posttoday

วันแรกแห่จองชื่อพรึบ มาแปลกตั้ง ‘พรรคเห็นแก่ตัว’

03 มีนาคม 2561

บรรยากาศการขอจดตั้งพรรค หลัง กกต. เปิดให้มีการยื่นจดได้ เมื่อวันที่ 2 มี.ค.เป็นวันแรก ปรากฏว่าเป็นไปด้วยความคึกคัก

โดย...ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

บรรยากาศการขอจดตั้งพรรค หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เปิดให้มีการยื่นจดได้ เมื่อวันที่ 2 มี.ค.เป็นวันแรก ปรากฏว่าเป็นไปด้วยความคึกคัก ไม่แพ้วันรับสมัครรับเลือกตั้ง สส.ที่ผ่านมา ที่มีทั้งการเข้าคิวแย่งกัน สร้างสีสัน สร้างความครื้นเครง เรียกความสนใจกันอย่างเต็มที่ โดยมียอดกลุ่มการเมืองที่เข้าจดตั้งพรรคสูงถึง 42 กลุ่ม

เมื่อส่องรายชื่อเหล่าพรรคการเมือง ซึ่งเคยส่งสัญญาณก่อนหน้านี้แบบชัดเจน ว่าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นนายกฯ อีกสมัยมากันครบครัน เริ่มจาก พรรคประชาชนปฏิรูป ซึ่งส่ง ธนพัฒน์ สุขเกษม มาในฐานะผู้จดแจ้ง แต่ ไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นผู้กุมบังเหียน ซึ่งเคยประกาศเจตนารมณ์ไว้อย่างชัดเจน คือ พร้อมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ให้กลับมาดำรงตำแหน่งนายกฯ อีกครั้ง ด้วยเหตุผล เป็นคนดี มีความรู้ความสามารถ

ถัดมา พรรคพลังธรรมใหม่ ซึ่งห่างหายจากการเมืองมานานกว่า 10 ปี โดยมี นพ.ระวี มาศฉมาดล มาดำเนินการจดแจ้ง ประกอบกับเมื่อไม่นานมานี้ได้รวบรวมบรรดาอดีต สส.พรรคพลังธรรม และสมบูรณ์ ทองบุราณ อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวพรรคอย่างเป็นทางการ

โดยมีจุดยืนเพื่อนำประเทศไทยให้หลุดพ้นจากวิกฤตความขัดแย้งและความแตกแยก รวมถึงคอร์รัปชั่นโกงกินทุกรัฐบาล นำประเทศไปสู่สังคมธรรมาธิปไตย ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบตะวันตก และพรรคจะมีคณะธรรมาภิบาลเพื่อให้ระบบตรวจสอบการทุจริตอย่างเข้มแข็ง ขณะเดียวกันพร้อมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ถ้าต้องมีนายกฯ คนนอก

ไล่มาถือว่าน่าจับตากับ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมี ชวน ชูจันทร์ มาทำหน้าที่จดแจ้ง โดยพรรคนี้มีนโยบายสำคัญและเป็นที่รู้กันดี คือ “นโยบายประชารัฐ” มาเป็นแนวทางในการดำเนินการทางการเมือง เพื่อให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับรัฐบาล คสช.

ตามมาด้วย พรรคพลังชาติไทย โดยมี กิ่งฟ้า อรพันธ์ เป็นผู้จดตั้ง ซึ่งอยู่ภายใต้การนำของ พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ แม้ชื่ออาจไม่คุ้นหูหรือรู้จักมากนักในทางการเมือง ทว่าถือเป็นพรรคน่าจับตาเพราะมีความเชื่อมโยงกับรัฐบาล คสช. เนื่องด้วยตัว พล.ต.ทรงกลด เป็นนายทหารประจำสำนักงานปลัดกลาโหม จึงได้รับมอบหมายให้อยู่ใน “คณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ”

อีกหนึ่งสีสัน พรรคเพื่อชาติไทย ของ อัมพาพันธ์ ธเนศเดชสุนทร อดีตภรรยา พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) มีว่าที่ พ.ต.กรพต รุ่งพิรัญวัฒน์ กับคณะมายื่นจดแจ้ง พร้อมขนกองเชียร์สวมเสื้อยืดสีขาว ข้างหน้าสกรีนรูปของอัมพาพันธ์ พร้อมข้อความ “ย่ายุ้ย อัมพาพันธ์” เพื่อชาติไทย ส่วนด้านหลังเสื้อสกรีนรูปภาพหน้าของนักการเมืองที่เป็นคู่ขัดแย้ง เช่น ทักษิณ ชินวัตร ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส.

ที่เรียกเสียงฮือฮาไม่น้อย คือ พรรคเห็นแก่ตัว โดยมี “กริช ตรรกบุตร” ว่าที่หัวหน้าพรรคและผู้ดำเนินการจดแจ้ง พร้อมให้เหตุผลกับการตั้งชื่อพรรค ว่า สังคมทุกวันนี้ทุกคนล้วนมีความเห็นแก่ตัว เชื่อว่าไม่มีใครเห็นแก่ประเทศชาติ ดังนั้น สมาชิกในพรรคจึงเห็นพ้องที่จะใช้ชื่อนี้ เป็นชื่อพรรค และเชื่อว่าชื่อนี้จะผ่านการตรวจสอบของคณะกรรมการ และทำให้ประชาชนจดจำ และหากชื่อนี้ไม่ผ่าน ก็เตรียมเปลี่ยนชื่อพรรคเป็น พรรคเห็นแก่ชาติ เป็นชื่อสำรองไว้

สำหรับ “กริช ตรรกบุตร” จบการศึกษาปริญญาโท รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เคยลงสมัครเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปี 2547 จากนั้นปี 2550 เป็นผู้สมัคร สส.แบบสัดส่วน พรรคพลังเกษตรกร ของ ศรีภิญโญ ดอนท้วม ลำดับที่ 2 ก่อนที่ในปี 2554 เป็นผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ ของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ลำดับที่ 40 ไม่ได้รับการเลือกตั้งแต่อย่างใด นอกจากนี้เขายังมีชื่อเป็นหนึ่งในคณะกรรมการภาคีเครือข่ายธรรมาภิบาลแห่งชาติ ของ พล.อ.จรัล กุลละวณิชย์ ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน และ พล.อ.กิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนหลังจากพรรคการเมืองได้ทำการจดตั้งพรรคการเมืองแล้ว นายทะเบียนพรรคการเมืองจะตรวจสอบลักษณะต้องห้ามการเป็นสมาชิกพรรค ก่อนส่งไปให้กับ 9 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กรมราชทัณฑ์ สำนักงาน ก.พ. ศาลยุติธรรม สำนักงานเลขาวุฒิสภา ป.ป.ช.และศาลรัฐธรรมนูญ ดำเนินการต่อไป

โดยจะตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารภายใน 30 วัน ก่อนออกใบหนังสือรับแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง เพื่อให้กลุ่มการเมืองไปดำเนินการในเรื่องหาผู้ร่วมจัดตั้งไม่น้อยกว่า 500 คน ประชุมผู้ร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 250 คน รวบรวมเงินทุนประเดิมไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท ทั้งหมดจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่ได้รับหนังสือรับแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง

ส่วนการขออนุญาตดำเนินกิจกรรมทางการเมือง จะต้องทำหนังสือส่งให้กับ กกต.เพื่อส่ง คสช.พิจารณา โดยต้องนำส่งด้วยตัวบุคคล ไม่ใช่ทางไปรษณีย์หรือผ่านสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ การขออนุญาตจะต้องระบุเหตุผลความจำเป็น ตลอดจนรายละเอียดที่ชัดเจน อาทิ ประเภทกิจกรรม ห้วงเวลา จำนวนผู้เข้าร่วมโดยประมาณ และผู้รับผิดชอบการจัดกิจกรรมในแต่ละครั้ง

ศุภชัย สมเจริญ ประธาน กตต. กล่าวว่า ภาพรวมพอใจที่มีผู้สนใจจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ ถึง 42 กลุ่ม ไม่คาดคิดว่าจะมีมากขนาดนี้ ซึ่ง กกต.จะทำให้เร็วที่สุด ส่วนจะมีการเลือกตั้งในปี 2562 หรือไม่นั้น ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบดำเนินการก็ทัน เพราะ กกต.รีบดำเนินการอยู่แล้ว ส่วนเรื่องพรรคนอมินีนั้นไม่อาจทราบได้ หากยื่นถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดก็ต้องรับจดทะเบียน

42 รายชื่อขอจดตั้งพรรคใหม่

พลังชาติไทย ประชาไทย พลังประชารัฐ ประชาชนปฏิรูป สังคมประชาธิปไตยประชาชน ประชาชาติ ชาวนาไทย พัฒนาไทย เครือข่ายประชาชนไทย เศรษฐกิจใหม่ พลเมืองไทย พลังธรรมใหม่ ไทยเอกภาพ ประชาภิวัฒน์ สหประชาไทย ทางเลือกใหม่ ชาติพันธุ์ไทย รักษ์แผ่นดินไทย แผ่นดินธรรม เพื่อชาติไทย กรีน ประชานิยม พลังสยาม สยามธิปัตย์ ของประชาชน พลังอีสาน รวมใจไทย ไทยศรีวิไลย์ ประชามติ พลังไทยยุคใหม่ ไทยรุ่งเรือง เพื่อสตรีไทย รากแก้วไทย น้ำใจไทย เสรีประชาธิปไตย คนสร้างชาติ รวมไทยใหม่ สามัญชน สยามไทยแลนด์ ปฏิรูปประเทศไทย เห็นแก่ตัว และภาคีเครือข่ายไทย