posttoday

ไม่ตรงสเปกคสช. เบื้องหลังคว่ำกกต.ใหม่

23 กุมภาพันธ์ 2561

สาเหตุสำคัญที่ สนช.มีมติคว่ำกกต.ใหม่ เนื่องจาก "ตัวเลือก" ที่มีจำนวนค่อนข้างจำกัด ทำให้ไม่มีความหลากหลายเพียงพอจะสามารถคัดเลือกบุคลากรผู้มีความรู้ความสามารถ

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

กลายเป็นประเด็นร้อนที่กำลังถูกจับตาเมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติไม่เห็นชอบ 7 ว่าที่กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยกชุด ส่งผลให้กระบวนการสรรหา กกต. ทั้ง 7 คนต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่อีกครั้งภายในกรอบเวลา 90 วัน โดยให้ กกต.ชุดปัจจุบันยังคงสามารถทำหน้าที่ต่อไป

จากผลการลงคะแนน 1.ฐากร ตัณฑสิทธิ์ ไม่ได้รับความเห็นชอบ 156 คะแนน เห็นชอบ 27 คะแนน งดออกเสียง 18 คะแนน 2. เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ ไม่ได้รับความเห็นชอบ 175 คะแนน เห็นชอบ 10 คะแนน งดออกเสียง 15 คะแนน 3.ชมพรรณ์ พงษ์เจริญ สุธีรชาติ ไม่ได้รับความ เห็นชอบ 168 คะแนนเห็นชอบ 16 คะแนน งดออกเสียง 17 คะแนน

4.อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ ไม่ได้รับความเห็นชอบ 149 คะแนน เห็นชอบ 30 คะแนน งดออกเสียง 22 คะแนน 5.ประชา เตรัตน์ ไม่ได้รับความเห็นชอบ 125 คะแนน เห็นชอบ 57 คะแนน งด ออกเสียง 19 คะแนน 6.ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ไม่ได้รับความเห็นชอบ 128 คะแนน เห็นชอบ 46 คะแนน งดออกเสียง 27 คะแนน 7.ปกรณ์ มหรรณพ ไม่ได้รับความเห็นชอบ 130 คะแนน เห็นชอบ 41 คะแนน งดออกเสียง 30 คะแนน

สาเหตุสำคัญที่ สนช.มีมติเช่นนี้เนื่องจาก "ตัวเลือก" ที่มีจำนวนค่อนข้างจำกัด ทำให้ไม่มีความหลากหลายเพียงพอจะสามารถคัดเลือกบุคลากรผู้มีความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ ตามที่ต้องการเหมาะสมกับสถานการณ์ได้ เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการสรรหา ซึ่งภายหลังสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 19 ต.ค.-10 พ.ย. 2560 มีผู้มาสมัครเพียงแค่ 41 คน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยมาก

อีกทั้งขั้นตอนการสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น กกต.ที่มี  ชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานคณะกรรมการสรรหา ซึ่งจะพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครเข้ารับการสรรหาทั้ง 41 คน มีผู้สมัครที่ผ่านเกณฑ์เพียงแค่ 15 คน โดยหลายคนที่เคยมองว่าเป็นตัวเก็งได้หลุดไปในชั้นนี้ ก่อนจะถึงขั้นตอนเลือกให้เหลือ 5 คน 

ทั้งนี้ เนื่องจากคณะกรรมการสรรหา กกต.ได้ยึดตามหลักการคุณสมบัติที่เขียนไว้เข้มข้น คือส่วนใหญ่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการติดต่อกันไม่ถึง 5 ปี ตามที่บัญญัติไว้ อีกทั้งการพิจารณายังยึดไปตามคำอภิปรายของสมาชิก สนช.เมื่อครั้งพิจารณากฎหมายลูกว่าด้วย กกต.ว่า ทหารกับตำรวจ หัวหน้าส่วนราชการหมายถึงตำแหน่ง ผบ.เหล่าทัพ และ ผบ.ตร. เท่านั้น

ในครั้งนั้นมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทำนองนี้มาแล้วหนหนึ่ง จนถึงขั้นมีแนวคิดที่จะ เสนอให้คณะกรรมการสรรหาใช้ช่องทางพิเศษตาม มาตรา 12 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 คือใช้วิธีเชิญบุคคลที่มีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญมาสมัครเป็น กกต.ได้ นอกเหนือไปจากการยื่นใบสมัครตามปกติ

อีกประเด็นซึ่งที่ประชุม สนช.เป็นห่วงคือ ว่าที่ กกต. 2 คน ที่มาจากการคัดเลือกของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ได้แก่ ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี และปกรณ์ มหรรณพ ซึ่งถูกทักท้วงว่ากระบวนการสรรหา 2 คน จาก 7 คนนั้น เป็นการสรรหาโดยวิธีการลงคะแนนลับ ทั้งที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. กำหนดให้ลงคะแนนโดยเปิดเผย แม้ทางที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะชี้แจงว่าเป็นกระบวนการที่ถูกต้องตามขั้นตอนแล้ว แต่ก็ยังมีกระแสความเป็นห่วงว่าจะเกิดปัญหาต่อไปในอนาคตได้

ส่วนสัญญาณที่น่าสนใจคือ จาก สนช. ทั้งหมด 248 เสียง มีผู้มาแสดงตนในที่ประชุม 230 เสียง แต่ถึงขั้นตอนการลงคะแนนกลับมี สนช. ลงคะแนนเพียงแค่ 201 เสียง คือ มี ผู้ไม่ลงคะแนนถึง 29 คน อันจะยิ่งทำให้ ผู้ที่สมควรได้รับเลือกเป็น กกต.ที่จะต้องได้คะแนนมากกว่า 124 คน เป็นไปได้ยากมากขึ้น