posttoday

อย่ามุ่งแต่ความเก่ง ธรรมชาติของเด็กคือ "การเล่น"

13 กุมภาพันธ์ 2561

ห้วงเวลานี้ผู้ปกครองหลายคนกำลังง่วนกับการสอบแข่งขันของบุตรหลาน หลังจากกวดวิชาเตรียมตัวอย่างหนัก เพื่อเป้าหมายเดียวคือการได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง

โดย...เอกชัย จั่นทอง

ในห้วงเวลานี้ผู้ปกครองหลายคนกำลังง่วนกับการสอบแข่งขันของบุตรหลาน หลังจากกวดวิชาเตรียมตัวอย่างหนัก เพื่อเป้าหมายเดียวคือการได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง เนื่องจากมีความเชื่อว่าโรงเรียนดีชื่อดังจะเป็นเบ้าหล่อหลอมบุตรหลานให้ประสบความสำเร็จด้านการศึกษา สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ แต่อาจลืมย้อนนึกถึงจิตใจเด็กว่าต้องเผชิญกับความเครียดขนาดไหนต่อแรงกดดันของความคาดหวังของผู้ใหญ่

วรรณี เตชะรัตนประเสริฐ หรือ ครูแอน ว่าที่นักพัฒนามนุษย์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงลูก Parent Coach ด้วยประสบการณ์จากคุณแม่ที่ผันตัวเองมาเป็น “นักพัฒนาการมนุษย์” เริ่มต้นอธิบายว่า ถ้ามีการวางรากฐานเด็กอายุช่วงระหว่าง 1-9 ขวบ อนาคตปัญหาจะเกิดขึ้นน้อยมาก เพราะวัยดังกล่าวเป็นช่วงวัยแห่งการเจริญเติบโตของสมองสูงที่สุด ดังนั้นหากมีการวางแผนตั้งแต่เด็กจะทำให้การวางฐานไปสู่ทิศทางที่ถูกต้อง

ถัดมาเรื่องพัฒนาการซึ่งถือว่าสำคัญที่สุดคือช่วงวัยเด็ก ตามหลักการนั้น “หากทำถูกตั้งแต่ต้น ปลายทางจะถูก” พอเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นจึงไม่ต้องกังวลว่าจะเสียเด็กเกิดปัญหาต่างๆ เช่น การพนัน การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัย การติดยาเสพติด ฯลฯ ดังนั้นช่วงวัย 1-9 ขวบ จึงมีความสำคัญและต้องปูรากฐานให้ดีที่สุด

ครูแอน ยังอธิบายสถานการณ์แข่งขันด้านการศึกษาของเด็กในปัจจุบันที่เกิดจากความคาดหวังของผู้ปกครองจนเด็กมีความเครียดว่า ต้องยอมรับว่าปัญหาคือพัฒนาการของเด็กเล็กช่วงอายุ 2-6 ขวบ “มีไว้เพื่อวิ่ง ไม่ได้มีไว้เพื่อนิ่ง” เพื่อออกกำลังกายพัฒนามัดกล้ามเนื้อใหญ่และเล็ก โดยหน้าที่ของเด็กที่สำคัญที่สุดคือ “การเล่น” ไม่ใช่หน้าที่ของการเรียนในวัยเด็ก เพราะการเล่นคือการเตรียมความพร้อมที่จะเข้าสู่วัยชั้นประถมศึกษาที่จะต้องนั่งเรียน

ทว่าพัฒนาการของเด็กประกอบด้วย 4 ส่วนสำคัญ คือ 1.พัฒนาการด้านร่างกาย 2.พัฒนาการด้านอารมณ์ 3.พัฒนาการด้านสังคม และ 4.พัฒนาการด้านสติปัญญา ทั้ง 4 ส่วนใหญ่คือการมองพัฒนาการของเด็กจาก 4 ส่วนสำคัญประกอบกัน

“แต่ตอนนี้เราเอาแต่มุ่งเน้นไปแค่เรื่องความเก่ง จึงทำให้เรามุ่งเพียงการพัฒนาด้านสติปัญญาเพียงอย่างเดียว ในขณะที่สมองของเด็กอยู่ระหว่างกำลังพัฒนาก่อร่างสร้างตัว เหมือนบ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จ แต่เรานำทุกอย่างใส่ลงไปในบ้านหลังนั้น แล้วก็ยัดๆ ลงไป แล้วคาดหวังให้บ้านหลังนี้สวยงามแต่บ้านหลังนี้ยังสร้างไม่เสร็จ เมื่อนำของยัดไปเยอะๆ ก็ไม่สวย แล้วก็ไปโทษเด็กว่าทำไมบ้านไม่สวย จึงทำให้เด็กเกิดความเครียดมาก” วรรณี เปรียบเทียบปัญหา

อย่ามุ่งแต่ความเก่ง  ธรรมชาติของเด็กคือ "การเล่น" วรรณี เตชะรัตนประเสริฐ หรือ ครูแอน ว่าที่นักพัฒนามนุษย์

 

ผู้เชี่ยวชาญคนเดิมฉายภาพการเรียนของเด็กในปัจจุบันว่า ทุกวันนี้โรงเรียนให้เด็กชั้นอนุบาล 3 ท่องสูตรคูณ แต่ในความเป็นจริงคือช่วงเริ่มต้นการเรียนรู้ จะเริ่มต้นเรียนจริงคือช่วง ป.1 ตามหลักพัฒนาการ พออัดข้อมูลให้เด็กท่องกลายเป็นว่าเด็กใช้สมองเกิน เด็กท่องสูตรคูณได้แต่ไม่เข้าใจความหมาย เพราะสมองไม่พร้อมที่จะต้องมาท่องสูตรคูณ

นั่นหมายความว่าพัฒนาการด้านอื่นที่เด็กขาดหายไปไม่ถูกพัฒนา เช่น การพัฒนากล้ามเนื้อนิ้วมือ ฯลฯ ซึ่งการบ้านที่ให้เด็กทำโดยเขียนอักษร 300 ตัว ในแต่ละวันที่ประกอบไปด้วยเส้นตรง วงกลม ลากขึ้นลง เฉียงขึ้น อย่างตัว ห.หีบ เด็กอาจเขียนลำบากเพราะกล้ามเนื้อนิ้วมือไม่พร้อม แต่เด็กถูกบังคับให้เขียนหรือทำเป็นการบ้าน เมื่อนำมาทำที่บ้านเด็กทำไม่ได้ก็ถูกผู้ปกครองดุว่า จึงส่งผลให้เด็กเกิดความเครียดอันมาจากความไม่พร้อม และผู้ปกครองขาดการรับมือกับลูก มีความคาดหวังแต่ไม่มีวิธีกำกับวินัย ทั้งหมดเมื่อลูกทำไม่ได้จึงทะเลาะกัน นำไปสู่ความสัมพันธ์แย่ๆ ของครอบครัว

“มีงานวิจัยของต่างประเทศรองรับว่า เมื่อเด็กเกิดความเครียดเรื้อรังจะส่งผลต่อสมองทำให้หดเล็กลงกว่าเด็กปกติ ตรงนี้ความกดดันความหวังกับตัวเด็ก ทำให้เกิดความเครียดเรื้อรังล้วนมาจากครอบครัวและจากโรงเรียน ซึ่งในความเป็นจริงเด็กมีที่พึ่งเดียวคือพ่อแม่ แต่ตอนนี้พ่อแม่กลายเป็นครูคนที่สองของที่บ้านนอกเหนือจากครูที่โรงเรียน หมายความว่า เด็กไม่มีที่พึ่งกลับบ้านมาแทนที่จะได้วิ่งเล่นก็ต้องมานั่งเรียนอีก แล้วเด็กจะหากำลังใจจากส่วนไหนเพื่อเติบโตต่อไป ดังนั้นพ่อแม่และครูมีความสำคัญที่สุดที่จะมีหน้าที่ช่วยเหลือพัฒนาการเด็ก” ว่าที่นักพัฒนามนุษย์ สำทับงานวิชาการ

เช่นเดียวกับปัญหา “อาชญากรเด็ก” เกิดจากอะไร คำถามที่ค้างคาในสังคม ประเด็นนี้ผู้เชี่ยวชาญการเลี้ยงลูกฯ สะท้อนมุมมองน่าสนใจว่า อาชญากรเด็กไม่ได้เกิดจากการที่เด็กอยากเป็นอาชญากร แต่เกิดจากเด็กไม่รับความรัก ไม่มีคนรัก สิ่งที่ผู้ปกครองเร่งเรียนเด็กคือส่วนหนึ่งทำให้เด็กเครียด จนเกิดสมองล็อก คิดไม่เป็น ไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้โต้ตอบ ที่สำคัญผู้ปกครองไปตีกรอบเด็กให้เป็นไปตามที่คาดหวัง หรือที่เรียกว่า “ความหวังดีที่ไม่เข้าใจพัฒนาการเด็ก” ไม่พาเด็กขึ้นบันไดทีละขั้น กลับกันกลายเป็นการก้าวกระโดด

ไม่ว่าสถานการณ์สังคมจะเป็นอย่างไร ผู้ปกครองควรปลูกฝังให้เด็กรู้จักข้อ 5 ข้อสำคัญในการดำเนินชีวิตตามพัฒนาการที่เหมาะสมของช่วงวัย คือ 1.ทำให้เด็กรู้จักตัวเอง 2.ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูก 3.พัฒนาการองค์รวม 4.การคิดเป็น แก้ไขปัญหาเป็น และ 5.ทักษะชีวิต

ทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งที่จะหล่อหลอมให้เด็กมีพัฒนาการเติบโตอย่างมีคุณภาพ ในช่วงวัยที่เหมาะสมโดยไม่ต้องไปกดกัน คาดหวังกับเด็กจนเกินไป เพราะท้ายที่สุดแล้วจะกลายเป็นการทำร้ายเด็กทางอ้อม แม้ผู้ปกครองจะประสงค์ดีก็ตาม