posttoday

กองทุนเสมอภาคการศึกษา 3 หมื่นล.ช่วยผู้ไร้โอกาส 4 ล้านคน

27 กุมภาพันธ์ 2561

ภาพรวมการปฏิรูปการศึกษา มีเป้าหมายหลักอยู่ที่การสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพ

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน 

หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ตามที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เสนอเพื่อเตรียมประกาศใช้เป็นกฎหมาย ดังนั้นควรทำความรู้จักกับกองทุนในแง่มุมต่างๆ ที่ยังไม่ถูกกล่าวถึงอย่างแพร่หลายนัก

ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธาน กอปศ. เคยระบุกับโพสต์ทูเดย์ว่า “คล้ายๆ กับ สสส. ด้านการศึกษา”

นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ กรรมการกอปศ. และสมาชิก สนช. ขยายความเรื่องกองทุนนี้กับโพสต์ทูเดย์ว่า ก่อนอื่นต้องระบุถึงภาพรวมของการปฏิรูปการศึกษาก่อนว่า มีเป้าหมายหลักอยู่ที่การสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพ ซึ่งไม่ได้เน้นเฉพาะเด็กและเยาวชนที่อยู่ในระบบของการศึกษาเท่านั้น แต่จะขยายวงไปถึงแรงงานในระบบที่มีถึง 38 ล้านคน และรวมไปถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่กำลังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นนับ 18 ล้านคน โดยพุ่งเป้าไปที่การดูแลผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์

ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเกิดขึ้นตามมาตรา 54 แห่งรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า ให้จัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พัฒนาคุณภาพครู โดยรัฐจัดสรรงบประมาณให้แก่กองทุนหรือใช้กลไกทางภาษี รวมทั้งการให้ผู้บริจาคทรัพย์สินเข้ากองทุนได้รับประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีด้วย 

นพ.เฉลิมชัย ขยายซ้ำว่า จุดประสงค์หลักมุ่งไปที่ 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ 1.เด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ตั้งแต่แรกเกิดจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2.เด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา 3.เยาวชนที่ต้องการศึกษาต่อหรือพัฒนาทักษะอาชีพแต่ขาดแคลนทรัพย์ 4.การเสริมสร้างประสิทธิภาพครูและอาจารย์

ทั้งนี้ กองทุนตั้งเป้าช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสให้ได้ 4.3 ล้านคน/ปี และคาดว่าจะขจัดปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดจากระบบการศึกษาไทยได้ภายใน 10 ปี พร้อมทั้งจัดลำดับความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้มีเม็ดเงินที่เพียงพอ จากเดิมที่รัฐจัดสรรเงินเพื่อผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์เพียง 3,000 ล้านบาท/ปี คิดเป็น 0.5% จากงบประมาณรายจ่ายด้านการศึกษาของประเทศให้เพิ่มเป็น 3 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 5% ต่อปี หรือเพิ่มเป็น 10 เท่าตัว

นพ.เฉลิมชัย กล่าวว่า กองทุนนี้ไม่ได้สนับสนุนเฉพาะการศึกษาในระบบเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการสนับสนุนให้มีการฝึกอบรมกลุ่มอาชีพต่างๆ ระยะสั้นให้มีความเชี่ยวชาญในอาชีพต่างๆ มากขึ้น เพราะเป้าหมายของกองทุนนี้มองว่าการพัฒนาเด็กเยาวชนและคนไทยทุกคนให้เป็นพลเมืองคุณภาพ เป็นการลดภาระในอนาคตของรัฐที่จะต้องมาทำสังคมสงเคราะห์ช่วยเหลือคนเหล่านี้ ซึ่งกลายเป็นแรงงานไร้ฝีมือไปจนตลอดชีพ

กลุ่มแรกๆ ที่กองทุนจะเน้นเข้าไปช่วยเหลือก็คือ กลุ่มที่ขาดโอกาสหรือยากจนที่สุด มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 3,000 บาท เน้นแม่ที่ยากจน ซึ่งกลุ่มนี้คลอดลูกออกมาอยู่ในครอบครัวที่ไม่พร้อม มีความยากไร้ และขาดความรู้ ที่จะดูแลเด็กได้อย่างมีคุณภาพ เด็กอนุบาล ที่มีจำนวนกว่า 2 แสนคนที่ไม่ได้เรียน การศึกษาภาคบังคับ (ป.1-ม.3) มีเด็กต้องออกกลางคัน 2 แสนคน บกพร่องและพิการ 3 แสนคน ยากจน 1.8 ล้านคน จบมัธยมศึกษาตอนต้นแล้วไม่ได้เรียนต่ออีก 2 แสนคน เรียนด้วยความยากลำบากอีก 3 แสนคน ไม่ได้เรียนต่อทั้งสายอาชีวะ และสายสามัญที่จะเข้ามหาวิทยาลัยอีก 2 แสนคน

อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า คนกลุ่มนี้เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำแบบส่งต่อมาเป็นทอดๆ หากกองทุนไม่เกิด คนเหล่านี้จะเข้าสู่ตลาดแรงงานเป็นแรงงานไร้ฝีมือ และอาจตกงาน หรือทำอาชีพที่มีรายได้ไม่เพียงพอ เกิดภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว

“เราพบว่ารัฐบาลมีหนี้เงินกู้ที่ต้องชำระในปี 2561 ถึง 8.6 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 3% ของงบประมาณทั้งปี 2.9 ล้านล้านบาท แต่ถ้าเราใช้เงินกองทุนเพียง 0.86% ของงบประมาณแผ่นดิน หรือ 5% ของงบทางการศึกษา 2.5 หมื่นล้านบาท จะสามารถสร้างศักยภาพของคนทำให้มีรายได้ดูแลตัวเองได้ และทำให้การจัดเก็บภาษีของประเทศเพิ่มขึ้น และรัฐบาลจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปกู้เงินจากต่างประเทศมาอีก เราต้องทำแบบนี้ทุกปี ใช้งบประมาณเท่าไรก็ไม่พอ”

เป้าหมายของกองทุนนี้มองว่า วิธีช่วยเหลือแบบสังคมสงเคราะห์เดิมที่ใช้อยู่นั้นไม่ยั่งยืนและใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก กองทุนจึงเปลี่ยนวิธีคิดเป็นสร้างความเข้มแข็งให้กับพลเมืองตั้งแต่เกิด และต่อเนื่องไปทุกช่วงวัย เพื่อทำให้รายได้ต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้น

“กองทุนคิดกันว่าจะไม่เอาเงินไปแจก แต่จะไปทำงานร่วมกับกระทรวงต่างๆ เช่น ไปร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ตอนที่มีแม่ยากจนมาฝากท้อง ก็ให้อาหารเสริมที่จำเป็นต่อร่างกาย ไปร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ การปกครองส่วนท้องถิ่นโดยไม่ให้งานซ้ำซ้อนกัน ไม่แย่งงานกันทำ กองทุนจะทำงานเชิงรุก และเดินไปหาว่าผู้ด้อยโอกาสตามกลุ่มเป้าหมายปีละ 4.3 ล้านคนนั้นอยู่ที่ไหนบ้าง ประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อตรวจสอบว่าเป็นกลุ่มตามเงื่อนไขกองทุนจริง” นพ.เฉลิมชัย กล่าว

ขณะเดียวกัน มีการกำหนดเป็นกฎหมายชัดเจนว่า ผู้จัดการกองทุนจะต้องถูกประเมินการทำงานและตรวจสอบทรัพย์สินทุกปี ขณะที่กรรมการเองก็จะถูกหน่วยงานภายนอกประเมินการทำงาน ตรวจสอบการใช้งบประมาณ ประเมินผลจากการใช้งบประมาณตามกลุ่มทุนที่กองทุนเข้าไปช่วยเหลือ และรายงานการทำงานต่อสาธารณะทุกปีเช่นกัน