posttoday

"คสช.ขาลง" ปมแก้เศรษฐกิจชี้อนาคตบิ๊กตู่

12 กุมภาพันธ์ 2561

ช่วงสุดท้ายก่อนมีการเลือกตั้ง ถ้าสามารถปรับเศรษฐกิจระดับรากฐานขึ้นมาดี ก็เชื่อว่าจะกลับมาเป็นนายกฯ ได้อีก

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

นับเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของรัฐบาลท่ามกลางสารพันปัญหารายล้อมรอบตัว แต่ประเด็นทุกฝ่ายกำลังจับจ้อง คือจะสามารถเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งตามทำนองสัญญาประชาคมที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยปรารภไว้กับประชาชนได้จริงหรือไม่  

วิโรจน์ อาลี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สะท้อนมุมมองว่าเป้าหมายระยะยาวของรัฐบาล คือทำอย่างไรให้อยู่ในอำนาจต่อไปเรื่อยๆ แล้วถ้ามีการเลือกตั้งก็อยู่ในสภาวะมีความได้เปรียบในทางการเมือง

ทั้งนี้ แต่ด้วยวิธีการที่รัฐบาลพยายามจะทำโดยเฉพาะกรณีกฎหมายต่างๆ เช่น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา จะกลายเป็นชนวน

“มันเริ่มตั้งแต่การไม่ปลดล็อกพรรคการเมืองและมีการออกมาตรา 44 เพื่อนำไปสู่การขยายเวลาออกไปในส่วนของกฎหมายทั้งสองฉบับนี้ ก็ดูมีโอกาสสูงมากที่สภานิติบัญญัติฯ หรือ สนช.จะคว่ำร่างกฎหมายดังกล่าว มันจะทำให้ระยะเวลาต่างๆ ทอดยาวขึ้นไปอีก และอย่างที่เห็นหลายคนพยายามมองว่าสิ่งที่ได้สัญญาไว้เกือบตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความมั่นคง หรือเรื่องของความปรองดอง รวมถึงการพัฒนาต่างๆ กลับไม่เห็นผลความชัดเจนมากเท่าไรนัก”

วิโรจน์ อธิบายว่า รัฐบาลมีความพยายามจะขยายเวลาอำนาจของตัวเองออกไปอีก ซึ่งคิดว่ามันเป็นประเด็นนำไปสู่การเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ให้เริ่มขยับและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลมากขึ้น อีกทั้งยังมีเรื่อง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กรณีนาฬิกาหรูซึ่งถือเป็นจุดอ่อน

อย่างไรก็ดี และจากกระแสซึ่งมันเป็นขาลง ทำให้ประเด็นต่างๆ เริ่มประเดประดังมากขึ้น แต่หัวใจสำคัญคนที่อาจเคยสนับสนุนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลับมีความรู้สึกว่าไม่เป็นไปตามคาดหวังเอาไว้ และคิดว่าย้อนกลับเข้าสู่ระบบการเลือกตั้งน่าจะเป็นคำตอบที่ดีขึ้น

“เราจะเห็นว่ามีโพลออกมาที่ประชาชนพยายามเสนอสูตรต่างๆ ให้พรรคการเมืองจับมือร่วมมือกัน เช่น เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ คสช. หรือเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ซึ่งผมคิดว่าเขาส่งสัญญาณค่อนข้างชัดว่าการที่จะอยู่ภายใต้ระบอบ คสช.แบบนี้ ก็เป็นปัญหาในแบบเดียวกัน โดยเฉพาะเศรษฐกิจซึ่งมันมีผลกระทบต่อคนรากหญ้าพอสมควร”

ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่านโยบายต่างๆ ทั้งในเรื่องบัตรคนจน ไทยนิยมยั่งยืน อะไรต่างๆ ใช้เงินแสนกว่าล้านบาท ตรงนี้ทำให้ประชาชนมองว่านโยบายมันไม่ได้ตอบสนองต่อความต้องการอย่างจริงจัง ซึ่งจะเห็นการขยับของภาคเอกชนส่วนหนึ่งและเห็นปัญหาการลงทุนข้ามชาติยังไม่มา

วิโรจน์ ขยายความต่อว่า สมมติถ้ามีการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. หากล้ม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่ง มันก็จะทอดออกไปอีก อาจจะเกิน 6 เดือน มันทำให้ทุกอย่างเขยื้อนออกไปให้เวลารัฐบาลทำงานและแสดงผลงานมากขึ้นไหมก็คงมี

ทั้งนี้ แต่ในทางกลับกันมันเป็นแรงกดดันสำหรับคนไม่เห็นด้วยกับแนวนโยบายของรัฐบาลต่างๆ จะถูกวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นและนำไปสู่จุดเดิมที่ว่าเสถียรภาพของรัฐบาล คสช.จะน้อยลง ทั้งหมดล้วนเป็นประเด็นสร้างความสั่นคลอนให้กับรัฐบาล คสช. แต่สิ่งที่ คสช.ต้องการคือให้อยู่ในอำนาจยาวนานที่สุดเท่าที่จะทำได้

สำหรับโอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะกลับมาเป็นนายกฯ นั้นถือว่ามีสูงมาก เพราะสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ทำมีความชัดเจนขึ้น จะเห็นได้จากสไตล์คำพูด การออกเดินสายพบปะประชาชน และโอกาสเป็นไปได้สูงที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการเป็นคนถูกเสนอชื่อในฐานะนายกฯ คนนอก

“ตรงนี้ฉากด้านหลังก็พออนุมานได้ว่าเริ่มมีการเคลื่อนไหวในการไปดึงเอาพรรคเล็ก พรรคน้อย โมเดลพรรคทหาร ผมคิดว่าเขาไม่มีโมเดลพรรคเดียวแน่นอน เพราะระบบการเลือกตั้งที่ออกแบบในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นระบบหลายพรรค ดังนั้น อาจจะเป็นการตั้งพรรคใหม่ๆ ซึ่งเริ่มมีการเคลื่อนไหว โดยชี้ให้เห็นว่ามีการฟอร์มตรงนี้ขึ้นมาให้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้

เพื่อไม่ให้สองพรรคการเมืองใหญ่มีเสียงมากพอคือรวมตัวกันเป็นเรื่องเป็นไปได้ยาก สำหรับพรรคใหญ่สองพรรค และถ้ามีพรรคเล็กๆ ที่เขาสามารถต่อรองได้มากขึ้น จนวันหนึ่งในมิติของ คสช. ก็จะมีโอกาสสูงมากที่จะทำให้สองพรรคไม่สามารถเสนอชื่อตัวแทนของตัวเองและไม่ได้รับการรองรับในรัฐสภา”

ทั้งนี้ ก็จะนำไปสู่ก๊อกสอง คือ สว.ต้องเข้ามา ซึ่งมีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ คนนอกได้ด้วย ซึ่งเชื่อว่าเขาจะรอก๊อกนี้ เพราะก๊อกแรกเสนอตัวออกมา เสียแน่นอน แต่ตัวผมคิดว่าดีถ้าแกจะเล่น มีพรรคการเมือง มีนโยบายอะไรต่างๆ มันชัดเจน แต่ประเด็นคือไม่ยอมทำ พยายามจะใช้งบประมาณของรัฐมาสร้างฐานความนิยมให้กับตัวเองขึ้นมา เพราะช่วงสุดท้ายก่อนมีการเลือกตั้ง ถ้าสามารถปรับเศรษฐกิจระดับรากฐานขึ้นมาดี หรือทำอย่างไรให้คะแนนนิยมเพิ่มสูงขึ้น นายกฯ ก็เชื่อว่าจะกลับมาเป็นนายกฯ ได้อีก แต่ก็จะไม่มีเสถียรภาพมากนักเพราะอำนาจไม่เหมือนเดิม