posttoday

ร้อนนี้อุณหภูมิยังสูง-พายุรุนแรงอากาศแปรปรวนเกินคาด

20 มีนาคม 2561

ย่างเข้าฤดูร้อน รายงานสภาพอากาศที่หลายคนคุ้นเคยกันดี ก็คือจะมีอากาศที่ค่อนข้างสูง หรืออาจจะถึงขั้นร้อนหฤโหด ปีนี้ก็เช่นกัน

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

เมื่อย่างเข้าฤดูร้อน รายงานสภาพอากาศที่หลายคนคุ้นเคยกันดี ก็คือจะมีอากาศที่ค่อนข้างสูง หรืออาจจะถึงขั้นร้อนหฤโหด ปีนี้ก็เช่นกัน

กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศว่า ตั้งแต่เดือน มี.ค. ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูร้อน สภาพอากาศร้อนอบอ้าวและร้อนจัดในบางพื้นที่ โดยอุณหภูมิสูงสุดอาจจะสูงถึง 40-42 องศาเซลเซียส แม้จะต่ำกว่าสถิติปี 2558 ซึ่งอุณหภูมิพุ่งสูงทะลุ 44 องศาเซลเซียส แต่ตัวเลขที่ต่ำลงเพียง 2 องศาเซลเซียส ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดี เนื่องจากในภาพรวมแล้ว ก็ยังนับได้ว่าเรากำลังเผชิญหน้ากับ ฤดูร้อนที่มีอุณหภูมิสูงต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน

จิรพล สินธุนาวา อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า เรื่องของสภาพอากาศที่แกว่งตัวค่อนข้างสูงส่งผลให้อุณหภูมิร้อนและหนาวแตกต่างกันมากเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงมาอย่าง ต่อเนื่อง และปัญหานี้ตีวงกว้างมากขึ้น และสาเหตุยังคงนับเป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่ต่อเนื่องและสะสมมานาน

นอกจากนี้ ตลอดหลายปีที่ผ่านมายังพบด้วยว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ได้ลดลงเลย กิจกรรมหลายอย่างของมนุษย์ยังคงส่งผลให้ภูมิอากาศผันแปรอยู่ตลอดเวลา จากการวิจัยเกี่ยวกับกิจกรรมของมนุษย์ และอิทธิพลของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมชี้ให้เห็นว่ามนุษย์มีส่วนทำให้ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน

"ปัญหาสภาพอากาศเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะความแปรปรวนสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ข้อมูลต่างๆ จากปัญหานี้จะช่วยให้เรารู้ได้ล่วงหน้าว่าจะต้องปรับตัวอย่างไร ตอนนี้ต้องยอมรับว่าสภาพอากาศแปรปรวนนั้นเกิดขึ้นได้ทุกที่ หนีไปอยู่ที่ไหนของโลกก็ต้องประสบปัญหานี้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง สิ่งสำคัญที่ต้องปรับตัวก็คือการระวังเรื่องโรคภัยไข้เจ็บที่จะมาพร้อมกับอากาศที่ร้อนจัด" อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมฯ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว

ศ.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ประธานสถาบันโลกร้อนศึกษาประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลมากขึ้นที่มาพร้อมกับฤดูร้อนในปัจจุบัน ก็คือจะต้องเตรียมรับมือกับพายุฤดูร้อนที่มีความรุนแรงขึ้นและเกิดบ่อยขึ้น บางพื้นที่อาจจะมีพายุลูกเห็บเกิดขึ้น ขณะเดียวกันจากที่ได้เคยมีการเก็บสถิติภัยพิบัติในช่วงหน้าร้อน พบว่ามีคนไทยถูกฟ้าผ่ามากขึ้น เพราะฝนที่ตกในช่วงเริ่มเข้าสู่ช่วงต้นและช่วงปลายก่อนสิ้นสุดฤดูร้อน จะมีลักษณะเป็นฝนฟ้าคะนองรุนแรง

ประธานสถาบันโลกร้อนศึกษาประเทศไทย ระบุด้วยว่า ปัจจุบันพบว่าอากาศผกผันมาก หนาวก็หนาวมาก ร้อนก็ร้อนสุดขั้ว เมื่ออากาศที่ร้อนอบอ้าวยกตัวลอยขึ้น ปะทะกับอากาศเย็นด้านบนแล้วควบแน่นกลายเป็นละอองน้ำในเมฆ เกิดการก่อตัวของเมฆคิวมูโล นิมบัส ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวลดต่ำลง เกิดกระแสลมกระโชก จนกลายเป็นฝนฟ้าคะนอง กระแสลมพัดขึ้นและลง ทำให้เกิดการเหนี่ยวนำของประจุไฟฟ้าในก้อนเมฆและบนพื้นดิน เกิดฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า

อย่างไรก็ตาม คาดว่าปีนี้จะไม่ร้อนถึงขนาดทุบสถิติเดิม เพราะอากาศยังมีอิทธิพลของลานินญามาช่วยลดอุณหภูมิ โดยคาดว่าหน้าร้อนปีนี้จะไม่รุนแรง แต่ก็ยังเป็นอุณหภูมิที่สูง

ศ.ธนวัฒน์ กล่าวว่า ความแปรปรวนของอากาศทำให้คาดการณ์ได้ชัดเจนยากว่าจะร้อนแค่ไหน แต่พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลอาจจะรู้สึกร้อนกว่าที่อื่นๆ เนื่องจากเป็นปรากฏการณ์ โดมความร้อนหรือเกาะความร้อน ช่วยหล่อเลี้ยงอุณหภูมิให้คนในกรุงเทพฯ ร้อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น สิ่งก่อสร้าง ในเมือง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคอนกรีต รับแสงแดดร้อนๆ ตอนกลางวัน แผ่เป็นอากาศระอุร้อนในตอนกลางคืน ประกอบกับรถยนต์ที่วิ่งอยู่ในกรุงเทพฯ กว่า 10 ล้านคัน มีความร้อนของเครื่องยนต์ปล่อยอุณหภูมิออกมาสู่บรรยากาศภายนอกอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับบางจุดมีตึกสูงบัง ไม่มีอากาศหมุนเวียน มีสภาพอากาศปิด ก็ยิ่งส่งผลให้ร้อนขึ้น