posttoday

ต้องพูดความจริง ยื่นตีความกระทบโรดแมป

18 มีนาคม 2561

“ถ้าเลื่อนก็ต้องบอกว่าเลื่อนอย่าไปโกหก ผมเลยบอกว่าไปบวกเลขกันให้ดี 11+2 เป็น 13 บอกว่าไม่กระทบ แต่ถึงเวลาแล้วกระทบ อาจเสียความรู้สึกมากกว่าโดยเฉพาะผู้ร่าง”

"ถ้าเลื่อนก็ต้องบอกว่าเลื่อนอย่าไปโกหก ผมเลยบอกว่าไปบวกเลขกันให้ดี 11+2 เป็น 13 บอกว่าไม่กระทบ แต่ถึงเวลาแล้วกระทบ อาจเสียความรู้สึกมากกว่าโดยเฉพาะผู้ร่าง"

*********************

โดย...ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

บรรยากาศการเมืองเริ่มโหมโรงหลังชะงักมาพักใหญ่ แต่เมื่อพอบรรเลงกับมีประเด็นให้กังวลใจ โดยเฉพาะกระแสที่อาจมีการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งส่งผลให้โรดแมปการเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไป

“สมชัย ศรีสุทธิยากร” คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารจัดการเลือกตั้งให้ความเห็นผ่าน “โพสต์ทูเดย์” ว่า ประเด็น มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ทักท้วง หากมองในเนื้อหาในส่วนกฎหมาย สส. 2 เรื่อง 1.กรณีที่คนพิการไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ สามารถพาผู้อื่นเข้าไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงแทน แต่เกรงว่าจะไม่เป็นการเลือกตั้งโดยตรงและรับ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นประเด็นที่ย่อยมาก และที่ผ่านมาก็เคยทำรูปแบบดังกล่าวในการลงคะแนนออกเสียงประชามติ

ทั้งนี้ กฎหมายประชามติอนุญาตให้คนพิการ คนสูงอายุ ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ สามารถพาคนซึ่งไว้วางใจได้ หรืออาจให้กรรมการประจำหน่วยช่วยดำเนินการ ก็ถือว่าเป็นไปตามความต้องการของฝ่ายคนพิการ ที่เคยได้มาให้ความเห็นต่อทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ซึ่งจริงๆ แล้วต้องมองแบบนี้ว่า จะต้องเป็นคนซึ่งช่วยตัวเองไม่ได้ด้วย เช่น ถ้าเป็นคนตาบอดยังถือว่าช่วยตัวเองได้ เพราะยังอักษรเบรลล์ที่ใช้ในการเลือกตั้งที่ กกต.อำนวยความสะดวก ถ้าแขนพิการ หากสามารถใช้ปากแทนมือได้ในการกาบัตรก็ไม่จำเป็นต้องหาคนช่วย

“แต่จะมีคนกลุ่มจริงๆ ที่ไม่สามารถช่วยตัวเอง เช่น คนที่เขาอาจจะเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่สามารถยกปากกาได้ แต่เขาบอกได้ว่าประสงค์จะเลือกใคร แต่ก็เป็นกลุ่มซึ่งน้อยมากๆ”

อีกประเด็นหนึ่งสมชัยมองว่า ในกฎหมาย สส.การตัดสิทธิผู้ไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในอดีตก็มีแบบนี้เป็นแนวทางที่ทำมาตลอด ไม่เห็นมีใครบอกว่าสิ่งที่ผ่านมาขัดกับรัฐธรรมนูญแต่ประการใด ดังนั้น ในแง่กฎหมาย สส. 2 เรื่องนี้ คิดว่าเป็นเรื่องย่อยและเล็กไม่น่าจะเป็นประเด็นยื่นให้ตีความ

กกต.ฝีปากกล้า กล่าวต่อว่า ส่วนกฎหมาย สว.ประเด็นที่ยื่นมีด้วยกัน 2 เรื่อง คือ 1.การแบ่งกลุ่มของผู้สมัครที่ให้สมัครโดยอิสระและสมัครเป็นนิติบุคคล ซึ่งเป็นความเห็นต่างระหว่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กับ กรธ. และ 2.ประเด็นการเลือกตรงหรือจะเลือกไขว้  สนช.เสนอให้เลือกตรง ขณะที่ กรธ.เสนอให้มีการเลือกไขว้ เพื่อป้องกันฮั้วกันในการลงคะแนน

“ทั้งสองอย่างเกี่ยวกับเรื่องวิธีการในการออกแบบ ไม่มีใครรู้ว่าวิธีการใดจะดีกว่ากัน แม้จะเลือกไขว้ก็ไม่ได้แปลว่าจะสามารถป้องกันการฮั้วได้ เพราะโดยเจตนาของคนทุจริตต้องการได้คะแนนเสียง ก็มีวิธีการมากมายที่ทำได้ ในเรื่องของ สว.นั้น เป็นเรื่องที่คิดว่า ถ้าผ่านกระบวนการพูดคุยกันมายาวนาน ผ่านการพิจารณาของ สนช. ผ่านการตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย และเป็นการยอมกันในกรรมาธิการร่วมฯ ซึ่งมีตัวแทนของ กรธ.อยู่ด้วย ก็ไม่น่าจะเป็นประเด็นให้นำไปสู่การยื่นตีความ”

สมชัย อธิบายต่อว่า เมื่อจะยื่นมันมีผลอย่างไรต่อโรดแมป ซึ่งแยกเป็น 3 กรณี 1.ถ้ายื่นกฎหมาย สส.เพียงอย่างเดียว จะทำให้โรดแมปเคลื่อนออกไปประมาณ 2 เดือน เนื่องจากกระบวนการเดิมที่คำนวณไว้ว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือน ก.พ. 2562 นั้น ไม่ได้เผื่อถึงเรื่องการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ

“เรานับไปได้ 11 เดือน ถ้าหากนายกฯ ทูลเกล้าฯ ถวาย ในเดือน มี.ค. นับไป 11 เดือน ก็เดือน ก.พ. 2562 แต่พอยื่นตีความศาลรัฐธรรมนูญ กระบวนการที่ขึ้นไปลงมาหรือแก้ไขตามศาลชี้ อาจต้องใช้เวลาประมาณ 2 เดือน เพราะฉะนั้น 11+2 ก็เป็น 13 เดือน แปลว่าการเลือกตั้งถ้ายื่นกฎหมาย สส.ฉบับเดียว จะเลื่อนไปประมาณเป็นเดือน เม.ย. 2562”

กรณีที่ 2 ถ้ายื่นกฎหมาย สว.ฉบับเดียว อาจจะกระทบโรดแมปหรือไม่กระทบก็ไม่แน่ กรณีไม่กระทบหมายความว่า ผลการพิจารณาของศาลอาจบอกว่าไม่ต้องแก้ไขหรือต้องแก้ไขเล็กน้อย และช่วงที่รอแก้ไขตามศาลชี้อยู่ในช่วงการขยายเวลาบังคับใช้ของกฎหมาย สส. ซึ่งมีการทดแล้ว 90 วัน ในช่วงนั้น ดังนั้น ถ้าขึ้นไปยังศาล 2 เดือน ไม่กระเทือน

อย่างไรก็ตาม กรณีหากศาลชี้ว่าประเด็นที่เขียนไว้ในกฎหมาย สว.นั้น เป็นสาระสำคัญของกฎหมายจะตรงกับมาตรา 148 วรรคสามของรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าการขัดแย้งหรือแย้งของกฎหมายที่เสนอให้ตีความเป็นสาระสำคัญของกฎหมาย ให้กฎหมายทั้งฉบับตกไป ถ้ากฎหมายทั้งฉบับตกไป กระบวนการในการร่างใหม่ เชื่อว่าใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน

สมชัย อธิบายว่า 2 เดือนแรกใช้เวลาเร็วสุดในการร่าง 2 เดือนถัดไปอยู่ในขั้นตอนของ สนช. ซึ่งใช้เวลา 60 วัน ในการพิจารณา อีก 2 เดือน เผื่อไว้ขั้นตอนในกรณีขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และกระบวนการทางธุรการ เพราะฉะนั้นหมายความว่าถ้าส่งกฎหมาย สว.ขึ้นไป และศาลชี้ว่าสิ่งที่ทำเป็นสาระสำคัญที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งจะเลื่อนไปประมาณเดือน ส.ค. 2562 และกรณีที่ 3 หากเป็นกรณียื่น 2 ฉบับพร้อมกัน ก็เอาสิ่งที่ซ้อนกันอยู่ทั้งสองอย่างมาหาคำตอบจะช้าไป 2-6 เดือน

“สั้นลงได้เล็กน้อย แต่ถ้ายาวไม่มีกำหนด เพราะไม่มีกรอบเวลาว่าศาลจะต้องชี้ภายในระยะเวลาเท่าไร เพียงแต่เราประมาณกันว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน ศาลก็น่าจะพิจารณาโดยเร่งด่วน แต่ถ้าศาลบอกว่าต้องขอฟังความเห็นจากหลายๆ ฝ่ายก่อน ต้องเรียกฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเข้ามา เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์รอบคอบเพราะเป็นผลเสียต่อบ้านเมือง และมันเป็นเรื่องสำคัญต่อบ้านเมือง ดังนั้น ไม่มีกรอบเวลาดำเนินการ หรือสมมติขั้นร่างใหม่ก็ไม่มีกรอบดำเนินการว่าใครจะร่างด้วยซ้ำ แล้วจะร่างอย่างไรใช้เวลาเท่าไร”

ทั้งนี้ สมมติหากต้องร่างใหม่เป็นไปตามกรอบเวลา ซึ่ง กรธ.จะยังอยู่จนกว่ากฎหมายทั้ง 4 ฉบับประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพียงแต่สมมติถ้าศาลชี้มันเป็นการขัดต่อสาระสำคัญ หากชี้ว่าของ กรธ.ถูก  กรธ.อาจมีความชอบธรรมในการร่างใหม่ แต่ชี้ว่าผิดทั้ง สนช.หรือ กรธ.ก็ดี กรธ.ก็ขาดความชอบในการอยู่ เพราะร่างกฎหมายไม่ดี อาจเป็นจุดหนึ่งที่ต้องตั้งกรรมการร่างชุดใหม่ขึ้นมา แต่ก็น่ามีโอกาสน้อย

สมชัย ย้ำว่า ขั้นตอนขณะนี้ สนช.ต้องใคร่ครวญให้ดี เพราะบอลไม่ได้อยู่ที่ กรธ. เพียงแค่ส่งเสียงว่ากฎหมายมีปัญหา ทว่าคนตัดสินใจมี 2 ฝ่าย คือ สนช. 25 คน และนายกรัฐมนตรี ในการจะส่งถึงศาลได้เอง ดังนั้น 2 ฝ่ายต้องคิดให้ดีว่าการยื่นนั้นมีความจำเป็น และถ้ายื่นแล้วจะกระทบต่อโรดแมปหรือไม่

“ถ้านายกฯ ยื่นเอง สังคมก็จะกดดันตัวนายกฯ ว่าเป็นการกระทำเพื่อเอื้อต่อประโยชน์ตัวเอง ถ้านายกฯ ไม่ยื่นแล้วไฟเขียวให้ สนช.ยื่น  สนช.ก็จะกลายเป็นฝ่ายถูกสังคมจับจ้องว่าเป็นเครื่องมือฝ่ายบริหาร ทำให้การเลือกตั้งยืดออกไปหรือเปล่า ถ้ายื่นก็ต้องยอมรับว่ากระบวนการที่ผ่านมาทั้งหมดล้มเหลว เพราะใช้เวลาดำเนินการเท่าไรแต่ยังปล่อยให้หลุดรอด แสดงให้เห็นถึงความไม่รอบคอบต่อกระบวนการยกร่างกฎหมาย”

สมชัย ประเมินว่า หากกระบวนการเลือกตั้งหรือโรดแมปถูกยืดออกไป จะมีการแสดงความไม่พอใจต่างๆ จากสังคม ผู้ที่มีส่วนยื่นก็ต้องรับผิดชอบด้วย เพราะถ้าให้ดูน้ำหนักของการยื่นกฎหมาย สส.แทบไม่มี

อย่างไรก็ดี ในฐานะที่คุ้นเคยกฎหมายต้องชี้ให้สังคมเห็นความจริง อย่ามาพูดด้วยคำปลอบใจประชาชนว่า การยื่นไม่กระทบต่อโรดแมป ต้องให้ประชาชนรู้ว่าจะกระทบโรดแมปหรือไม่ แต่ประเด็นนี้ไม่ได้ผลอะไรต่อ กกต.จะเลือกตั้งเมื่อไหร่ กกต.มีหน้าที่จัดการให้ ไม่มีปัญหาหรือสุญญากาศในฝั่ง กกต.

สมชัย ย้ำว่า จะกระทบต่อการเมืองหรือไม่ขึ้นอยู่กับประชาชนรู้สึกอย่างไร ประชาชนต้องคิดพิจารณาเอง กลุ่มหนึ่งอยากให้เป็นไปตามสัญญาที่บอกว่าเลือกตั้งภายในปี 2561 หรือต้นปี 2562 หรือกลุ่มหนึ่งบอกปฏิรูปก่อน ซึ่งเป็นเรื่องของสังคมคาดการณ์ไม่ได้ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง และชี้ให้เห็นว่าการอยู่ในตำแหน่งต่อไปสามารถแก้ปัญหาได้ ทว่า หากประชาชนเกิดความเบื่อหน่าย ต้องการหลุดจากภาวะเป็นอยู่ปัจจุบัน กระแสความไม่พอใจจากการถูกเลื่อนไปเรื่อยๆ ก็อาจเป็นไปได้

“ถ้าเลื่อนก็ต้องบอกว่าเลื่อนอย่าไปโกหก ผมเลยบอกว่าไปบวกเลขกันให้ดี 11+2 เป็น 13 บอกว่าไม่กระทบ แต่ถึงเวลาแล้วกระทบ อาจเสียความรู้สึกมากกว่าโดยเฉพาะผู้ร่าง”

สมชัย ย้ำชัดว่า ต้องวัดใจโดยเฉพาะ 25 สนช. ขอให้ยืนยันต่อประชาชนว่าโรดแมปไม่เคลื่อน และไม่ทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปจากเดือน ก.พ. 2562 แต่ถ้าการเลือกตั้งเลื่อนไม่ว่ากี่เดือนก็แล้วแต่ อยากขอให้ 25 คนนี้ ไม่รับเงินเดือนตราบจำนวนที่เลื่อนออกไป

จดตั้งพรรคใหม่หรือเก่าก็ไม่ได้เปรียบ

สมชัย กล่าวถึงบรรยากาศการจดตั้งพรรคการเมือง ซึ่งช่วงหลังดูไม่ค่อยมีความคึกคัก เพราะเป็นเพียงการจดจองชื่อ ไม่ได้มีความหมายอะไร สิ่งที่ต้องทำหลังจากนี้มีอีกมาก และยังไม่แน่ใจว่าการที่มีกลุ่มการเมืองมาจดจองจำนวนมากนั้น ยังสามารถผ่านด่านแต่ละด่านที่โหดๆ อีกหลายด่านได้หรือไม่

ทั้งนี้ เพราะด่านถัดไปคือ ไปรวบรวมผู้ก่อตั้งให้ได้ 500 คน และต้องมีส่วนร่วมในการบริจาคเงินเป็นทุนประเดิมพรรคโดยเฉลี่ย 2,000 บาท/คน เพื่อให้ได้เงิน 1 ล้านบาท หลังจากนั้น 500 คนนี้ ต้องไปขอ คสช. เพื่อจัดประชุมอย่างน้อย 250 คน เพื่อไปเลือกกรรมการบริหารพรรค เพื่ออนุมัติในส่วนอุดมการณ์ เจตนารมณ์ ข้อบังคับพรรค และเมื่อประชุมเสร็จแล้วต้องเอาผลประชุมมาขอจดเป็นพรรคการเมือง

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีใครเป็นพรคการเมืองต้องไปดูว่า เมื่อถึงจุดที่ขอจดเป็นพรรคการเมืองได้จะมีสักกี่กลุ่ม เมื่อจดได้แล้วก็มีเวลา 180 วัน ดำเนินการเรื่องราวต่างๆ ทั้งในการตั้งสาขาพรรคให้ได้ 4 ภาค พรรคละ 500 คน รวมถึงจะต้องหาตัวแทนของพรรคอยู่ในแต่ละจังหวัด ตรงนี้ยังอีกยาวไกล ซึ่งถือว่าเป็นการตื่นตัวขั้นต้น แต่ต้องยอมรับภายใต้กฎหมายที่เขียนขึ้นมาใหม่ พรรคการเมืองตั้งยากอยู่ยาก ยุบง่าย

สมชัย บอกว่า ขณะนี้ส่วนใหญ่อยู่ในขั้นที่ 2 คือ รวบรวมให้ได้ 500 คน แต่มีบางคนขยับมานิดหนึ่ง คือ ขอจัดประชุมแล้ว แต่การขอจัดประชุมดูเหมือนเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าว่าน่าจะหาคน 500 คน ได้ครบ ซึ่ง กกต.ยังไม่ทราบว่าเมื่อถึงเวลาแล้วจะทำได้หรือไม่ได้ ยังเป็นข้อจำกัดของแต่ละพรรค

“ถามว่าโดยพรรคใหม่หรือพรรคเก่า แม้ให้พรรคใหม่เริ่มก่อนหนึ่งเดือน สามารถขยับตัวได้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. แต่ผมเชื่อว่าวันที่ 1 เม.ย. ก็ยังไม่มีพรรคเกิดขึ้น และเมื่อถึงวันดังกล่าวพรรคเก่าเริ่มขยับ แต่พรรคใหม่ยังไม่เกิด ซึ่งไม่ได้แปลว่าจองชื่อแล้วเกิดยังต้องไปหา 500 คน จัดประชุม และมายื่นจดจัดตั้งพรรค ดังนั้น วันที่ 1 เม.ย. เชื่อว่ายังไม่มีพรรคใดขยับ แปลว่า 1 เดือน ที่ทดจริงๆ แล้ว ยังไม่ช่วยอะไรเท่าไร พรรคใหม่ถือไม่ได้เปรียบอะไรมาก เมื่อเทียบกับพรรคเก่าและเป็นกรอบกติกาที่ลำบากทุกฝ่าย”