posttoday

โจทย์ใหญ่ "คสช." ต้องแก้ปัญหาความไม่แน่นอน

11 กุมภาพันธ์ 2561

"ตอนนี้อยู่ในภาวะความไม่แน่นอน เลือกตั้งก็ขัดแย้ง ไม่เลือกตั้งก็ขัดแย้ง โจทย์เร่งด่วนที่สุดทางการเมืองของประเทศ คือ ต้องทำให้เราหลุดพ้นจากตรงนี้เสียก่อน"

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

เส้นทางสู่การเลือกตั้งยังดูทอดยาวและเลือนรางเกินกว่าคาดเดาความชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นได้ ในวันที่  “สัญญาณ” จากผู้มีอำนาจสูงสุดไม่อาจให้ความมั่นใจ แถมยังออกกฎกติกาที่พร้อมเปิดช่องให้เกิดการขยับโรดแมปออกไปได้เรื่อยๆ จนกลายเป็นปัญหาสำหรับคนที่ต้องการการเลือกตั้ง

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์พิเศษมองทิศทางการเมืองนับจากนี้ว่า เต็มไปด้วยความไม่ชัดเจน จากวันที่ 6 เม.ย. 2560 ได้รัฐธรรมนูญฉบับแรก กระบวนการทางการเมืองควรจะเดินไปตามนั้น ทั้งการออกกฎหมายลูก 240 วัน เสร็จแล้วจัดการเลือกตั้งใน 150 วัน มีคนคำนวณคร่าวๆ น่าเลือกตั้งได้ครึ่งปีนี้ แต่หลังได้ พ.ร.ป.พรรคการเมืองในเดือน ต.ค. 2560 พรรคการเมืองไม่สามารถดำเนินกิจกรรมได้ ทำให้ไม่สามารถเดินตามกฎหมายพรรคการเมืองใหม่

ปลายปี 2560 คสช.เปลี่ยนกติกา ออกคำสั่งฉบับที่ 53 จากเดิมพรรคการเมืองมองเห็นว่าต้องทำอะไรบ้าง กลายเหมือนต้องมาเริ่มต้นใหม่หมด ให้พรรคการเมืองเดิมเริ่มขยับได้ เม.ย.พรรคใหม่เริ่ม  มี.ค. ต่อมามีการบอกให้บังคับใช้กฎหมายเลือกตั้ง สส. เลื่อนออกไป 90 วัน ทำให้อารมณ์ของคนทั่วไปรู้สึกว่าไม่มีอะไรแน่นอน และยังรู้สึกว่าเปลี่ยนได้อีก โดยผู้มีอำนาจไม่กล้ายืนยันว่าจะไม่เปลี่ยนอีก

ปัญหาที่สอง คือคนมองว่าให้เวลา คสช.เดินตามโรดแมป เพื่อทำให้บ้านเมืองเรียบร้อยทั้งปฏิรูป ปรองดอง หรืออะไรก็ตาม เพื่อให้การเลือกตั้งไม่นำไปสู่ที่เดิม แต่ถึงวันนี้คนก็ห่วงว่าเลือกตั้งแล้วจะกลับไปขัดแย้งเหมือนเดิม เพราะไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมชัดเจน และเริ่มเป็นปมความขัดแย้งที่จะมีคนกลุ่มหนึ่งไม่ยอมให้เลื่อนเลือกตั้งไปเรื่อยๆ 

“ตอนนี้อยู่ในภาวะความไม่แน่นอน เลือกตั้งก็ขัดแย้ง ไม่เลือกตั้งก็ขัดแย้ง โจทย์เร่งด่วนที่สุดทางการเมืองของประเทศ คือ ต้องทำให้เราหลุดพ้นจากตรงนี้เสียก่อน ด้วยการสร้างความเชื่อมั่นว่าประเทศจะเดินไปอย่างไร โดยเฉพาะหัวหน้า คสช. ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จตามมาตรา 44 อยู่ในฐานะที่จะยืนยันหรือไม่ยืนยันอะไร”

อภิสิทธิ์ ระบุว่า การไปบอกประชาชนว่าไม่ก้าวล่วงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เรื่องเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้งออกไป 90 วัน นั้นเป็นคำพูดขัดแย้งกับสิ่งที่เคยทำ เพราะถ้าไม่ก้าวล่วงแล้วแก้ ออกคำสั่ง คสช.ไปแก้ไขเนื้อหา พ.ร.ป. พรรคการเมืองทำไม หัวหน้า คสช.เป็นคนเดียวที่จะให้ความชัดเจน และจะทำให้เกิดความโปร่งใส

อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณบอกว่าจะเลือกตั้ง ก.พ. 2562 ถ้ามีเหตุผลที่ดีเป็นประโยชน์กับส่วนรวม น่าเชื่อถือ สังคมก็รับได้ เพราะสังคมรอมานานขนาดนี้ แต่ถ้าเกิดมีแต่ความไม่แน่นอนไปเรื่อยๆ

เมื่อรวมกับสภาพความอึดที่มาจาก 1.สภาพเศรษฐกิจ 2.ไม่รู้ว่าจะจบที่ไหน 3.สงสัยเหตุผลที่แท้จริงว่าไม่ใช่เหตุผลที่เกี่ยวกับส่วนรวม แต่เป็นประโยชน์ผู้มีอำนาจ เราจะเข้าสู่ภาวะสุ่มเสี่ยงความขัดแย้งทางการเมือง ตอนนี้ยังไม่ต้องคิดไปถึงระบบใหม่ที่ออกแบบมา แต่ต้องแก้ปัญหาตรงนี้ให้ได้ก่อน

อีกทั้งตัวระบบก็ไปใส่ให้ สว. 250 คน มาหลังเลือกตั้งที่จะทำให้มีโอกาสเกิดความขัดแย้งรูปแบบหนึ่งได้อีก ดังนั้น หัวหน้า คสช.ต้องโปร่งใส ชัดเจนว่าต้องการเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไปอย่างไร เพราะความแน่นอน น่าเชื่อถือ ตรงนี้สำคัญสำหรับประเทศเศรษฐกิจ และสำคัญสำหรับการไว้เนื้อเชื่อใจในระบบหลังการเลือกตั้งด้วย วันนี้มันกำลังเข้าไปสู่จุดวิกฤตความเชื่อมั่น ถ้าไม่กอบกู้ภาวะตรงนี้ขึ้นมาก็จะไปซ้ำเติมเรื่องอื่นได้

โจทย์ใหญ่ "คสช." ต้องแก้ปัญหาความไม่แน่นอน

อภิสิทธิ์ มองว่า เมื่อภาวะเศรษฐกิจเวลานี้โดยรวมยังดี คนเลยยังไม่รู้สึกเท่าไร หากมองเวลานี้กับการเตรียมคิกออฟโครงการไทยนิยมก็ไม่ใช่เรื่องง่าย หากไม่มีการเปลี่ยนวิธีคิด แถมยังมีภาวะการเมืองที่ไม่ปกติเป็นตัวฉุด ความหมายคือ 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลนี้ใช้งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่น่าจะน้อยกว่ารัฐบาลอื่นๆ แต่วิธีการที่ทำลงไปแต่ละครั้งได้ผลค่อนข้างน้อย

เริ่มตั้งแต่ทำโครงการตำบลละ 5 ล้านบาท มาถึงบัตรสวัสดิการสังคม ซึ่งส่วนตัววิจารณ์มาตลอดว่าไม่เข้าใจวิธีคิดเวลาที่เราเอาเงินไปช่วยคนมีรายได้น้อยต้องไม่หวังแค่เงิน 200-300 บาท ที่ยื่นให้เขา แต่ต้องคาดหวังว่าเงินดังกล่าวจะไปหมุนเวียนในการค้าขาย แต่รัฐบาลนี้ไปบังคับให้ใช้เงินกับร้านธงฟ้าประชารัฐ ซึ่งตำบลหนึ่งมี 1-2 ร้าน เท่ากับเงินที่ลงไปไม่หมุนออกมา ขณะที่ร้านค้าเล็กๆ ตลาดสด ในพื้นที่ได้รับผลกระทบไปด้วย ซึ่งไม่แก้ไขในเฟส 2 ก็ยังคิดในกรอบเดิม

“การกระตุ้นรอบใหม่จะใช้ชื่ออะไรก็ตาม การจะแก้ปัญหาตรงนี้ได้หรือไม่อยู่ที่ปัจจัยทั้งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ยังไม่สามารถกลับสู่ภาวะปกติได้ สอง นักลงทุน ถ้ามีความไม่แน่นอนแม้อยากลงทุนก็ยังไม่เข้ามาเต็มที่ สาม ระบบแบบนี้เสียงสะท้อนจากผลกระทบการปฏิบัติการมาตรการต่างๆ จะกลับมาช้ากว่า เพราะไม่มีระบบผู้แทน แถมผู้แทนเก่าพูดก็ถูกยัดเยียดว่าเป็นเรื่องการเมืองมากกว่าสะท้อนข้อเท็จจริง ผมเป็นห่วงว่ามันไม่ง่ายที่จะพลิกตัวเศรษฐกิจขึ้นมา”

ถามว่าการยื้อเลือกตั้งออกไปหวังผลอะไร และจะส่งผลอะไรบ้าง อภิสิทธิ์ กล่าวว่า เขาคงคิดว่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ทำให้เชื่อว่าเศรษฐกิจมหภาคดีขึ้น และตัวเลขน่าจะดีขึ้น แต่ขณะนี้เป็นปรากฏการณ์ทั่วโลกว่าตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคไม่สะท้อนความเป็นอยู่จริงของคนทั่วไป เพราะความเหลื่อมล้ำสูงมาก ขณะที่คนบ่นว่าเศรษฐกิจไม่ดี แต่ทำไมผลประกอบการในตลาดหลักทรัพย์มันดีมาก  เฉลี่ยตัวเลขภาพรวมดีขึ้น แต่อยู่ที่ใครเท่านั้น ประเด็นแบบนี้ไม่ได้รับการดูแลแก้ไขจริงจัง

สำหรับเรื่องการปฏิรูปเท่าที่ทราบตอนนี้ เรื่องตำรวจหรือการศึกษาหรือสื่อมวลชนมีความพยายามผลักดันให้แก้ไขบางสิ่งบางอย่าง เห็นความเปลี่ยนแปลง หลายเรื่องเป็นการแก้ไขได้ดีขึ้น แต่ถามว่าปฏิรูปไหมคงจะพูดอย่างนั้นไม่ได้ เพราะปัญหาการปฏิรูป 3-4 ปีที่ผ่านมา ผู้มีอำนาจที่แท้จริง คสช. ครม. รวมถึง สนช. ไม่เคยกำหนดหลักการให้ชัด เช่น จะกระจายอำนาจไปสู่ประชาชนมากขึ้น  ปฏิรูปแต่ละด้านจึงหลากหลายและไม่สอดคล้อง ไม่มีหลักประกัน ไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ เพราะไม่มีการดึงประชาชนมาร่วมแท้จริง

“สิ่งหนึ่งที่ประชาชนคาดหวังคือเรื่องการปฏิรูปการเมือง ถ้ากำลังจะไม่เอาการเมืองแบบเดิม อย่างน้อยคนที่อยู่ในอำนาจขณะนี้ก็ต้องฉายภาพการเมืองแบบใหม่ให้คุณเห็น ไม่มีความทุจริต มีความโปร่งใส  ตรวจสอบได้ มีการถ่วงดุล ขจัดผลประโยชน์ทับซ้อน หรือการเสียสละ คำถามคือวันนี้การเมืองสะท้อนสิ่งเหล่านี้ไหม ถ้าคุณบอกว่ามาเป็นกรรมการวางระบบไม่ขอปฏิบัติเอง วันนี้ไม่แน่ว่าคุณจะอยู่ชั่วคราวหรือเปล่า ยกตัวอย่างหัวใจของรัฐธรรมนูญ 2560 การปราบปรามทุจริต หัวใจที่เป็นองค์กรหลักเกือบทุกเรื่องคือ ป.ป.ช. แต่การเมืองปัจจุบันสถานะ ป.ป.ช.ดีขึ้นหรือเสื่อมลง จะอธิบายยังไง”

สถานการณ์เวลานี้อยากให้ คสช.ต้องมองที่ระบบก่อน ต้องผดุงระบบให้ได้ อย่างการไปฝากความหวังไว้กับ สว. 250 คน ที่ไม่รู้ว่าจะถูกมองว่ามีความเป็นกลาง มีคุณธรรม จริยธรรม ดีกว่านักการเมืองไหม ซึ่งไม่มีหลักประกันอะไรเลย ขณะที่สภาพองค์กรอิสระ อย่าง ป.ป.ช. เผชิญอยู่ก็ยิ่งทำให้อ่อนแอลงไป เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นคนตั้งใจดี เจตนาดี แต่อาจมองในเชิงระบบน้อยไป

“เรื่องการตรวจสอบการทุจริต ไม่ต้องวัดกับเวลาไปตรวจสอบฝ่ายอื่น เพราะถ้าสอบฝ่ายอื่นเข้มกันทุกยุค ต้องวัดตอนเกิดเรื่องกับฝ่ายเดียวกัน คุณมีวิธีการยังไง เรื่องนาฬิกาพูดไปเยอะแล้ว ไม่ขอพูดซ้ำ  แต่จะบอกว่าถ้า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มั่นใจในสิ่งที่ทำก็ให้ออกมาอธิบายให้เป็นระบบ ตอนนี้ข้อมูลที่ออกมามีแต่มาจากแหล่งข่าว เรื่องนี้ไม่สลับซ้บซ้อน มีนาฬิกากี่เรือน ยืมจากใคร เมื่อไหร่ เปิดเผยออกมา สังคมจะพิจารณา แต่ไม่เคยมีคำชี้แจงแบบนี้”

โจทย์ใหญ่ "คสช." ต้องแก้ปัญหาความไม่แน่นอน

ถามถึงเรื่อง พ.ร.ป.พรรคการเมืองจะส่งผลต่ออนาคตของพรรคการเมืองอย่างไร หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ยากที่จะทำให้พรรคการเมืองแข็งแรง ยกตัวอย่างขณะนี้พรรคการเมืองเก่าที่เคยมีสมาชิกหลักแสน หลักล้าน และไปบอกให้สมาชิกทำหนังสือถึงหัวหน้าพรรค แสดงหลักฐาน
มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม พร้อมชำระเงิน ย่อมทำให้สมาชิกจำนวนมากไม่ได้เป็นสมาชิกทั้งที่เขายังสมัครใจเป็นสมาชิก

นอกจากนี้ หลักการปฏิรูปที่อยากให้สมาชิกมีส่วนในกระบวนการของพรรค ทั้งกำหนดนโยบาย คัดเลือกผู้สมัครระบบไพรมารี ถามว่าให้คน 2 ล้านคน มาทำไพรมารี กับ 1 หมื่นคน มาทำไพรมารีอะไรคือการปฏิรูป ยิ่งคนเหลือน้อยเท่าไร ยิ่งทำให้ กก.บห.คุมได้ อย่างพรรคใหม่ที่ควรจะมีเวลาไปสร้างบ้านสมาชิก แต่สุดท้ายเมื่อเวลาจำกัดอาจจะเอาแค่ 4 สาขา จังหวัดละ 100 คน ตามที่กฎหมายกำหนด หลับตานึกภาพ ทำไพรมารี
คนชนะได้คะแนนหลักสิบแล้วจะเป็นการปฏิรูปไหม แทนที่จะเป็นจุดเริ่มต้นต่อไป อาจทำให้คนไม่ศรัทธาในระบบแบบนี้

ประเมินว่าระบบใหม่จะทำให้การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวายหรือไม่ อภิสิทธิ์มองว่า การเลือกตั้งยังไงต้องเกิดขึ้น แต่คนที่หนักหน่อยคือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จะพิจารณาเรื่องร้องเรียน แต่ความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นอาจเกิดหลังเลือกตั้งในกรณีที่ 250 สว. ไปทำอะไรที่ฝ่าฝืนเจตนารมณ์ของประชาชาชนที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งวุ่นวาย 

“เบื้องต้นถ้าอำนาจประชาชนใช้ดุลพินิจสนับสนุนใครถ้าเลือกตั้งเสร็จได้ตามนั้นเดินต่อได้ แต่ถ้าคนได้อำนาจมาจากประชาชนย้อนกลับไปทำสิ่งเลวร้ายก็กลับไปเหมือนเดิม หรือ 250 สว. ไปทำอะไรที่ฝืนเจตนารมณ์ประชาชนจะกลายเป็นความขัดแย้ง เพราะฉะนั้นทางเดียวที่เดินได้คือทำตามสิ่งที่ประชาชนแสดงออก เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงกลับมาขัดแย้งอีก”

ถามว่า คสช.จะตั้งพรรคนอมินี พรรคทหาร ลงเลือกตั้งครั้งนี้ไหม อภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยังไงก็มีพรรคการเมืองที่จะเกิดขึ้นโดยวัตถุประสงค์ทางแจ้งและทางลับ ว่าตั้งขึ้นและลงสมัครรับเลือกตั้งโดยจะสนับสนุน คสช. ยังไงก็มี แต่ใครจะเป็นรัฐบาล ขึ้นกับใครรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้  ต้องได้เป็นรัฐบาล หากมีธรรมาภิบาลก็เดินได้