posttoday

เข้มวินัยสนช.ไม่คุกคามทางเพศ

17 กุมภาพันธ์ 2561

"ตำแหน่งสมาชิกรัฐสภาอย่างพวกเราจะต้องมีมาตรฐานสูงกว่าประชาชนทั่วไป จะต้องมีความละเอียดอ่อนมากกว่าตำแหน่งที่เราอยู่ สังคมให้ความเคารพ ให้ความศรัทธา และความเชื่อมั่น "

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ผ่านไปเป็นที่เรียบร้อยสำหรับร่างข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและกรรมาธิการ พ.ศ. .... ตามที่คณะกรรมการจริยธรรมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นผู้เสนอจำนวน 45 ข้อ โดยใช้ กมธ.แบบเต็มสภาเพื่อปรับปรุงข้อบังคับให้สอดคล้องกับมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ

รวมถึงผู้ตรวจการแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ก่อนที่ประชุม สนช. เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบร่างดังกล่าว 3 วาระรวดอย่างเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 160 ต่อ 0 เสียง ไม่เห็นด้วย 6 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง เพื่อประกาศใช้เป็นระเบียบข้อบังคับต่อไป

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามีอำนาจตราข้อบังคับเกี่ยวกับประมวลจริยธรรมของสมาชิกและกรรมาธิการ ซึ่งตามบทเฉพาะกาลได้กำหนดระหว่างที่ยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ให้ สนช.ที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ยังคงทำหน้าที่ต่อไป และให้ สนช.ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้

โดยทำหน้าที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา ดังนั้นเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์และกลไกในการควบคุมความประพฤติจริยธรรมและวางมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่ของ สนช.และกรรมาธิการ จึงจำเป็นต้องตราข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรม โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 128 มาตรา 219 วรรคสอง ประกอบมาตรา 263 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

หากส่องเนื้อหาสำคัญที่สมาชิก สนช.ให้ความสนใจในการอภิปราย โดยเฉพาะข้อ 21 ว่าด้วยข้อห้ามล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ จนทำให้ผู้ถูกกระทำได้รับความเดือดร้อนเสียหาย หรือกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ โดยผู้ถูกกระทำอยู่ในภาวะจำยอม รวมถึงห้ามนำความสัมพันธ์ทางเพศเป็นเหตุครอบงำการใช้ดุลพินิจหรือมีอิทธิพลต่อการปฏิบัติหน้าที่

พล.อ.อ.อาคม กาญจนหิรัญ สมาชิก สนช. ให้เหตุผลต่อข้อดังกล่าวว่าเป็นประโยคที่คลุมเครือมากและสมควรตัดทิ้ง เพราะหากเปิดรัฐธรรมนูญตามมาตรา 219 ระบุว่าไม่ห้ามสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือคณะรัฐมนตรี ที่จะกำหนดจริยธรรมเพิ่มขึ้นให้เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ของตน

"เพราะฉะนั้นคิดว่าข้อดังกล่าวผมคิดว่ามันไม่เหมาะสมมันเป็นประโยคคลุมเครือ ทำให้ผมตีความว่าถ้าสมมติผมไปล่วงละเมิดทางเพศ แล้วผู้ถูกกระทำยินยอม ลักษณะเช่นนี้ผมไม่ผิดจริยธรรมของสมาชิกรัฐสภา และวรรคสองนั่นหมายถึงว่าสมยอมว่าให้มีความสัมพันธ์ทางเพศได้ แต่อย่าโวย ผมจึงเห็นว่าน่าตัดทิ้งทั้งข้อ"

ขณะที่ กล้าณรงค์ จันทิก สมาชิก สนช. ในฐานะ กมธ.ประมวลจริยธรรม ชี้แจงว่า หากอ่านตามที่พล.อ.อ.อาคม ระบุ ก็จะมีความคลุมเครือ แต่ว่าข้อดังกล่าวนั้นลอกมาจากข้อ 20 หากดูในรัฐธรรมนูญมาตรา 219 วรรคสอง ก็ต้องแปลความว่ามาตรฐานทางจริยธรรม ก่อนประกาศได้มีการรับฟังความคิดเห็นทุกส่วนที่ทำงานในฐานะสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา

ไม่ห้ามที่จะกำหนดจริยธรรมเพิ่มขึ้นให้เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ของตน แต่ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับมาตรฐานทางจริยธรรมตามวรรคหนึ่ง และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ฉะนั้นรู้สึกคลุมเครืออย่างไร คงไปแก้ไขอะไรไม่ได้เนื่องจากได้ประกาศลงในราชกิจจาฯ และใช้บังคับแล้ว

"ถ้าท่านดูมาตรา 219 วรรคสอง จะเห็นส่วนที่เพิ่มขึ้น คือ ส่วนที่ 4 เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกและกมธ. ตั้งแต่ข้อ 28-36 ในหมวด 2 ส่งเสริมและควบคุมให้เป็นไปตามจริยธรรม ตั้งแต่ข้อ 37 ไล่มาจนกระทั่งถึงข้อ 45 ซึ่งเราก็เพิ่มขึ้นตามรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งที่กำหนดแล้วและประกาศในราชกิจจาฯ มีผลบังคับใช้ เราจะไปแก้ไขไม่ได้ ในความเห็นผม"

ด้าน ตวง อันทะไชย สมาชิก สนช. ในฐานะ กมธ. กล่าวว่า อยากยกตัวอย่างกรณีกระทรวงสาธารณสุขที่มีผู้อำนวยการไปล่วงละเมิดทางเพศเจ้าหน้าที่ โดยผู้ถูกกระทำอยู่ในภาวะจำยอม แต่ปรากฏว่าวันนี้ศาลมีคำพิพากษาจำคุกและผู้กระทำก็ถูกลงโทษทางวินัย ซึ่งเป็นเรื่องของข้าราชการกับบุคคลทั่วไป

"ตำแหน่งสมาชิกรัฐสภาอย่างพวกเราจะต้องมีมาตรฐานสูงกว่าประชาชนทั่วไป จะต้องมีความละเอียดอ่อนมากกว่าตำแหน่งที่เราอยู่ สังคมให้ความเคารพ ให้ความศรัทธา และความเชื่อมั่น มันจึงเป็นสิ่งต้องเขียนอย่างน้อยต้องเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 219 จึงไม่เห็นความสลับซับซ้อนอะไร"

ถัดมาส่วนที่ 3 จริยธรรมทั่วไปข้อ 23 ต้องอุทิศเวลาให้ราชการ โดยไม่นำเวลาราชการไปประกอบธุรกิจหรือเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือผู้อื่น โดย ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน สมาชิก สนช. กล่าวว่า เนื่องจากสมาชิกภาคเอกชนมีความกังวลในประเด็นดังกล่าว ถ้าแก้ไขไม่ได้เพราะเป็นมาตรฐานทางจริยธรรมซึ่งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระจัดทำ

"หากมีข้อร้องเรียนเกิดขึ้นกับสมาชิกภาคเอกชนและมีการประชุมสภาหากมีเหตุจำเป็นภารกิจ ซึ่งเป็นธุรกิจของท่านและขาดไม่ได้ และไปปรากฏตัวอยู่ ณ ที่นั้น ตรงนี้จะดำเนินการอย่างไรหรือทำไม่ได้เลย เพื่อความเข้าใจ หากปรับแก้ไม่ได้หรือตัดออกไม่ได้"

กล้าณรงค์ ชี้แจงว่า ประเด็นดังกล่าวในทางปฏิบัติสามารถลาได้ หากลาไปราชการของสภามันก็จะเป็นอีกลักษณะหนึ่งที่ต้องพิจารณา แต่ถ้าลาไปราชการส่วนตัว ซึ่งมีจำนวนมาก ก็ไม่ได้ทำให้ขาดคุณสมบัติการเป็น สนช.ไป แม้ว่าจะมาประชุมไม่ครบตามจำนวนที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แต่โอกาส สิทธิ พึงมี พึงได้ บางประการก็ถูกตัดไป เป็นไปตามที่ปฏิบัติกันมา 3 ปี

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้ตัดสาระสำคัญหลายประการตามข้อบังคับประมวลจริยธรรมของ สนช.และ กมธ. พ.ศ. 2558 ออก อาทิ การปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงธรรม มีความรับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่ส่วนรวมและประเทศชาติ รวมถึงต้องประพฤติตนเพื่อให้เป็นที่เชื่อถือ ศรัทธา และแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชน อีกทั้งยังตัดเรื่องการรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชนด้วย