posttoday

ถลก 'แผนประทุษกรรม' เกมล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

17 กุมภาพันธ์ 2561

การจับกุมแก๊งล่าสัตว์ป่าสงวนใน พื้นที่อุทยานแห่งชาติทุ่งใหญ่นเรศวร สิ่งสำคัญในการล่าสัตว์ครั้งนี้คือแผน และรูปแบบการก่อเหตุที่มีลักษณะเป็นขั้นตอนวางแผนมาอย่างดี และเชื่อว่าอาจจงใจเข้ามาล่าสัตว์ป่า

โดย...เอกชัย จั่นทอง

การจับกุมแก๊งล่าสัตว์ป่าสงวนใน พื้นที่อุทยานแห่งชาติทุ่งใหญ่นเรศวร จ.กาญจนบุรี เป็นภาพที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักในผืนป่าสงวนประเทศไทย แต่ สิ่งสำคัญในการล่าสัตว์ครั้งนี้คือแผน และรูปแบบการก่อเหตุที่มีลักษณะเป็นขั้นตอนวางแผนมาอย่างดี และเชื่อว่าอาจจงใจเข้ามาล่าสัตว์ป่า

พล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์ ในฐานะที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการเพื่อติดตามการดำเนินคดีเกี่ยวกับการกระทำผิดทรัพยากร ธรรมชาติ ในพื้นที่รับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งเคยมีประสบการณ์ในการทำคดี ล่าสัตว์ป่า ได้ให้คำแนะนำว่า คดีที่เกิดขึ้นเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐจะไม่เห็นตอนผู้ก่อเหตุทำความผิดตั้งแต่เริ่มต้น จะเห็นตอนเมื่อทำความผิดสำเร็จแล้ว ดังนั้น สิ่งสำคัญในการหาพยานหลักฐานคือสถานที่เกิดเหตุ CRIME SCENE INVESTIGATION หรือ CSI

สำหรับกระบวนการตรวจยึดของกลางกลุ่มขบวนการล่าสัตว์ป่าของ เปรมชัยนั้น พล.ต.อ.จรัมพร เผยว่า มีการทำอย่างเป็นระบบขั้นตอน ในขณะตรวจที่เกิดเหตุผู้ต้องหาอยู่ในจุดเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่พบอาวุธปืน ของกลางอื่นๆ ประกอบ นอกจากนี้ยังพบอาหารที่แปรรูปสำเร็จแล้วคือ "ซุปหางเสือดำ" ที่มีการชำแหละจากซากเสือดำ มีการหั่นเนื้อไก่เป็นชิ้น มีเครื่องแกง มีเกลือ ใช้ปรุงและหมักอาหาร ลักษณะเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ได้ว่า "เข้ามาล่าสัตว์แน่นอน" โดยลักษณะดังกล่าวทำให้เจ้าหน้าที่มาทบทวนดูแผนประทุษกรรมว่าก่อเหตุลักษณะใด

พล.ต.อ.จรัมพร ถอดบทเรียนคดีนี้ โดยยกคดีอาชญากรรมอย่างการปล้นทรัพย์ในธนาคารมาเปรียบเทียบแผนประทุษกรรมให้ชัดเจนขึ้นว่า หากเปรียบเทียบกับการก่อเหตุคดีปล้นทรัพย์ในธนาคาร ผู้ต้องหาทุกคนจะเข้ามานั่งประชุมเพื่อแบ่งหน้าที่กันทำงาน เช่น คนเตรียมอาวุธปืน คนดูต้นทาง คนจี้แคชเชียร์ คนทำหน้าที่นำเงินใส่ถุง เสร็จแล้วผลผลิตที่ได้คือนำเงินที่ปล้นได้มาแบ่งกัน ส่วนนี้ลักษณะการทำงานคือทุกคนร่วมกันกระทำความผิด ทุกคนถือว่าเป็นตัวการร่วมแบ่งหน้าที่กันทำให้การปล้นทรัพย์สำเร็จ

"เมื่อเทียบเคียงกับคดีป่าทุ่งใหญ่ฯเจ้าหน้าที่จะดูว่ามีการแบ่งหน้าที่กันทำจริงหรือไม่ ใครเตรียมรถ เตรียมปืน นัดแม่ครัว เตรียมเครื่องแกง เกลือ ซึ่งทุกอย่างเล่าเรื่องได้ว่าทุกขั้นตอนมีการตระเตรียมและผู้ก่อเหตุเดินทางไปพร้อมกันทั้งหมด แต่การกระทำอาจมีความผิดแตกต่างกัน บางคนอาจโดนแจ้ง 10 ข้อหา หรือ 9 ข้อหา แล้วแต่พฤติการณ์ของผู้ก่อเหตุ ดังนั้นคดีล่าสัตว์ป่าเมื่อเทียบเคียงกับคีอาชญากรรมชัดเจนว่า มีการแบ่งหน้าที่ทำงาน โดยผลผลิตของการล่าสัตว์คือนำอาหารมาแบ่งกินกัน"

ผู้เชี่ยวชาญคนเดิม ยังสะท้อน ด้วยว่า กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา เพราะเมื่อตรวจที่เกิดเหตุจะเห็นแผนประทุษกรรมทั้งหมด ตั้งแต่อาวุธปืน การเดินทาง การล่าสัตว์ จึงชัดเจนว่ามีการล่าสัตว์ป่า จากนั้นเจ้าหน้าที่จะดูเหตุจูงใจ (Motivation) ในการก่อเหตุ โดยเจ้าหน้าที่ตั้งประเด็นเหตุจูงใจการก่อเหตุไว้ 3 ประเด็น 1.กลุ่มผู้ต้องหาอาจเข้ามาพักผ่อนเพราะ ชื่นชอบธรรมชาติ 2.กลุ่มผู้ต้องหา เข้ามาเพื่อล่าสัตว์ป่า และ 3.กลุ่มผู้ต้องหา เข้ามาเพื่อจับสัตว์ป่าไปขาย จากนั้น ตัดประเด็นที่คาดว่าไม่เกี่ยวข้องออก จึงตัดประเด็นที่ 3 ทิ้ง เนื่องจากสัตว์ที่จับมาถูกยิงตายหมด และตัดประเด็นที่ 1 เพราะการเข้ามาพักผ่อนต้องมีกล้องถ่ายภาพมาถ่ายรูปสวยๆ แต่ปรากฏว่าไม่มีกล้องมาถ่ายภาพ มีเพียงกล้อง ติดปืนเท่านั้น

"มูลเหตุจูงใจจึงเหลือแค่ประเด็นที่ 2 เข้ามาล่าสัตว์เนื่องจากมีเครื่องแกงวัตถุดิบ ทั้งหมดคืองานนิติวิทยาศาสตร์ในการไขข้อเท็จจริง โดยสามารถเล่าเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมดจากพยานหลักฐานในจุดเกิดเหตุ"

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์ ให้มุมคิดความเห็นว่า อยากให้มีการคิดค่าเสียหายสิ่งที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติเป็นตัวเงินหรือใช้กฎหมายทางแพ่งดำเนินคดีด้วย เช่น สัตว์ป่า 1 ตัวนำไปขายตัวละ 2,000 บาท แต่ทราบหรือไม่ว่ากว่าจะฟื้นฟูให้สัตว์เหล่านั้นกลับสู่ป่าต้องทำวิจัยสารพัด ขั้นตอนเสียงบประมาณจำนวนมาก อย่างเสือดำอายุ 5 ปีตัวนี้ มีราคาอยู่ประมาณ 8 แสนบาท ดังนั้นเมื่อมีการจับกุมดำเนินคดีควรมีการปรับเพื่อนำเงินส่วนนี้คืนให้กับธรรมชาติด้วย

ขณะเดียวกัน ค่าเสียหายต่อธรรมชาติที่ได้ควรนำไปใช้พัฒนาดูแลปกป้องผืนป่าต่อไปได้ ตามสโลแกน "สัตว์มีค่าป่ามีคุณ" ถ้าเรามีการคิดค่าเสียหายในประเด็น ดังกล่าวจะทำให้คนกลัวมากขึ้น แต่ต้องมีการศึกษาให้รอบคอบ เพราะว่าสัตว์ป่าชนิดเดียวกัน แต่อาจคิดราคาค่าปรับ แตกต่างกัน เพราะผู้ก่อเหตุบางกลุ่มอาจล่าเพื่อยังชีพในป่าอาจไม่ต้องเสียเงิน ส่วนพวกนักล่าสัตว์ป่าเพื่อความบันเทิงกีฬาก็ต้องคิดค่าเสียหาย แต่ถ้าฆ่าสัตว์ป่าทิ้งคิดราคาค่าปรับให้เต็มที่ ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือความฉกรรจ์ของปัญหาต่างกัน ดังนั้นการลงโทษหรือปรับจึงแตกต่างกันไป