posttoday

สัตว์ป่าลดฮวบ-สูญพันธุ์ มนุษย์ล่าเพื่อการค้า

10 กุมภาพันธ์ 2561

"ในสมัยก่อนมนุษย์ล่าสัตว์ป่าเพื่อเป็นอาหารแต่ในปัจจุบันมนุษย์ล่าสัตว์เพื่อเกมกีฬา และเพื่อการค้าทำให้จำนวนสัตว์ป่าลดลงอย่างมากและใกล้สูญพันธุ์"

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

"ในสมัยก่อนมนุษย์ล่าสัตว์ป่าเพื่อเป็นอาหารแต่ในปัจจุบันมนุษย์ล่าสัตว์เพื่อเกมกีฬา และเพื่อการค้าทำให้จำนวนสัตว์ป่าลดลงอย่างมากและใกล้สูญพันธุ์  สำหรับกีฬาล่าสัตว์ป่าที่นิยมกันในประเทศไทยส่วนใหญ่มาจากคนกลุ่มเล็กๆ ที่มีฐานะร่ำรวยและมักจะชอบสะสมอาวุธปืนซึ่งไม่ได้ใช้ซ้อมยิงในสนามยิงปืนอย่างเดียว แต่จะออกไปทดลองใช้ในป่าหรือพื้นที่ห่างไกล"

ธีรภัทร ประยูรสิทธิ ผู้คลุกคลีอยู่กับสัตว์ป่าและแวดวงป่าไม้ของไทยมานาน ในฐานะรองประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และที่ปรึกษาคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  ให้ทัศนะข้างต้นพลางว่า สมัยก่อนสถานการณ์ล่าสัตว์ถือว่ารุนแรงมากกว่าปัจจุบัน โดยเฉพาะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สมัยนี้ถ้าเป็นการล่าสัตว์ขนาดเล็กตามหัวไร่ปลายนาชายป่าใกล้หมู่บ้านเพื่อการยังชีพอาจมีอยู่บ้าง

"ปัจจุบันการล่าสัตว์ป่าเป็นกีฬาไม่มีเหมือนอดีตแล้ว อย่างในกรณีที่เกิดขึ้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และบางพื้นที่ก็ยังน่าเป็นห่วงว่า ทำไมยังมีเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นอีก มีการรณรงค์เรื่องการอนุรักษ์สัตว์ป่ามาต่อเนื่อง แทนที่คนจะใช้ปืนไปยิงซ้อมกันในสนามยิงปืน แต่กลับมาซ้อมยิงกับสิ่งมีชีวิตอย่างสัตว์ป่า ซึ่งตรงนี้น่าเป็นห่วงมากในความคิดของคนกลุ่มนี้"

เขากล่าวว่า ในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีสัตว์ป่าจำนวนมากถูกล่า แต่ด้วยจำนวนสัตว์ป่าที่มากและกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่ายังไม่มี ต่อมาภายหลังจากปี 2503 เป็นต้นมามี พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2503 และมี พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2505 ทำให้มีการควบคุมดูแลพื้นที่และควบคุมการล่าสัตว์ป่าทำให้การล่าแบบอิสรเสรีลดลง

"ในอดีตประเทศไทยมีกฎหมายที่อนุญาตให้ล่าสัตว์ได้ ซึ่งแบ่งสัตว์ป่าเป็นสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง ซึ่งยังแยกประเภทสัตว์ป่าคุ้มครองออกเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 และ 2 อีก โดยยังอนุญาตให้ล่าสัตว์ป่าบางชนิดอยู่ แต่ก็ไม่มีใครมาขออนุญาตล่า ซึ่งในปัจจุบันกฎหมายนี้ได้ปรับเปลี่ยนห้ามมีการล่าและไม่มีการแยกประเภทสัตว์ป่าคุ้มครองแล้ว ตั้งแต่ปี 2535 ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า" ธีรภัทร ย้อนการแก้ไขกฎหมาย

ในประเด็นเรื่องความเชื่อการล่าสัตว์ป่า ธีรภัทร อธิบายว่า ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนมีเงินที่มีค่านิยมการใช้ชีวิตกลางแจ้ง ชอบสะสมอาวุธแล้วต้องการทดลองปืน ทั้งที่คนส่วนใหญ่ยิงอยู่ในสนามยิงปืน แต่มีบางคนบางกลุ่มที่ต้องการใช้โอกาสบางโอกาสมาทดลอง ยิงปืนโดยลักลอบยิงและล่าสัตว์ป่าจำนวนมากในป่าธรรมชาติ

สำหรับสถานการณ์การล่าสัตว์ป่าช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ถือว่าลดลงมาก แต่ก็ยังมีการล่าอยู่และเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ยังดำเนินการจับกุมอยู่เรื่อยๆ สิ่งสำคัญยังมีกลุ่มคนที่ต้องการทดลองปืนยังมีอยู่ ถ้าหากกฎหมายบังคับใช้เข้มงวดมีประสิทธิภาพ ปัญหาเหล่านี้ก็จะลดลง

"การล่าสัตว์ป่าในประเทศไทย คนมีฐานะไม่ควรไปล่าแล้ว แต่ก็ยังไปทำกันอยู่ เพราะยังอยากใช้ชีวิตกลางแจ้งต้องการทดลองปืนทดลองความกล้าของตัวเอง ล่าเพื่อความสนุก คึกคะนอง จุดประสงค์ต่างจากกลุ่มคนยากจนที่ไม่มีฐานะอย่างชาวบ้านทั่วไปที่มีการล่าสัตว์ป่าเพื่อประทังชีวิต"

ธีรภัทร สะท้อนมุมคิดว่า เรื่องความสัมพันธ์ของคน ป่ากับสัตว์ป่านั้นมีความสำคัญ  เพราะว่าธรรมชาติมันต้องมีป่าไม้ คน และสัตว์ป่าอยู่ร่วมกัน การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของวงจรธรรมชาติทำให้ระบบนิเวศมีความสมบูรณ์ ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อมนุษย์ทุกคน

ดังนั้น ในฐานะคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้นำเรื่องการอนุรักษ์สัตว์ป่าบรรจุไว้ในแผนปฏิรูปประเทศ และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยครอบคลุมการหยุดยั้งทำลายป่า ลดการล่าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย และการลดความขัดแย้งการใช้พื้นที่ระหว่างคนกับสัตว์ป่า เพราะเราต้องอยู่กับสิ่งมีชีวิตอื่นบนโลกนี้ตลอดชีวิต ที่สำคัญการอนุรักษ์สัตว์ป่าไม่ใช่ภารกิจของเจ้าหน้าที่เท่านั้น แต่เป็นภารกิจของพวกเราทุกคน เพราะทุกชีวิตคือผู้ร่วมชะตากรรมบนโลกใบนี้

ด้าน บันทม สมสุวรรณ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ (อช.) ภูซาง จ.พะเยา กล่าวว่า กรณีการทำงานของนายวิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก ที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังในการพิทักษ์รักษาสัตว์ป่า ทางด้านของเจ้าหน้าที่เพื่อนร่วมงานในหลายหน่วยงานต่างได้ส่งกำลังใจให้ต่อสู้เพื่อความเป็น ธรรมอย่างกล้าหาญเพราะกว่าที่เจ้าหน้าที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ กับกลุ่ม นักวิชาการ หรืออีกหลายภาคส่วนที่ ร่วมกันดูแลเพื่อให้สัตว์ป่าหวงห้าม เหล่านี้มีการขยายพันธุ์ได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย และเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาอย่างมาก ตรงกันข้ามกับผู้ล่าที่ใช้เวลาเพียงเล็กน้อยที่ทำให้สัตว์ป่าต้องจบชีวิตลงอย่างน่าเสียดาย นำมาซึ่งความสูญเสียทางทรัพยากรสัตว์ป่า ความรู้ทางวิชาการที่จะนำไปเผยแพร่ให้แก่ผู้ที่ต้องการศึกษาอีกมากมาย

บันทม กล่าวว่า วิถีชีวิตของนักพิทักษ์ป่า พิทักษ์ชีวิตสัตว์ป่า ต้องผจญกับความเสี่ยงภัยอันตรายทั้งจากสภาพภูมิประเทศ การปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง คำร้องขอทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ถือเป็นเรื่องปกติของผู้ปฏิบัติหน้าที่ แต่สิ่งสำคัญคือการสร้างจิตสำนึกให้หวงแหน รักษาป่าไม้ สัตว์ป่า อยากให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า ซึ่งนับวันยิ่งมีน้อยลง หากไม่ดูแลรักษาไว้ สัตว์ป่าจะสูญพันธุ์ ดังนั้นเมื่อทุกภาคส่วนของสังคมช่วยกันตระหนักถึงความสำคัญของป่าไม้ สัตว์ป่า เจ้าหน้าที่ก็มีความภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่อย่างภาคภูมิใจที่ได้ร่วมกันปกป้องและพิทักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่าอย่างเต็มกำลัง