posttoday

ชำแหละต้นตอโรงพยาบาลเจ๊ง สปสช.ยังไม่พ้นข้อครหา

11 ตุลาคม 2553

สปสช. แสดงภาพให้รับรู้โดยทั่วกันว่าสามารถดูแลคนทั้ง 47 ล้านคนได้ด้วยงบประมาณเพียงแสนล้านบาท เกิดเป็นแรงกดดันแก่กองทุนสวัสดิการข้าราชการและกองทุนประกันสังคม....

สปสช. แสดงภาพให้รับรู้โดยทั่วกันว่าสามารถดูแลคนทั้ง 47 ล้านคนได้ด้วยงบประมาณเพียงแสนล้านบาท เกิดเป็นแรงกดดันแก่กองทุนสวัสดิการข้าราชการและกองทุนประกันสังคม....

โดย....ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

สถานการณ์ทางการเงินของโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ไตรมาส 2 ของปี 2553 จากรายงานสถานะการเงินหน่วยบริการชัดเจนว่ากำลังขาดทุนระดับ 3 ใน 4 หรือ 570 แห่ง เฉลี่ยโรงพยาบาลละ 2,273,686.20 บาท

ข้อสังเกตหนึ่งถึงต้นตอของปัญหาคือ กลไกการจัดสรรงบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นปัจจัยหลักให้หน่วยบริการประสบปัญหาทางการเงินอย่างซ้ำซ้อนต่อเนื่อง ตามรายงานวิเคราะห์ว่าสาเหตุหลักของการขาดทุนมีด้วยกัน 5 ข้อ

1.การจัดสรรและการหักเงินเดือนงบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่สอดคล้องกับบริบทที่แท้จริงของหน่วยบริการ (โรงพยาบาล) เพราะเดิมทีหน่วยบริการต่างๆ ได้รับงบจากกองทุนอื่นๆ (ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ) จึงทำให้ภาพรวมทางการเงินดำเนินการอยู่ได้ แต่หลังจากมีการประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานของกองทุนหลักประกันสุขภาพว่าใช้งบประมาณคุ้มค่า สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายพื้นฐานคือผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในสำเร็จ

เป็นเหตุให้กองทุนต่างๆ มีการควบคุมรายจ่ายตาม อาทิ สิทธิข้าราชการมีการควบคุมระบบผู้ป่วยในด้วย DRG (กำหนดเพดานจ่าย) และกำลังขยายไปควบคุมระบบผู้ป่วยนอก ส่วนกองทุนประกันสังคมได้จ่ายงบแบบปลายปิด (รายได้ต่อหัว) เช่นเดียวกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

ชำแหละต้นตอโรงพยาบาลเจ๊ง สปสช.ยังไม่พ้นข้อครหา

นั่นหมายความว่า สปสช. แสดงภาพให้รับรู้โดยทั่วกันว่าสามารถดูแลคนทั้ง 47 ล้านคนได้ด้วยงบประมาณเพียงแสนล้านบาท เกิดเป็นแรงกดดันแก่กองทุนสวัสดิการข้าราชการและกองทุนประกันสังคม ที่จะต้องปรับลดเพดานค่าเบิกจ่ายตาม

ภาระทั้งหมดนี้จึงตกอยู่กับ “หน่วยบริการ” ที่จะต้องรับแบกไว้เอง เพราะข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือหน่วยบริการสามารถอยู่ได้เพราะใช้วิธี “หมุนงบ” จากกองทุนอื่นมาช่วยยื้อกองทุนสปสช.ที่ขาดทุน แต่เมื่อกองทุนสวัสดิการข้าราชการและกองทุนประกันสังคมปรับลดเงินสนับสนุนลง เป็นเหตุให้เงินส่วนนี้หายไป โรงพยาบาลขาดทุนในที่สุด

ข้อมูลการวิเคราะห์กำไรและขาดทุนจากราคาทุนของรายได้ค่ารักษาพยาบาลปี 2552 ระบุชัดว่ารายได้ค่ารักษาพยาบาล สปสช.ขาดทุน 13,783.02 ล้านบาท รายได้จากการตามจ่าย สปสช. ขาดทุน 140.22 ล้านบาท รายได้สปสช.อื่นๆ กำไร 918.99 ล้านบาท รายได้ค่ารักษาแรงงานต่างด้าวกำไร 125.90 ล้านบาท รายได้ค่ารักษาเบิกคลัง (ผู้ป่วยใน) กำไร 1,009.25 ล้านบาท รายได้ค่ารักษาเบิกคลัง (ผู้ป่วยนอก) กำไร 1,726.67 ล้านบาท รายได้ค่ารักษาเบิกต้นสังกัดกำไร 306.09 ล้านบาท รายได้ค่ารักษาประกันสังคมกำไร 59.79 ล้านบาท รายได้ค่ารักษาพ.ร.บ.บุคคลที่ 3 กำไร 190.70 ล้านบาท รวมแล้วขาดทุน 9,585.85 ล้านบาท

2.ผลสืบเนื่องจากการควบคุมค่าใช้จ่ายทำให้ความสามารถทางการแข่งขันของหน่วยบริการสำกัดสำนักงานปลัดฯ มีน้อย ทั้งด้านบุคลากร เครื่องมือ วัสดุเวชภัณฑ์ รวมทั้งไม่ได้รับงบลงทุนใหม่หรือขยายกิจการมานานกว่า 10 ปี ทำให้ผู้ป่วยที่มีกำลังจ่ายย้ายไปรักษาที่หน่วยบริการสังกัดอื่น

3.การได้รับการชดเชยไม่เป็นธรรมจากกองทุนต่างๆ มากขึ้น โดยหน่วยบริการต้องรองรับอัตราจัดสรรที่กองทุนต่างๆ จัดให้ ทั้งๆ ที่หน่วยบริการมีเงื่อนไขการใช้งบประมาณมากกว่านี้

4.ค่านิยมของผู้ป่วยมองว่าหน่วยบริการสังกัดอื่นๆ ปลอดภัยและมั่นใจ เห็นได้จากการไหลของเงินออกจากระบบโรงพยาบาลสังกัดสำนักปลัดฯ ที่มีต้นทุนจากสปสช.ไปยังโรงพยาบาลสังกัดอื่นๆ โดยเฉพาะ “งบตามจ่าย” สำหรับการส่งผู้ป่วยไปรักษาต่อถึง 20%

5.ไม่มีหน่วยงานกลางของรัฐบาลในการสร้างความเป็นธรรมระหว่างกองทุนต่างๆ กับผู้ให้บริการ นอกจากนี้ควรบริหารโรงพยาบาลแบบแยกส่วน เพราะแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน