กิโลกรัม ความถี่ 5-20 ครั้ง/นาที หลังการทดสอบแล้วจะต้องแอ่นตัวไม่เกิน 4 มิลลิเมตร ดังนั้นหากเกิดเหตุไม่คาดฝันผู้ผลิตบันไดเลื่อนจะต้องติดตั้งอุปกรณ์หยุดการทำงานฉุกเฉินไว้ตามจุดต่างๆ

สำหรับการสังเกตว่าบันไดเลื่อนปลอดภัยหรือไม่ ให้สังเกตสิ่งผิดปกติดังนี้ มีเสียงดัง พบร่องรอยชำรุด ราวมือจับบันไดไม่ทำงานหรือฉีกขาด ร้อนผิดปกติ กระตุก เคลื่อนที่ไม่สม่ำเสมอ ราวจับเคลื่อนที่ไม่สอดคล้องกับขั้นบันได ซี่หวีกันสิ่งของบนบันไดแตกหักมากกว่า 4-5 ซี่ติดต่อกันในหนึ่งขั้น มีขยะหรือสิ่งสกปรก น้ำเจิ่งนอง ขอบบันไดด้านข้างมีการเสียดสี

บุญพงษ์ ให้ภาพว่า เหตุการณ์บันไดเลื่อนชำรุดในประเทศไทยถือว่าเกิดขึ้นได้ยากมาก โดยมีการใช้งานในสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทยขณะนี้ประมาณ 4 หมื่นคู่ ใช้งานทุกวันในชีวิตประจำวันทั้งในห้างสรรพสินค้าและสถานที่ตามสถานีเชื่อมต่อขนส่งมวลชน มีการขยายเวลาการใช้งานมากขึ้น อาจทำให้อุปกรณ์สึกหรอเร็วกว่าปกติ ดังนั้นต้องตรวจสอบอุปกรณ์บ่อยครั้งมากกว่าข้อกำหนดของบริษัทผู้ผลิต

ทั้งนี้ มาตรฐานในการดูแลรักษาจะต้องเข้มงวดมากขึ้น โดยต้องมีระบบหยุดการทำงานอัตโนมัติเมื่อเกิดเหตุการณ์ อาทิ กระแสไฟฟ้าผิดปกติ ความเร็วเกินพิกัด ตรวจสอบเบรกแม่แรงไฟฟ้า ขั้นบันไดเลื่อนเอียง ขั้นบันไดเลื่อนหาย โซ่ขับรางต้องมีเบรกเสริมหากรับน้ำหนักมากเกินไป ฝาครอบแผ่นด้านบนก่อนก้าวเข้าสู่บันไดหากเปิดออกจะต้องหยุดอัตโนมัติทันที

"ผู้ที่ต้องใช้งานบันไดเลื่อนควรใช้มือจับราวไว้เสมอ ห้ามเด็กเล็กใช้บันไดตามลำพัง ห้ามใช้รถเข็นเด็กขึ้นบันไดแต่ให้อุ้มเด็กไว้ในอ้อมแขน และหันหน้าไปตามทิศทางของบันได ส่วนผู้หญิงที่สวมใส่กระโปรงยาวต้องเก็บชายกระโปรงให้มิดชิด ซึ่งกรณีที่เกิดเหตุการณ์บันไดหลุด ขอเรียกร้องให้ทางผู้ประกอบการออกมาชี้แจงว่าเกิดปัญหาที่จุดใด เพื่อให้วิศวกรได้นำมาศึกษาหามาตรการป้องกันให้ดียิ่งขึ้น และบางแห่งอาจ ต้องตรวจสอบหลังปิดให้บริการทุกวัน" บุญพงษ์ กล่าว

บุญพงษ์ กล่าวอีกว่า ทางผู้ประกอบการอาคารไม่ควรมองว่าเป็นเรื่องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสำหรับบำรุงรักษา หรือเลือกใช้สินค้าจากผู้ผลิตบางประเทศที่ฉวยโอกาสลดสเปกความปลอดภัย เช่น เคยพบว่ามีการลดอุปกรณ์หยุดฉุกเฉิน ลดความสามาถของแผ่นรองรับน้ำหนักให้เหลือเพียง 150 กิโลกรัมเท่านั้น ทั้งที่ควรจะรองรับได้ถึง 300 กิโลกรัม ซึ่งทางวิศวกรรมสถานฯ ตรวจสอบไม่พบว่าสถานประกอบการแห่งใดในประเทศไทยเลือกใช้บันไดเลื่อนไม่ได้มาตรฐาน

ด้าน เอนก ศิริพานิชกร ประธานคณะกรรมการจัดการภัยพิบัติ วสท. กล่าวว่า วิศวกรรมสถานฯ จะทำข้อกำหนดเพื่อให้เป็นมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับผู้ประกอบการที่จะนำบันไดเลื่อนมาติดตั้ง โดยเฉพาะสนามกีฬา ห้างสรรพสินค้า ที่มีประชาชนเข้ามาใช้งานเป็นจำนวนมากต่อวัน ซึ่งจะมุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัยทางสาธารณะให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมถึงเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นจะต้องมีระบบลำเลียงคนออกจากที่เกิดเหตุได้อย่างปลอดภัยไม่เหยียบกันตาย จึงขอฝากผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติบำรุงรักษาอย่างจริงจัง

อีกเสียงจาก สุพัตถ์ จารุศร อดีตนายกสมาคมลิฟต์แห่งประเทศไทย เสริมว่า การบำรุงรักษาควรทำอย่างต่อเนื่องทุกๆ 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี พร้อมทั้งตรวจสอบระบบไฟฟ้า น้ำมันหล่อลื่น การสึกหรอของบันไดและราง ปรับความตึงของโซ่ ค้นหาสิ่งแปลกปลอมที่ตกหล่น เช่น เหรียญเงิน สุดท้ายปิดห้องเครื่องให้เรียบร้อยด้วยการตรวจเช็กจุดนอตยึดให้ครบ ทดสอบอุปกรณ์ความปลอดภัยสม่ำเสมอ ส่วนข้อเสนอแนะสำหรับอาคาร ห้ามวางสิ่งของ

"เหตุการณ์บันไดเลื่อนบีทีเอสหลุดเมื่อวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา สันนิษฐานว่าเกิดจากความบกพร่องของคนมากกว่า ไม่น่าใช่ความบกพร่องของอุปกรณ์ เนื่องจากประเทศไทยใช้บันไดเลื่อนคุณภาพได้มาตรฐานจากยุโรป ซึ่งมีระบบความปลอดภัยเข้มงวดมากที่สุด ดังนั้นสถานที่จุดเชื่อมต่อขนส่งมวลชนและห้างสรรพสินค้า ที่อุปกรณ์ต้องรับภาระหนักเนื่องจากมีประชาชนใช้งานเป็นจำนวนมาก จึงควรบำรุงรักษามากกว่าการรักษาในอาคาร หากเกิดเหตุร้ายประชาชนอาจแตกตื่นแล้วทำให้ความรุนแรงของเหตุการณ์ที่ตามมามากขึ้น" สุพัตถ์ กล่าว